"โสภณ องค์การณ์"
ใครได้ใครเสียในศึกแย่งชิงข่าวเชิงจิตวิทยาระหว่างจีน สหรัฐและไต้หวันอันเนื่องมาจากการเยือนของประธานรัฐสภาของสหรัฐฯ นางแนนซี เพโลซี เพียงไม่กี่ชั่วโมงบนเกาะไต้หวัน แต่ผลที่ตามมาจะสร้างความสั่นสะเทือนต่อเนื่องอีกนานสำหรับรัฐบาลเกาะไต้หวันและประชาชน
เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนางเพโลซีขึ้นเครื่องจากไทเปไปเกาหลีใต้ จีนได้ประกาศซ้อมรบขนาดใหญ่ปิดล้อมเกาะไต้หวันโดยใช้กระสุนจริง พร้อมเตือนประเทศต่างๆ ให้ระวังการเข้ามาใกล้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินหรือเรือสินค้า
เมื่อวาระของการซ้อมรบจริงมาถึงก็สะท้อนให้เห็นว่าจีนเอาจริงตามคำขู่ว่าสหรัฐฯ หรือไต้หวันไม่ควรจะเล่นกับไฟเพราะจะไหม้มือ
การตัดสินใจเยือนเกาะไต้หวันโดยไม่มีกำหนดการของนางเพโลซีถือว่าเป็นความกล้าหาญของนาง ซึ่งกล้าท้าทายลองดีว่าจีนจะกล้าทำอะไรในเมื่อกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐฯ ให้ความคุ้มครองช่วงการเดินทางจากมาเลเซียถึงไต้หวัน
จีนไม่จำเป็นที่จะต้องทำอะไรกับนางเพโลซี แต่ผลที่ตามมาต่างหากซึ่งถือว่าเป็นเกมยาวที่จีนจะเล่นงานเริ่มต้นนอกเหนือจากการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงรอบเกาะไต้หวัน สร้างความรู้สึกว่าถ้าจีนจะบุกขึ้นยึดเกาะเมื่อไหร่ก็ยอมทำอะไรก็ได้
วันที่นางเพโลซีเยือนไต้หวันนั้นยูเอ็นได้ประกาศรับรองอีกครั้งว่าไต้หวันเป็นของจีนและเป็นที่ยอมรับกันในเชิงสากล
คนไต้หวันจะรู้สึกอกสั่นขวัญแขวนอย่างไรหรือไม่ วันที่นางเพโลซีไปถึงไต้หวันนั้นมีคนไต้หวันกลุ่มหนึ่งเดินขบวนไม่ต้อนรับนาง เพราะถือว่าเป็นตัวสร้างความยุ่งยากให้กับไต้หวันมากกว่าที่จะเป็นผลดี
คนไต้หวันย่อมเห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับเกาะฮ่องกงซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ท้าทายอำนาจของรัฐบาลจีน โดยการเรียกร้องประชาธิปไตยไม่สิ้นสุดและเดินขบวนประท้วงจนทำให้เศรษฐกิจทั้งเกาะเสียหาย ผลสุดท้ายจีนประกาศกฎหมายความมั่นคงใช้กับเกาะฮ่องกงทำให้สิ้นสภาพประชาธิปไตยและความมีชีวิตชีวาของเกาะเหมือนอยู่ในสภาพตายซาก
อนาคตอันสดใสของเกาะฮ่องกงสิ้นสุดลงแล้วความรู้สึกของประชาธิปไตยจบลงก่อน 26 ปีแทนที่จะปล่อยให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างจีนกับอังกฤษ แต่การเร่งให้มีประชาธิปไตยก็ทำให้สภาพที่มีเสรีภาพสิ้นสุดลงโดยไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีก
คนไต้หวันคงมองว่าการอยู่อย่างปัจจุบันโดยไม่ต้องดิ้นรนเรียกร้องว่าประเทศต้องเป็นเอกราชหรือคงความเป็นเสรีภาพยั่งยืนแต่ไม่อยู่ภายใต้การปกครองของจีนอย่างปัจจุบันน่าจะดีกว่าการแสดงการท้าทายต่ออำนาจของจีน ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเกาะไต้หวันเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศจีนอย่างที่จะปฏิเสธไม่ได้
คนไต้หวันคงไม่อยากเป็นแบบคนฮ่องกงซึ่งสิ้นอิสรภาพและเสรีภาพบรรยากาศของธุรกิจก็ซบเซาการท่องเที่ยวไม่กระเตื้องขึ้นและไม่มีแนวโน้มว่าจีนจะสนับสนุนให้ฮ่องกงเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือธุรกิจเหมือนแต่ก่อนเพราะคนต่างชาติย่อมไม่มาลงทุนทางธุรกิจ
