xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนได้อะไรจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะเลือกผู้แทนของตนหรือที่เรียกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือที่เรียกย่อๆ ว่า ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประชาชน

ดังนั้น ส.ส.จะมีคุณภาพหรือไม่ มีมากน้อยขึ้นอยู่กับประชาชน หรือพูดได้ว่าคุณภาพของ ส.ส.สะท้อนคุณภาพประชาชน

ถ้าประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดีพอ ส.ส.ที่ได้รับเลือกก็มีโอกาสที่จะด้อยคุณภาพมากกว่าจะมีคุณภาพ

ส.ส.ที่ได้รับเลือกเข้าไปจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ

1. ฝ่ายรัฐบาลได้แก่ ส.ส.เสียงข้างมากในสภาฯ จากพรรคการเมืองเดียวหรือหลายพรรครวมกัน โดยมีพรรคที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับหนึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

รัฐบาลมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารประเทศ ภายใต้กรอบแห่งนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา

ดังนั้น ถ้าจะทำการประเมินผลงานของรัฐบาลว่า มีผลงานหรือไม่มีผลงานในด้านใด และมากน้อยแค่ไหนก็จะต้องประเมินจากการดำเนินงานตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ เป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ รวมไปถึงแผนกลยุทธ์ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาอันอาจเกิดขึ้นว่าได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ และรัดกุมมากน้อยแค่ไหนด้วย

2. ฝ่ายค้านได้แก่ ส.ส.เสียงข้างน้อยจากพรรคการเมืองเดียวหรือหลายพรรครวมกัน

ฝ่ายค้านมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเมื่อใดตรวจสอบแล้วพบว่า การกระทำของรัฐบาลบกพร่องหรือผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ก็จะต้องติงโดยการตั้งกระทู้ถามให้ฝ่ายรัฐบาลชี้แจง หรือถ้าเห็นว่าเป็นความผิดร้ายแรงถึงขั้นถ้าปล่อยให้บริหารประเทศต่อไป ทำให้ประเทศล่มจมได้ ก็จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะก็ได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงวันที่ 19-22 กรกฎาคม ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย และดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลักในการอภิปราย

ก่อนการเปิดอภิปราย ฝ่ายค้านได้ประโคมข่าวในทำนองเดียวกับลิเกโหมโรงก่อนการแสดงจะเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เอือมระอากับการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ถึงขั้นเรียกได้ว่าเกิดวิกฤตศรัทธา จึงทำให้เกิดความอยากจะได้ฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านว่าจะพูดถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในด้านใดและอย่างไร เมื่อเทียบกับนโยบายและเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนจากการปฏิบัติการ

แต่ครั้นถึงเวลาที่ผู้นำฝ่ายค้านเปิดการอภิปรายกลับร่ายยาวไม่ลงลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แถมยังใช้ภาษาในการกล่าวหาในรูปแบบของการประดิษฐ์วาทกรรมให้ฟังแล้วเกิดความมันในอารมณ์มากกว่าให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความล้มเหลวที่จับต้องได้ และเป็นรูปธรรม

ในทำนองเดียวกัน เมื่อผู้นำรัฐบาลขึ้นมาชี้แจง แทนที่จะพูดถึงผลงานที่ได้ดำเนินการตามนโยบาย และเป้าหมายตามแผนที่ได้ดำเนินการไป กลับพูดถึงพฤติกรรมของผู้นำฝ่ายค้านในอดีตในทำนองต่อว่าต่อขาน กระแหนะกระแหนถึงคนแดนไกล ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงที่คอยบอกบทอยู่ข้างหลัง ทำให้ดูประหนึ่งเป็นการวิวาทะระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล

แต่อย่างไรก็ตาม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ได้มี ส.ส.หน้าใหม่หลายคนจากพรรคฝ่ายค้านได้แจ้งเกิดในฐานะ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากพรรคก้าวไกล เนื่องจากได้อภิปรายตรงประเด็น และมีข้อมูลอ้างอิงน่าเชื่อถือควรค่าแก่การรับฟัง และเมื่อได้ฟังแล้ว ทำให้ได้รู้ได้เข้าใจสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลซึ่งเกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้

ในทางกลับกัน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ทำให้มองเห็นความด้อยคุณภาพของ ส.ส.บางคน ไม่ว่าจากการลุกขึ้นประท้วงแบบไม่มีเหตุผลหรือจากการพูดจาหยาบคาย ไร้วัฒนธรรมที่ ส.ส.ผู้ทรงเกียรติในฐานะเป็นตัวแทนของปวงชนจะพึงมี ทำให้รัฐสภาเป็นประหนึ่งตลาดสดในขณะที่แม่ค้าทะเลาะกัน และจากพฤติกรรมไม่เหมาะไม่ควรจากการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออก ซึ่งความไม่เห็นด้วยโดยการวางดอกไม้จันทน์ ทำให้เห็นเป็นประหนึ่งว่าสภาฯ เป็นฌาปนสถาน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น