xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑๙ : การตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในปี ๒๔๙๑ เมื่อคณะราษฎรเริ่มมีบทบาทลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


คณะราษฎรมีอำนาจเต็มในแผ่นดินไทยในช่วงปี ๒๔๗๕-๒๔๙๐ หลังจากนั้นพลโทผิน ชุณหะวัน นายทหารนอกราชการผู้เคยเป็นวีรบุรุษเชียงตุงได้ก่อการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์โดยมีนายทหารในราชการเป็นผู้ลงมือและสนับสนุน และได้ให้ นายควง อภัยวงศ์จากพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการปฏิวัติ พลโทผิน ชุณหะวันได้กลับเข้ารับราชการรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ลูกเขยของ จอมพลผิน ชุณหะวันได้ย้ายจากกองทัพบกไปเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ

รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ที่มี จอมพลผิน ชุณหะวันอยู่เบื้องหลังนับว่าเป็นข้อดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพราะคณะราษฎรไม่ได้มีอำนาจเต็มเช่นเดิม อีกทั้ง จอมพลผิน ชุณหะวันเป็นผู้มีความจงรักภักดี และ นายควง อภัยวงศ์เองก็เป็นผู้ก่อการคณะราษฎรที่เป็นกษัตริย์นิยม นายควง อภัยวงศ์ได้ผลักดันให้ยกสถานะของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จากที่เดิมมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธานและมีกรรมการอีกอย่างน้อย ๔ คน ให้มีฐานะเป็นหน่วยงานใหม่เป็นนิติบุคคล ทำให้เกิดสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นมาใหม่เพื่อให้การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลอีกต่อไป

จึงได้มีการตรา พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๙๑ ขึ้นมาโดยมีใจความสำคัญดังนี้

ประการแรก ให้จัดตั้งนิติบุคคล สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้น และให้มีคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่งและมีกรรมการอย่างน้อยอีก ๔ คนตามที่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งและจะทรงเลือกขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หนึ่งคน

ประการสอง ทรัพย์สินส่วนพระองค์การดูแลรักษาและการจัดผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ขึ้นมาอีกหน่วยงานหนึ่ง นอกจากนี้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินที่เป็นสมบัติสาธารณะของแผ่นดินส่วนเครื่องอุปโภคบริโภคให้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักพระราชวัง


ประการที่สาม ห้ามระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความอันใดที่แสดงให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ตามหลัก The king can do no wrong.

ประการที่สี่ รายได้ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะจ่ายได้ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วเท่านั้น รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้จำหน่ายใช้สอยได้ตามพระราชอัธยาศัย

ประการที่ห้า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต

รายละเอียดสามารถวาดเป็นรูปให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นดังภาพด้านล่างนี้


พ.ร.บ. ฉบับนี้ทำให้มีหน่วยงานที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์คือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ และเป็น พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่ใช้งานยาวนานกว่า ๖๐ ปีเกือบจะตลอดรัชกาลที่ ๙

การปล้นพระราชทรัพย์หรือศึกชิงพระคลังข้างที่ที่เคยเกิดขึ้นก็เริ่มบรรเทาลงหลังจากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีสถานะทางกฎหมายชัดเจนและมีนิติบุคคลมาดูแลโดยตรง ในขณะเดียวกันคณะราษฎรก็ค่อย ๆ อ่อนอำนาจลงไป แม้ จอมพลแปลก พิบูลสงครามจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังจากที่นายควง อภัยวงศ์ลาออก และ จอมพลแปลก พิบูลสงครามได้ครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรียาวนาน แต่ก็ภายใต้การกำกับดูแลควบคุมโดยคณะทหารแห่งชาติ อันประกอบด้วย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก พ่อตาของพลตำรวจเอกเผ่า พระองค์ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บังคับการ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษา และจอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศ

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารตนเองของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยความร่วมมือระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจต้องเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ และจอมพลแปลก พิบูลสงครามไปใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นอันเป็นการยุติบทบาทของคณะราษฎรอย่างสิ้นเชิง


กำลังโหลดความคิดเห็น