xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๒๑ : การเปลี่ยนผ่านของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ๒๕๖๐

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๑ ได้ประกาศใช้เมื่อต้นรัชกาลที่ ๙ และใช้มายาวนานเกือบ ๗๐ ปี จนต้นรัชกาลที่ ๑๐ จึงได้มีการตรา พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.๒๕๖๐ ขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุผลหลักสองประการ


ประการแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๑๕ มีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างราชการในพระองค์ (Royal affair) และราชการแผ่นดิน (Government affair) ตลอดจนมีการจัดตั้งหน่วยราชการในพระองค์ ตามที่มีการตราพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.๒๕๖๐ พระราชกฤษฎีกา จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคล ของราชการในพระองค์ พ.ศ.๒๕๖๐ ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วย จะได้เป็นการสอดคล้องกันกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์

ประการที่สอง โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสม ตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี

สาระสำคัญใน พ.ร.บ. ฉบับนี้คือ

ประการแรก แบ่งทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ โดยรวมทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้ามารวมกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อันเนื่องจากทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินนิยามที่ไม่ชัดเจน ใช้คำว่าเช่น พระราชวัง จึงแยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ยาก นอกจากนี้พระราชวังเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระบรมราชจักรีวงศ์


แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวสามารถพระราชทานโฉนดที่ดินของพระราชวังให้กับหน่วยราชการได้ อันได้แก่ บางส่วนของพระราชวังดุสิตพระราชทานโฉนดที่ดินให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยสวนสุนันทา พระราชวังสนามจันทร์พระราชทานให้มหาวิทยาลัยศิลปากร พระรามราชนิเวศ พระราชทานให้กองทัพบก พระราชนิเวศมฤคทายวันพระราชทานให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพระราชวังจันทรเกษม พระราชทานให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

ประการที่สอง หลักการสำคัญคือ The king can do no wrong. ในการจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หรือทรัพย์สินส่วนพระองค์ ห้ามระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใดอันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ใช้คำว่า ผู้จัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และผู้จัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ แทน หรือให้ใช้คำว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนแล้วแต่กรณี

ประการที่สาม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่น ซึ่งทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และทรงแต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รายได้ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สามารถนำไปลงทุนหรือนำไปจ่ายได้ตามที่ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย

ประการที่สี่ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องเสียภาษีหรือยกเว้นภาษีแล้วแต่กฎหมายนั้น ๆ

ประการที่ห้า เปลี่ยนการถือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในนามของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นในพระปรมาภิไธย ด้วยเหตุผลดังนี้

๕.๑ เพื่อให้พระราชทานได้ เช่น พระราชทานหุ้นให้วชิราวุธวิทยาลัย พระราชทานที่ดินให้หน่วยราชการต่างๆ
๕.๒ เพื่อให้ทรงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับประชาชน
๕.๓ เพื่อให้กำกับดูแลธรรมาภิบาลได้ดีมากขึ้น
๕.๔ ทำให้ทรงจัดการพระราชทรัพย์ได้สะดวกและเป็นประโยชน์ได้ง่ายขึ้น
๕.๕ ทำให้ทรงได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมในการดูแลพระราชมรดกแห่งพระราชวงศ์จักรี และ
๕.๖ ทำให้ทรงงานและทรงใช้พระราชทรัพย์ในการทรงงานเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน สืบสาน ต่อยอด พระราชดำริแห่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

ความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๔๙๑ กับ พ.ร.บ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๕๖๐ มีดังนี้




การปรับแก้/ปรับปรุงกฎหมายเก่าที่ใช้มาเนิ่นนานเกือบ ๗๐ ปีก็เป็นเรื่องจำเป็นให้เหมาะสมกับกาลสมัยและรัชสมัย








กำลังโหลดความคิดเห็น