xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนจากผลงานวิจัย 16 ชิ้น ยังไม่พบว่ากัญชาทำลายสมองเยาวชน? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในบรรดางานวิจัยในเรื่องกัญชาหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความน่าสนใจก็คือกัญชามีผลกระทบอย่างไรกับสมอง ทำให้ความฉลาดทางด้านสติปัญญาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันมีงานวิจัยที่ขัดแย้งกันเป็นจำนวนมาก

ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มักจะหยิบยกขึ้นมาเผยแพร่ในการโจมตีกัญชาว่าทำให้โง่ลง เช่น งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชศาสตร์ของอเมริกัน The American Journal of Psychiatry ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 รายงานความตอนหนึ่งว่า

“ผลการติดตามผลการศึกษาในการวัดระดับสติปัญญา (I.Q.) ช่วงอายุ 45 ปีพบว่า กลุ่มที่ได้รับกัญชามีการลดลงของสติปัญญามากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับถึง 8 เท่า (คะแนน IQ ลดลง 5.5 คะแนนในกลุ่มใช้กัญชาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่องกันอย่างน้อย 1 ปี เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้กัญชาที่ลดลง 0.67 คะแนน และยังพบว่าขนาดของฮิปโปแคมปัสในสมอง (hippocampal Volume)มีขนาดเล็กลง รวมถึงมีปัญหาด้านความจำมากขึ้น”[1]

ในขณะที่งานวิจัยออกมาได้ผลไม่ตรงกัน เช่น งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence เมื่อเดือนกันยายน 2562 พบว่าการใช้กัญชาในกลุ่มคนวัยรุ่นอายุ 13-19 ปีประมาณ 1,000 คน และมีการติดตามผลไปจนถึงอายุ 30-36 ปี พบผลการทดสอบกลับพบว่ากัญชาไม่ได้ทำให้โครงสร้างสมองเปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใด[2]

โดยตัวอย่างของงานวิจัยข้างต้นที่มีความขัดแย้งกันเช่นนี้ อาจจะมาจากระเบียบวิธีวิจัยไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการควบคุมตัวแปรได้ไม่เหมือนกัน กลุ่มประชากรต่างกัน ช่วงวัยของกลุ่มวิจัยต่างกัน ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนซึ่งเป็นวัยแห่งการศึกษา ที่ต้องการพัฒนาการสมองเป็นผู้ใหญ่ เป็นพลังอันสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมด้วยแล้ว ยิ่งทำให้สังคมมีความห่วงใยกลุ่มนี้มากที่สุด
และไม่ว่างานวิจัยจะขัดแย้งกันเพียงใด แต่กฎหมายเกี่ยวกับกัญชาในประทศไทยที่กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง พ.ศ…..อยู่ในขณะนี้ รวมถึงมาตรการชั่วคราวในขณะนี้ ก็ได้มีข้อจำกัดไม่ให้จำหน่ายให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งในงานวิจัยเช่นนี้ หนึ่งในวิธีการซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยการใช้หลักสถิติจากผลงานวิจัยหลายชิ้นที่เรียกกว่า “การวิเคราะห์อภิมาน” หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Meta-analysis”

การวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) หมายถึงวิธีการทางสถิติที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยต่าง ๆ กัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดสิ่งที่พบเหมือน ๆ กัน สิ่งที่ต่างกัน และความสัมพันธ์ที่น่าสนใจอื่นๆ ที่อาจปรากฏด้วยการศึกษางานวิจัยหลายๆงาน[3]

การวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการ “ทำการศึกษาเกี่ยวกับการศึกษาอื่นที่ทำมาแล้ว” โดยแบบที่ง่ายที่สุด โดยจะทำการกำหนดวัดค่าทางสถิติที่เหมือนกันในงานวิจัยหลายๆงาน เช่น ขนาดผล (effect size) หรือ p-value แล้วสร้างค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (weighted average) ของการวัดค่าที่เหมือนกัน โดยน้ำหนักที่ให้มักจะขึ้นอยู่กับขนาดตัวอย่าง (sample size) ของแต่ละงานวิจัย แต่ก็สามารถขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอย่างอื่น ๆ เช่นคุณภาพของงานศึกษาด้วย

โดยปกติแล้วการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) จะพิจารณาจากผลการศึกษาล่าสุด เพราะเท่ากับได้มีการรวบรวมผลงานวิจัยเพิ่มขึ้นมาใหม่ๆได้มากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับกรณีศึกษากัญชาที่มีผลต่อสมองนั้น ได้มีตัวอย่างการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) ในปี 2565 คืองานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยชาวออสเตรเลีย นำโดย วาเลนตินา ลอเรนเซตติ (Valentina Lorenzetti) ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาและสารสำคัญในกัญชาโดยเฉพาะชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research โดยมีการเผยแพร่การตีพิมพ์นี้ทางออนไลน์เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565[4]

โดยหัวข้องานวิจัยชิ้นนี้มีความท้าทายต่อความเชื่อของสังคมอย่างยิ่งภายใต้หัวข้อซึ่งแปลเป็นไทยว่า การเปลี่ยนแปลงกายวิภาคของสมองในกลุ่มเยาวชนผู้ใช้กัญชา : เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเกินจริงหรือไม่?

การศึกษาครั้งนี้ได้คัดเลือกงานวิจัยการใช้กัญชาในกลุ่มเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 12-26 ปี โดยเป็นการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบที่มีหลักฐานในการวัดของขนาดของสมองที่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ใช้และไม่ใช้กัญชา

ปรากฏว่าผลการศึกษาในเรื่องกัญชาที่มีการตรวจวัดขนาดของสมองด้วยเครื่อง MRI หรือ หน่วยภาพวินิจฉัยระบบประสาท (neuroimaging) ที่เป็นงานวิจัยมีทั้งสิ้น 2,911 ชิ้น

แต่การคัดเลือกงานวิจัยที่จะเข้าเกณฑ์ดังกล่าวนำมาวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) เช่น เป็นการวิจัยในมนุษย์ เป็นการวิจัยแยกออกมาชัดเจนกัญชา สุรา บุหรี่, มีการวินิจฉัยโดยจิตแพทย์, มีการวิเคราะห์กลุ่มที่ใช้กัญชาเว้นจากการใช้กัญชาในรอบ 28 วันเพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้กัญชา และมีอายุระหว่าง 12-26 ปี ฯลฯ ผลปรากฏว่าเหลืองานวิจัยให้มาเปรียบเทียบเพียง 16 ชิ้นเท่านั้น
งานวิจัย 16 ชิ้นดังกล่าวนี้ มีประชากรเป็นเยาวชนในการวิจัยรวมทั้งสิ้น 830 ราย โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้กัญชารวม 386 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้กัญชารวม 444 ราย

ผลการศึกษาสรุปพบว่า “กลุ่มเยาวชนทั้งใช้กัญชาและไม่ใช้กัญชามีปริมาณเนื้อสมองทั้งในภาพรวมและบริเวณส่วนต่างๆ ของสมองไม่แตกต่างกัน” [4]

แต่ถึงแม้ว่างานวิจัยที่รวบรวมและมีการวิเคราะห์อภิมานข้างต้นจะได้ผลดังกล่าวแล้วว่ากัญชาไม่ได้มีผลต่อสมองของเยาวชนก็จริง


แต่สำหรับการวัดผลในรูปแบบอื่นๆ เช่น ระดับความฉลาดสติปัญญาหรือ I.Q. มักจะเกิดข้อโต้แย้งอื่นๆ ที่ทำให้เชื่อว่าผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็กและเยาวชนนั้นอาจจะไม่ได้เป็นปัญหาจากกัญชา แต่กลับเกิดจากปัญหาอื่นจึงใช้กัญชา เช่น เยาวชนมีปัญหาครอบครัวจนไม่สามารถมีความพร้อมที่จะศึกษาได้เมื่อมีความทุกข์จึงใช้กัญชา มีปัญหาความยากจนขาดโภชนาการที่ดีมีความทุกข์จึงใช้กัญชา มีปัญหาครอบครัวหรือความยากจนทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาจึงใช้กัญชา ฯลฯ

ซึ่งปัจจัยการหนีความทุกข์ดังกล่าวอาจทำให้มีตัวแปรกวนผลทำให้กัญชากลายเป็นจำเลยอย่างไม่ถูกต้องได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้นักวิจัยบางคณะที่เห็นปัญหาดังกล่าว จึงเห็นว่าจะไปศึกษาตามผลการวิเคราะห์อภิมานหรือ Meta-analysis อย่างเดียวอาจจะไม่พอ เพราะงานวิจัยที่รวบรวมเหล่านั้นอาจจะไม่ถูกต้องโดยรวมก็ได้ จึงเลือกศึกษา “คู่แฝด” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกันในลักษณะมีสิ่งแวดล้อมและมีตัวแปรกวนผลน้อยกว่า (แม้ว่าจะกำจัดตัวแปรกวนผลได้ไม่หมด)

งานวิจัยชิ้นแรกตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา เรียกว่า Proceedings of the National Academy of Sciences เมื่อปี พ.ศ.2559 ใช้ประชากรทดสอบฝาแฝด 3,066 คน แบ่งเป็นการทดสอบระดับสติปัญญา 2 รูปแบบ โดยแบ่งเป็นการวัดระดับสติปัญญาหรือ ไอคิว (I.Q.) 2 ช่วง คือช่วงเวลาก่อนใช้กัญชาระหว่างอายุ 9-12 ปี กับช่วงเวลาที่ใช้กัญชาแล้วระหว่างอายุ 17-20 ปี กลับพบว่ากัญชาไม่ได้ส่งผลทำให้มีนัยยะสำคัญในกลุ่มฝาแฝด แต่สิ่งที่มีผลต่อสติปัญญาลดลงกลับเป็นปัจจัยตัวแปรจากปัญหาครอบครัว[5]

นอกจากนั้นอีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศไทยได้ออกข้อห้ามในเรื่องของการจำหน่ายกัญชาให้กับสตรีมีครรภ์นั้น ก็มีเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำงานวิจัยให้สตรีมีครรภ์คนใดได้ใช้กัญชา ยกเว้นเสียแต่ว่าดูข้อมูลการสำรวจเท่าที่เคยมีอยู่ในอดีต

โดยหากย้อนกลับไปที่ตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจเมื่อ 34 ปีที่แล้ว ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์อินเดียตะวันตก West Indian Medical Journal เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยได้มีการศึกษาติดตามผล 5 ปี ของประชาชนท้องถิ่นในประเทศจาไมก้า โดยสำรวจเด็กชาวจาไมก้า 59 คนที่มารดาใช้กัญชาระหว่างตั้งครรภ์ พบว่า เด็กทารกที่เกิดจากมารดาที่สูบกัญชาในระหว่างการตั้งครรภ์มีสมองและพัฒนาการที่ดีกว่ากลุ่มที่มารดาไม่ได้ใช้กัญชา[6]

ต่อมางานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางด้านจิตวิทยา Fronteir in Psychology เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ด้วยการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบอย่างรอบด้าน จำนวน 1,001 งานวิจัย พบว่า การใช้กัญชาในระหว่างการตั้งครรภ์ไม่ได้ทำให้เด็กมีปัญหาทางสมอง[7]

แต่ไม่ว่างานวิจัยจะยังมีข้อถกเถียงเป็นเช่นไร แต่สำหรับประเทศไทยก็ได้ตัดสินใจค่อนข้างชัดแล้วว่า “ขอปลอดภัยไว้ก่อน” โดยจะไม่ให้จำหน่ายหรือให้ใช้ในเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบาง อันเป็นการเดินตามรอยการควบคุมสุราและบุหรี่

ส่วนผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเปราะบางข้างต้นก็ควรได้รับการจ่ายกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์



อ้างอิง
[1] Madeline H. Meier, et al., Long-Term Cannabis and Cognitive Reserves and Hippocampal Volume in Midlife, American Journal of Psychiatry, Published Online:8 Mar 2022
https://doi.org/10.1176/appi.ajp.2021.21060664
https://ajp.psychiatryonline.org/doi/10.1176/appi.ajp.2021.21060664

[2] Madeline H.Mei, Associations between adolescent cannabis use frequency and adult brain structure: A prospective study of boys followed to adulthood
Author links open overlay panel, Drug and Alcohol Dependence, Volume 202, 1 September 2018, Pages 191-199
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0376871619302352?via%3Dihub

[3] Greenland, S; O' Rourke, K (2008). Rothman, KJ; Greenland, S; Lash, T (บ.ก.). Meta-Analysis. Modern Epidemiology (3 ed.). Lippincott Williams and Wilkins. p. 652.

[4] Valentina Lorenzetti, et al., Brain Anatomical Alterations in Young Cannabis Users: Is it All Hype? A Meta-Analysis of Structural Neuroimaging Studies, Cannabis and Cannabinoid Research, Published Online:19 Apr 2022
https://doi.org/10.1089/can.2021.0099
https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/can.2021.0099

[5] Nicholas J. Jackson, et al., Impact of adolescent marijuana use on intelligence: Results from two longitudinal twin studies, Proc Natl Acad Sci U S A. 2016;113(5):E500-E508. accepted by the Editorial Board December 14, 2015 (received for review August 20, 2015)
https://www.pnas.org/doi/full/10.1073/pnas.1516648113

[6] J S Hayes, et al., Five-year follow-up of rural Jamaican children whose mothers used marijuana during pregnancy, West Indian Medical Journal, 1991 Sep;40(3):120-3.
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/1957518/

[7] Ciara A. Torres, Totality of the Evidence Suggests Prenatal Cannabis Exposure Does Not Lead to Cognitive Impairments: A Systematic and Critical Review, Frontier, Psychol., 08 May 2020
https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2020.00816/full


กำลังโหลดความคิดเห็น