xs
xsm
sm
md
lg

การปลดล็อกกัญชากับปัญหาความเห็นต่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



จากอดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อพูดถึงกัญชาคนส่วนใหญ่ในสังคม จะเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นสิ่งเสพติดให้โทษ จึงห้ามมิให้ลูกหลานเสพกัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวพุทธผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสอนที่ว่าด้วยศีลข้อ 5 ที่ให้งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย เนื่องจากว่ากัญชาทำให้ผู้เสพมึนเมา มีผลกระทบต่อจิตประสาท ทำให้สมองเลอะเลือนนั่งยิ้มนั่งหัวเราะคนเดียว ตาพร่ามัว เห็นหมูเท่าช้าง จึงได้นำมาแต่งเป็นเพลง “เมากัญชาจนตาลาย เห็นเดือนหงายกลายเป็นเดือนคว่ำ” และยังมีคำเปรียบเทียบระหว่างเหล้ากับกัญชา และฝิ่นว่า เหล้าเอาเว่ยเอาวา กัญชาว่าเดี๋ยวก่อน ฝิ่นบอกว่าคิดให้แน่นอน โดยนัยแห่งคำเปรียบเทียบนี้ บ่งบอกว่าคนเมาเหล้าแล้วมักก่อเรื่องทะเลาะวิวาท กัญชาเมาแล้วขี้ขลาด ขี้กลัว ขี้เกียจ ส่วนฝิ่นเมาแล้วสุขุมลุ่มลึก

ในท่ามกลางความเชื่อว่า กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ ก็มีคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นส่วนน้อย) ได้นำกัญชามาเป็นเครื่องปรุงอาหาร ทำให้รสชาติดี และยังนำมาเป็นส่วนผสมยาสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อายุวัฒนะมีสรรพคุณทำให้กินได้ นอนหลับ

ด้วยเหตุที่ว่ามีคนส่วนน้อยเห็นประโยชน์ของกัญชา แต่คนส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นสิ่งเสพติดให้โทษดังกล่าวแล้วข้างต้น รัฐบาลไทยรวมถึงรัฐบาลของหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามผลิต จำหน่าย ครอบครอง และเสพ ตลอดมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 ก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคภูมิใจไทยได้หยิบยกเอากัญชาเสรีขึ้นมาเป็นนโยบายหาเสียง ว่าจะส่งเสริมให้มีการปลูกกัญชาได้ครอบครัวละ 6 ต้น เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจ

จะด้วยนโยบายนี้หรือนโยบายอื่น ประกอบกับพรรคภูมิใจไทยได้รับเลือก ส.ส.เข้ามาเป็นอันดับ 3 และได้เข้าร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งได้กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ผลักดันให้การปลดล็อกกัญชา ด้วยการเสนอ พ.ร.บ.เกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าสภาฯ และในขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของสภาฯ

แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศปลดล็อกกัญชาก่อนที่ พ.ร.บ.ประกาศใช้ และในทันทีที่มีการปลดล็อกกัญชา ได้มีกระแสตื่นตัวและตื่นตูมเกี่ยวกับกัญชากันทั่วประเทศ จะเห็นได้จากการที่มีคนจำนวนมากแห่กันไปซื้อกล้ากัญชามาปลูกในราคาแพงต้นละ 300 กว่าบาท และได้มีการนำเอากัญชามาผสมอาหาร เครื่องดื่มออกขายดาษดื่นถึงกับทำให้ผู้บริหารองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรทางด้านการศึกษา และสถานพยาบาลหลายแห่งได้ประกาศห้ามมิให้นำผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชาเข้ามาขายในพื้นที่ซึ่งตนเองรับผิดชอบ

ถึงแม้ต่อมาได้มีการประกาศมาตรการควบคุมการใช้กัญชา และให้ใช้เพื่อการแพทย์เป็นหลัก แต่ดูเหมือนจะช้าไปแล้วเพราะมีการดำเนินการไปแล้วในหลายรูปแบบ ทั้งขายต้น ขายผลิตภัณฑ์หรือแม้กระทั่งกัญชาโดยตรงในแหล่งท่องเที่ยวเช่น ถนนข้าวสาร เป็นต้น จึงทำให้เกิดกระแสไม่เห็นด้วยเกิดขึ้นจนกลายเป็นความแตกแยกทางความคิดถึงขั้นเกิดวิวาทะระหว่างเจ้ากระทรวงต้นตอแห่งความผิดในการปลดล็อกกัญชากับสื่อ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า ในเมื่อผู้คนในสังคมมีความเห็นด้วย และเห็นต่าง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขจะต้องทำการพิสูจน์ให้เห็นว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจโดยการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า กัญชาสามารถนำมาเป็นยารักษาโรคอะไรได้บ้าง และผลการรักษาเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ ทั้งในด้านคุณภาพ และปริมาณ

2. ดำเนินการผลิตยาที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมเพื่อรักษาโรคนั้นๆ ออกขายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศ และส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ

3. ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปลูกกัญชาประกันราคาขายในระดับคุ้มทุน และมีส่วนเกินคุ้มค่าแก่การลงทุน เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของเกษตรกรในระดับหนึ่ง

4. เร่งออกกฎหมายและกำหนดมาตรการในทางปฏิบัติ เพื่อควบคุมมิให้การนำกัญชามาใช้เพื่อสันทนาการ เพื่อป้องกันมิให้ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศด้อยค่าจากการตกเป็นทาสของกัญชา

ถ้ารัฐบาลทำได้ครบ 4 ข้อข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่า จะได้รับคะแนนนิยมทางการเมืองเพิ่มขึ้น

แต่ทำไม่ได้จะกลายเป็นข้อด้อยให้ฝ่ายค้านนำไปโจมตี และเกิดผลในทางลบแน่นอน

ยิ่งกว่านี้ ถ้ากระแสต้านการปลดล็อกกัญชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สักวันหนึ่งข้างหน้าอาจมีพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งนำเอาเรื่องนี้ไปเป็นนโยบายต่อสู้กับฝ่ายปลดล็อกกัญชาก็เป็นไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น