ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย! พราหมณ์ คฤหบดี ที่อุปัฏฐากท่านทั้งหลาย ด้วยจีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย และเครื่องใช้ในการรักษาโรค นับว่าเป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ท่านทั้งหลายที่แสดงธรรมอันดีงามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมอรรถ และพยัญชนะประกาศพรหมจรรย์ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงแก่พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้น ก็นับว่าเป็นผู้อุปการะมาก นี้แหละภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่ประพฤติโดยอาศัยกันและกัน เพื่อถอนกิเลสอันเปรียบเหมือนห้วงน้ำ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นไปโดยชอบ นี่คือพุทธพจน์ ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 อิติวุตตกะ
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ชัดเจนว่าพระพุทธองค์ได้ทรงเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับวัด จะต้องเกิดขึ้นและดำรงอยู่คู่กัน เนื่องจากพระภิกษุ ซึ่งเป็นนักบวชในพุทธศาสนา และเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4 อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา
ดังนั้น พระภิกษุจึงเป็นทายาทในการสืบทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สำคัญที่สุดใน 4 ประเภท จึงควรได้รับการอุปัฏฐากจากพุทธบริษัทซึ่งเป็นคฤหัสถ์ ทั้งนี้เนื่องจากว่า นักบวชในพุทธศาสนามีชีวิต เนื่องด้วยผู้อื่นคือไม่ทำมาหากินโดยการประกอบกิจการเฉกเช่นคฤหัสถ์
แต่ในฐานะนักบวชผู้สืบทอดคำสอน จึงต้องมีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัย และนำมาปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ในขณะเดียวกัน ก็เทศนาสั่งสอนคฤหัสถ์ให้เรียนรู้และเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ลด ละกิเลส และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขที่ปุถุชนจะพึงได้รับ
จากการที่คฤหัสถ์และพระภิกษุหรือพูดรวมๆ ว่า บ้านกับวัด ต้องอิงอาศัยกันดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ชุมชนชาวพุทธเกิดขึ้นที่ไหน จะต้องมีวัดตามที่นั่น โดยเฉพาะในสังคมชนบทซึ่งเป็นสังคมปฐมภูมิ
แต่ในปัจจุบันสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมเมืองได้เปลี่ยนไปเป็นสังคมทุติยภูมิ บ้านกับวัดมีระยะห่างออกไป กล่าวคือ ผู้คนในสังคมเมืองมิได้ใกล้ชิดกับวัด เฉกเช่นในสังคมปฐมภูมิ ดังนั้น จึงเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างวัดกับบ้านเกิดขึ้นถึงขั้นกลายเป็นข่าวบ่อยๆ
ล่าสุดได้มีหญิงสาวซึ่งอยู่อาศัยในคอนโดฯ ใกล้วัดได้ร้องเรียนสำนักพุทธศาสนาว่า เสียงพระสวดในงานพิธีทำความรำคาญรบกวนเวลาพักผ่อน และได้ลงข่าวทางโซเชียลจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านในชุมชนรอบวัด ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาวัดถึงขั้นรวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้ร้องเรียนขอโทษ และต่อมาได้มีการไกล่เกลี่ยจนเป็นที่เข้าใจ และผู้ร้องเรียนออกมาขอโทษแล้วจึงทำให้เรื่องนี้จบลง
แต่จากเรื่องนี้น่าจะนำมาเป็นอุทาหรณ์ว่าต่อไปหากมีการสร้างคอนโดฯ ใกล้วัด ควรจะได้ศึกษาพฤติกรรมทางสังคมให้ดีว่าวัดซึ่งอยู่ใกล้คอนโดฯ มีกิจกรรมใดจะเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตของคอนโดฯ หรือถ้ามีผู้สร้างคอนโดฯ ขายควรจะแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ และพิจารณาว่าจะยอมรับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องร้องเรียนภายหลัง ดังเรื่องที่ได้เกิดขึ้น
ทำไมวัดและบ้านจึงไม่ปรับตัวเข้าหากัน ตามนัยแห่งคำสอนที่อยากมาเสนอข้างต้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. วัดเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นศูนย์รวมศรัทธาของผู้คนในชุมชน ดังนั้นกิจกรรมใดๆ ที่วัดจัดทำขึ้นจึงไม่เป็นที่ขัดหูขัดตาและขัดต่อความรู้สึกของผู้คนในชุมชน
2. ส่วนผู้ที่มาอยู่ที่คอนโดฯ ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และที่สำคัญเหนืออื่นใด ผู้ที่มาอยู่ภายหลังไม่เรียนรู้และทำความเข้าใจความเป็นมาของชุมชน จึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของตน
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น ถ้านำคำสอนเข้ามาเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันคือ ชาวบ้านให้ทามพระให้ธรรมแลกเปลี่ยนกัน ก็จะอยู่ร่วมกันได้ไม่มีใครเดือดร้อน