นางไช่อิง เหวิน ได้รับเลือกจากประชาจีนเพียง 8.2 ล้านคน เปรียบเทียบกับประชาชนทั้งเกาะซึ่งมี 23 ล้านคน ดังนั้นคนไต้หวันมองว่าประธานาธิบดีหญิงคนนี้ย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาประเทศไต้หวันไปเสี่ยงอนาคตกับความท้าทายที่อยากลองดีกับจีนโดยมีอเมริกาหนุนหลังอยู่ซึ่งดูแล้วคงช่วยอะไรไม่ได้
การที่จีนประกาศว่าจะตอบโต้นั้นไม่ได้หมายความว่าจะกระทำต่อสหรัฐฯ โดยตรงแต่คงจะมุ่งเป้าหมายไปที่ทุกฝ่ายเช่นไต้หวัน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ กับสหรัฐอเมริการวมถึงผู้ให้การสนับสนุนต่างๆ ในการยื่นของนางเพโลซีด้วย
แล้วก็เห็นชัดเจนว่าจีนได้ประกาศมาตรการทางเศรษฐกิจห้ามนำเข้าสินค้าอาหารหลายประเภทจากไต้หวัน ห้ามส่งออกแร่หายาก รวมทั้งทรายซิลิก้าและวัตถุดิบอื่นๆในการสร้างซิลิคอนชิปจำเป็นต่อระบบไอทีซึ่งจีนเป็นแหล่งใหญ่สำหรับวัตถุดิบต่างๆ ในอุตสาหกรรมไอทีและรถยนต์ไฟฟ้าในไต้หวันและสหรัฐฯ
จีนประกาศควบคุมการส่งออกสินค้าเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และไอทีรวมถึงการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้วัตถุดิบเป็นแร่หายากที่มีเฉพาะในจีนรัสเซียและกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ แสดงออกถึงความไม่เป็นมิตรด้วย
ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันจะต้องรุนแรงในการส่งออกสินค้าไอทีที่ต้องใช้ซิลิคอนชิปและแร่หายากจากจีนทั้งการปิดล้อมเกาะ ไต้หวันเป็นบางช่วงจะส่งผลให้การขนส่งสินค้าล่าช้าสุดท้ายเกาะไต้หวันจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและประชาชนจะเดือดร้อนอย่างมากมาย แค่นี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องลงไม้ลงมือกับไต้หวันเป็นการลงโทษที่ต้อนรับนางเพโลซี
สหรัฐฯ จะได้แต้มอะไรหรือไม่จากการที่นางเพโลซีเยือนเอเชียครั้งนี้ต้องรอการประเมิน แต่ถ้าจะอ้างว่าเป็นผลชัยชนะทางจิตวิทยาสามารถลูบคมจีนได้ก็คงมีคนไม่กี่คนที่คิดอย่างนี้ ผลกระทบอย่างแรงด้านเศรษฐกิจต่อสหรัฐฯ ในพันธมิตรนั้นจะยืดเยื้อยาวนานโดยที่ สภาพปัจจุบันที่คนลำบากจากผลสะท้อนของมาตรการแซงชันรัสเซียนั้นเป็นหลักฐานอย่างดีว่า โลกตะวันตกไม่ได้เป็นต่อรัสเซียในสงครามยูเครน
และยังจะต้องรับผลกระทบจากการที่นางเพโลซีไปสร้างเรื่องทำให้จีนโกรธและตอบโต้ด้วยมาตรการการค้าซึ่งถือว่าเจ็บแสบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีของไต้หวันและโลกตะวันตกซึ่งพึ่งพาสินค้าจากไต้หวัน
คงจะมีการประเมินต่อไปจากการเยือน ต่างประเทศที่แทบจะหยุดโลกเพราะคนเฝ้ามองกันว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีการเผชิญหน้ากัน แต่สุดท้ายก็ผ่านไปโดยที่จะไปว่ากันต่อในสงครามเศรษฐกิจระหว่างชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งและสองของโลกโดยมีไต้หวันเป็นเหมือนตัวแทนไม่ต่างจากกรณียูเครนในสงครามระหว่างโลกตะวันตกกับรัสเซีย