ชะตากรรมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอยู่ในมือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวาระเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 เป็นที่รู้กันว่ามีความเห็นออกไป 3 ทางคือ นับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร หรือนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ หรือนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง
ส่วนตัวผมเคยเขียนไว้แล้วว่ามีความเห็นว่า อายุนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ตามมาตรา 158 นั้นน่าจะนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร ผมจึงฟันธงไปว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้แค่ถึงวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ส่วนจะผิดหรือถูกก็ต้องรอตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา เพราะมีแง่มุมทางกฎหมายต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บันทึกไว้ในหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ตอนหนึ่งว่า...
“การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
แม้มุมมองทางกฎหมายจะมีทางออก 3 ทาง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ อนาคตของพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไรนับจากนี้ ทางออกเดียวที่ไม่เป็นปัญหาคือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีตามมาตรา 258 ให้เริ่มนับการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์หลังการเลือกตั้งนั่นเท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้อีก 1 สมัยหากพ้นจากตำแหน่งในครั้งนี้
ส่วนหากผ่านศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปตามนี้ ประเด็นว่าพล.อ.ประยุทธ์จะยังอยู่ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐหรือไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาตินั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ที่มีปัญหาสำหรับพรรคพลังประชารัฐแน่ๆ คือ ถ้าการนับตำแหน่ง 8 ปีนับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกหลังการทำรัฐประหาร ก็อยู่ได้แค่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งหากผลออกมาเป็นอย่างนี้ก็ต้องดูว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะหาทางออกอย่างไร เพราะรายชื่อผู้ได้รับเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีของฝั่งนี้ที่ยังมีคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่มีหลายกระแสออกมาบอกว่า อาจจะเป็นคนนอกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272
มาตรา 272 ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาฯ
ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภาฯ รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาฯ เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาฯ ให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้
ตามวรรค 2 หากเลือกจากคนที่มีรายชื่อไม่ได้ให้เสียงกึ่งหนึ่งเสนอคนนอก แต่รัฐสภาต้องมีมติรับรองไม่น้อยกว่าสองในสาม ในปัจจุบันมี ส.ส. 477 คน ส.ว. 250 คน ดังนั้นสองในสามของรัฐสภาก็เท่ากับ 484 คน จะเห็นว่า 484 คนนั้นได้มาไม่ยากเพราะ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลตอนนี้กับ ส.ว.ก็น่าจะเกินพออยู่แล้ว
ส่วนนายกฯ คนนอกจะเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างที่เขาร่ำลือกันหรือไม่ก็ต้องดูกันต่อไป
แต่หากศาลวินิจฉัยว่าการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าควรเริ่มนับแต่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรา 158 เพิ่งประกาศใช้ นั่นหมายความว่าเขาจะครบวาระ 8 ปีในวันที่ 5 เมษายน 2568 คนที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้คือ ศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแนวทางนี้ก็เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังได้อยู่ต่อและหากรัฐบาลชุดนี้อยู่ไปจนครบสมัยแล้วมีการเลือกตั้งครั้งหน้า การอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์จะยังเป็นได้อีกประมาณ 2 ปีซึ่งตรงกับที่พล.อ.ประวิตรพลั้งปากออกมาเมื่อ 2-3 วันมานี้ คำถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐจะยังเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกไหม หากมีเวลาเป็นนายกรัฐมนตรีเหลืออยู่แค่นี้
จะเห็นได้ว่า อนาคตของพรรคพลังประชารัฐนั้นฝากไว้กับพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น ถ้าไม่มีพล.อ.ประยุทธ์แล้วพรรคการเมืองพรรคนี้ แม้จะฝืนไปต่อก็ไม่น่าจะไปต่อได้ไกล เพราะถ้าพรรคนี้ชูพล.อ.ประวิตรก็ไม่น่าจะได้รับความนิยมมากนักแม้จากคนในฝั่งอนุรักษนิยมก็ตาม
เราคงจะรู้กันอยู่แล้วนะครับว่า พรรคพลังประชารัฐนั้นตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช.เพื่อผลักดันให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 1 สมัยหลังการเลือกตั้ง แต่ถ้าพ้นจากพล.อ.ประยุทธ์แล้วก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าพรรคพลังประชารัฐจะหาใครที่มีคุณสมบัติที่คนยอมรับมาทดแทนได้
แม้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเขียนมาเพื่อพวกเราตามที่คนในพรรคพลังประชารัฐพูดออกมา โดยให้ 250 ส.ว.อยู่ในวาระ 5 ปีเท่ากับว่าสามารถร่วมยกมือเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ยังจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรไว้ได้อีกไหมในท่ามกลางความนิยมที่ลดลงอย่างมาก และสังคมคนกลางๆ เริ่มเบื่อหน่ายรัฐบาลประยุทธ์
ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐนั้นกวาดต้อนอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเดิมเข้ามาเป็นสมาชิกจำนวนมาก ว่ากันว่าการกวาดต้อนเข้าพรรคนั้นมีการใช้ทั้งพระเดชพระคุณจากฝั่ง คสช.ก็มีคำถามนะครับว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีใครที่ยังอยู่กับพรรคหรือไม่ เพราะวันนี้ความนิยมของพรรคพลังประชารัฐลดลงแล้ว แม้สมมติว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังไปต่อได้ความนิยมก็ไม่เหมือนเดิมเช่นเดียวกัน
ชะตากรรมของพล.อ.ประยุทธ์ที่ฝากไว้กับศาลรัฐธรรมนูญจึงมีผลต่ออนาคตของพรรคพลังประชารัฐอย่างไม่ต้องสงสัยและเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเฉพาะกิจเหมือนกับพรรคที่ทหารตั้งขึ้นมาในอดีตหลายพรรคหลังการยึดอำนาจ
วันนี้พรรคพลังประชารัฐกำลังวุ่นวายกับการหาสูตรเลือกตั้งว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 อย่างไม่สนหลักการและความถูกต้องแต่ไม่ว่าจะออกทางไหน ปัจจัยสำคัญที่สุดของพรรคพลังประชารัฐอยู่ที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อหรือไม่ ถ้าไม่แล้วใครจะมาเป็นตัวแทนของพล.อ.ประยุทธ์
หรือว่าสุดท้ายแล้วพรรคพลังประชารัฐจะล่มสลายไปพร้อมกับพล.อ.ประยุทธ์
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan