xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายอนุรักษ์ยังมีโอกาสชนะไหม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



เราทราบว่าการเมืองไทยตอนนี้ถูกมองว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งฝ่ายหลังนี้อาจมองว่าตัวเป็นฝ่ายเสรีนิยม ฝ่ายอนุรักษนิยมก็คือฝ่ายที่เป็นรัฐบาลตอนนี้ และฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็คือพรรคฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตามในฝ่ายรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์อาจจะมองว่าตัวเป็นเสรีนิยม แต่จากการต่อสู้ทางความคิดในช่วงทศวรรษที่ก่อให้เกิดเป็นฝ่ายนิยมเจ้าและไม่นิยมเจ้านั้น ทำให้ฝ่ายนิยมเจ้าถูกมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมไปทั้งหมด แต่ในการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรอาจการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคคนละฝั่งก็อาจจะไปร่วมรัฐบาลกันได้ จะมีที่เป็นไปได้ยากก็คือ การร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย

ส่วนที่อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ประกาศว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลก็พรรคเพื่อไทยแน่ๆ นั้น คงต้องรอดูกันอีกทีเมื่อถึงเวลานั้น

ขณะเดียวกันในพรรคฝั่งที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมีเฉดสีที่ต่างกัน พรรคเพื่อไทยของทักษิณนั้นไม่ได้มีท่าทีในนามพรรคอย่างเปิดเผยที่จะเป็นพรรคปฏิกษัตริย์นิยมต่างกับพรรคก้าวไกลที่สะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวในสภาฯ และบนถนนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ถ้าดูการเลือกตั้งในปี 2562 ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลตอนนี้กับพรรคฝ่ายค้านนั้นมีฐานมวลชนที่ใกล้เคียงกันคือเป็นตัวเลขกลมๆ ประมาณ 15 ล้านเสียง ซึ่งพรรคการเมืองในฝ่ายเดียวก็จะชิงเค้ก 15 ล้านเสียงกัน เช่นในฝั่งฝ่ายค้านจะแย่งกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล โดยมีพรรคเสรีรวมไทย และพรรคเล็กๆ ฝั่งนี้เป็นตัวประกอบ

ถ้าพรรคก้าวไกลได้รับความนิยมมากขึ้นคะแนนของพรรคเพื่อไทยก็จะลดลง ดังนั้นพรรคที่จะดับความหวังว่าพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์หรือไม่ก็คือพรรคก้าวไกลที่จะตัดคะแนนกันเอง มีทั้งตัดแล้วพรรคใดพรรคหนึ่งชนะหรือตัดกันจนแพ้ฝั่งตรงข้ามทั้งสองพรรค

แต่สภาวะการแข่งขันที่ตัดกันเองนี้ ณ สถานการณ์ตอนนี้ที่หนักกว่าก็คือพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมหรือพรรคฝ่ายรัฐบาลตอนนี้ พรรคมีทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย โดยมีพรรคใหม่เข้ามาอีกเช่นพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรครวมแผ่นดิน

แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คนฝั่งอนุรักษนิยมจะเลือกในเชิงยุทธศาสตร์คือ ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐ โดยฝั่งประชาธิปัตย์เหลือเฉพาะคนที่เป็นฮาร์ดคอร์จริงๆ ที่ลงคะแนนให้พรรค เพราะกลัวว่า พรรคพลังประชารัฐที่เสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะแพ้ให้กับพรรคฝั่งตรงข้าม จนพรรคพลังประชารัฐได้เสียงมากที่สุดถึง 8,411,274 คะแนน ชนะพรรคเพื่อไทยที่ได้ 7,881,006 คะแนน

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยส่งลง ส.ส.เขตเพียง 2 ใน 3 ของ 350 เขต ถ้าส่งครบ 350 เขตก็อาจจะมากกว่านี้ แต่ยังไงก็ไม่ทำให้คะแนนของพรรคพลังประชารัฐลดลง เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยส่งครบก็จะตัดคะแนนในฝั่งเดียวกันที่ลดลงก็จะเป็นคะแนนของพรรคก้าวไกลที่ได้ไป 6,330,617 คะแนน

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า คะแนนของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของพล.อ.ประยุทธ์

คำถามว่าพล.อ.ประยุทธ์จะผ่านศาลรัฐธรรมนูญเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีไหม หรือถ้าผ่านมาได้ความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์จะมีเหมือนเดิมไหม และเราต้องยอมรับนะว่า จากตัวเลขครั้งที่แล้วคนกลางๆ ที่ไม่สวิงไปข้างไหนก็น่าจะเลือกพล.อ.ประยุทธ์ด้วย เพราะเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองสงบได้ แต่เมื่อผ่านมาถึงวันนี้ก็พบแล้วว่าไม่จริงซ้ำยังกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งจนลุกลามไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อรวมกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคระบาดและสงครามด้วยแล้ว ก็มีเสียงเรียกร้องต้องการผู้นำที่มีสติปัญญาพอที่จะนำพาประเทศผ่านวิกฤตไปให้ได้ ซึ่งน่าคิดว่าคนกลางๆ ที่ไม่มีขั้วชัดเจนเขาจะลงคะแนนไปทางไหน และนี่จึงเป็นคะแนนชี้ขาดฝั่งชนะเมื่อนึกถึงสภาพความจริงที่สองฝั่งมีมวลชนที่ก้ำกึ่งกัน

จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คิดว่าคนกลางๆ เขาจะลงคะแนนให้พรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกไหม

เชื่อว่าวันนี้ทักษิณน่าจะคิดจากโซลูชั่นนี้ที่ทำให้เชื่อว่าพรรคของเขาจะชนะด้วยเสียงแลนด์สไลด์

ขณะเดียวกันพรรคในฝั่งอนุรักษนิยมก็ต้องต่อสู้กันหนัก ก็เป็นไปได้เช่นเดียวกันว่า อาจจะแย่งชิงตัดคะแนนกันเองจนแพ้ฝั่งตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ในกทม.ที่จะตัดกันเอง หรือถ้าเกิดพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญได้แล้วไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติจะยิ่งเป็นศึกสามเส้าในฝั่งเดียวกัน

ในภาคใต้ก็เช่นเดียวกันภาคนี้แม้โอกาสของพรรคที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะมีน้อยมาก แต่ถ้าพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมตัดกันเองหลายพรรคก็อย่าประมาทแบบพรรคก้าวไกลไป เพราะรุ่นใหม่ในภาคใต้ไม่ได้มีความคิดแบบคนรุ่นเก่าที่ไม่เอาพรรคฝ่ายที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย

เมื่อดูสภาพความจริงและผลโพลของหลายสำนักก็ต้องยอมรับว่า พรรคพลังประชารัฐอาจจะได้รับคะแนนน้อยลงมากจากความนิยมของตัวพล.อ.ประยุทธ์ที่ลดลง หรือถ้าพล.อ.ประยุทธ์ย้ายพรรคไปพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐก็น่าจะริบหรี่ลง แต่พรรครวมไทยสร้างชาติก็ไม่น่าจะได้มากขนาดพรรคพลังประชารัฐในรอบที่แล้ว

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่มีความโดดเด่นอะไรเลย หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้รับความนิยมไม่ติดอันดับต้นในโพลแบบไกลลิบ แถมยังมีความขัดแย้งกันในพรรค โอกาสที่จะฟื้นดูจะมืดมนมาก แค่รักษาเก้าอี้ที่มีอยู่ไว้ให้ได้ไม่น้อยกว่าเดิมก็ถือว่าพรรคประสบความสำเร็จแล้ว แต่พรรคที่เชื่อว่าจะได้ ส.ส.มากขึ้นในฝั่งนี้ก็คือ พรรคภูมิใจไทยที่น่าจะกวาดต้อน ส.ส.ซึ่งฝากเลี้ยงไว้ในพรรคฝ่ายค้านมาร่วมกับพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้หลายคน รวมทั้งยังมีความพร้อมในเรื่องเสบียงคลังมากกว่าพรรคการเมืองไหนๆ ไม่มีความขัดแย้งในพรรค

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ทักษิณวาดหวังว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ก็ไม่ใช่ราบรื่น เพราะนอกจากต้องชิงกับพรรคก้าวไกลที่ได้ใจคนรุ่นใหม่และพวกฮาร์ดคอร์มากกว่าแล้ว ก็ต้องดูสูตรการเลือกตั้งว่าจะออกมาอย่างไรด้วย ถามว่าความหวังที่พรรคเพื่อไทยจะชนะได้ ส.ส.เกิน 250 หรือเกินครึ่งมีไหม คิดว่าไม่น่าจะมี แต่ต้องดูว่า พรรคฝ่ายค้านตอนนี้รวมกันในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เกิน 250 คนไหมนั้นน่าจะพอมีความเป็นไปได้

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.เกินครึ่งด้วยตัวเอง แม้จะชนะเป็นอันดับ 1 เหมือนการเลือกตั้งที่แล้ว ก็ต้องระวังแรงกดดันจาก 250 ส.ว.ที่ยังมีสิทธิ์เลือกนายกฯด้วย เพราะด้วยแรงกดดันอันนี้ก็จะทำให้พรรครัฐบาลในขณะนี้ยังมีเปรียบที่จะผนึกกำลังกันกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง

ถ้าฝันของทักษิณจะเป็นจริงก็ต้องแลนด์สไลด์ให้ได้ถล่มทลายจริงๆ ถ้าไม่แล้วฝั่งอนุรักษนิยมก็อาจได้ไปต่อ

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น