การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ เริ่มไปด้วยการขู่ฟ่อตามยุทธการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน ยังไม่รู้ว่าผลจะจบลงอย่างไร แต่เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลน่าจะยังมีเสียงที่มากกว่าและคงจะผ่านไปได้หมด และก็คงเป็นไปอย่างที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในทางนิตินัยขู่ไว้แหละว่า ถ้าไม่ตายในสภาฯ ก็ต้องไปตายในสนามเลือกตั้ง
เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นมีผลโพลออกมาหลายโพลแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง ส่วนจะแลนด์สไลด์หรือไม่นั้นหลายคนเชื่อว่า ณ สถานการณ์ตอนนี้ก็มีความเป็นไปได้สูง ในขณะที่วันนี้สภาพของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเก่าอีกแล้ว
พรรคพลังประชารัฐถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างไม่ต้องสงสัย หลายคนจึงมองว่าพรรคการเมืองพรรคนี้น่าจะเป็นพรรคเฉพาะกิจที่จากไปพร้อมกับการสิ้นอำนาจของ 3 ป.ในอนาคต แม้การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองพรรคนี้ยังคงอยู่ แต่ก็เชื่อกันว่าไม่น่าจะประสบความสำเร็จเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
ครั้งที่แล้วพรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 121 คน เป็นที่สองรองจากพรรคเพื่อไทย แต่พรรคพลังประชารัฐสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งและมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 250 คนที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 บทเฉพาะกาลให้ ส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี
ครั้งที่แล้วพรรคพลังประชารัฐมีคะแนนป็อปปูลาร์โหวตมากที่สุดคือ 8,441,274 คะแนน จากตรงนี้เองที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐพยายามจะกลับไปใช้คะแนนบัญชีรายชื่อหาร 100 ในตอนแรก เพราะคิดว่า เมื่อมีป็อปปูลาร์โหวตมากก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากด้วย แต่ต่อมาก็พลิกกลับมาหาร 500 เพราะกลัวว่าพรรคเล็กที่เสียประโยชน์จะโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจและคิดได้ว่าน่าจะเป็นคุณต่อพรรคเพื่อไทยมากกว่า
เรื่องหาร 100 หรือ 500 ก็ว่ากันไปรอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า เมื่อกลับมาใช้หาร 500 แล้วจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือ พรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะวันนี้พรรคพลังประชารัฐเหลือ ส.ส.เพียง 100 คน เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า นำส.ส. 20 คนออกไปตั้งพรรคใหม่
ต้องยอมรับว่าครั้งที่แล้วพรรคพลังประชารัฐมี 2 แรงบวกคือ กระแสของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการเลือกตั้งภายใต้อำนาจเผด็จการจากการถือครองอำนาจรัฐของ คสช. ความเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.ทำให้พรรคพลังประชารัฐสามารถกวาดต้อนอดีต ส.ส.เข้ามาร่วมพรรคเป็นจำนวนมาก ทั้งจากพรรคในฝั่งเดียวกันอย่างประชาธิปัตย์และฝั่งตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทย
ว่ากันว่าการกวาดต้อนเข้าพรรคครั้งนั้นใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ
รวมไปถึงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วมวลชนฝั่งอนุรักษนิยมกลัวว่าฝั่งตรงข้ามจะชนะเลือกตั้งและอยากให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ จึงหันไปเทเสียงให้พรรคพลังประชารัฐโดยทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานคะแนนเดียวกัน โดยเฉพาะในภาคใต้และ กทม.
ก็ต้องดูว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐจะเหลืออดีต ส.ส.สักกี่คน และมีใครทิ้งพรรคไปบ้าง เพราะต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้คนเป็นนักการเมืองนั้นจับกระแสและทิศทางลมได้ว่า กระแสของพรรคพลังประชารัฐอ่อนแรงลงแล้วไปพร้อมกับกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ ล่าสุดยังมีข่าวว่านายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคอาจหนีไปซบพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธหรือไม่ก็ตาม แต่นี่ย่อมเป็นแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ
ต้องยอมรับว่า พรรคพลังประชารัฐนั้นพึ่งพากระแสของพล.อ.ประยุทธ์คนเดียว ดังนั้นปัจจัยสำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถผ่านด่านการเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่จะครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคมไปได้หรือไม่
ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ พรรคพลังประชารัฐก็น่าจะมีสภาพที่ลำบากกว่าเก่าและอาจถึงขั้นแพแตก เพราะนึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่ชูพล.อ.ประยุทธ์พรรคนี้จะเอาอะไรมาเป็นจุดขาย
แต่ถึงแม้นว่าจะผ่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้ก็คงจะไม่ง่ายเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพราะถ้าอยู่จนครบสมัยก็เท่ากับพล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจถึง 9 ปี กระแสของความเบื่อหน่ายที่ต้องการเปลี่ยนตัวของประชาชนจะน่ามีมากกว่ากระแสความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเทียบกับเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
นอกจากกระแสของพรรคร่วมรัฐบาลก็ดูจะมีพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวที่น่าจะยังมีคะแนนนิยมดีอยู่ เป็นพรรคที่มีต้นทุนเสบียงคลังมากและสามารถดึง ส.ส.จากต่างพรรคเข้าร่วมอยู่ในชายคาของพรรคได้จำนวนมาก มีการพูดกันว่า ถ้าเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคร่วมรัฐบาลฝั่งนี้ยังคงรวมกันได้เกิน 250 คน พรรคภูมิใจไทยอาจจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่อาจจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็เป็นได้
เพราะรูปทรงของพรรคภูมิใจไทยตอนนี้ต้องถือว่าดีกว่าพรรคพลังประชารัฐที่กำลังจะโรยแรงมาก
แต่หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าฝ่ายไหนจะขึ้นมาสู่อำนาจก็อาจจะมีปัจจัยของความขัดแย้งที่ไม่ต่างกันนัก เพราะถ้าพล.อ.ประยุทธ์ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งเพราะรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 250 คนบวกกับเสียงของ 250 ส.ว.ก็ยิ่งจะทำให้อีกฝ่ายใช้ความไม่ชอบธรรมของบทเฉพาะกาลเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นนายอนุทินกระแสของฝ่ายตรงข้ามก็น่าจะเบาบางกว่า
ในขณะที่ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า จุดมุ่งหมายของพรรคเพื่อไทยนั้นคือการนำทักษิณกลับบ้านหรือไม่ ถ้าใช่ความขัดแย้งก็อาจจะปะทุขึ้นอีก เพราะมองในแง่มุมของกฎหมายปกติ ณ ตอนนี้ไม่มีหนทางที่ทักษิณจะกลับบ้านได้เลย นอกจากทำแบบเดิมอีกคือใช้เสียงข้างมากในสภาฯ ออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรม
หรืออีกทางทักษิณกลับมาแล้วยอมติดคุกจากนั้นก็ทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งหนทางนี้ไม่คิดว่าทักษิณจะเลือก
อีกปัจจัยที่สำคัญอาจเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา ถ้าฝั่งพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลก็คือ จะดึงพรรคก้าวไกลที่มีจุดยืนที่สนับสนุนการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็อาจสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมหรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และระบอบการปกครองที่ไม่มีวันที่ฝ่ายความมั่นคงจะยอมรับได้ เพราะแม้เป็นพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบันพรรคนี้ก็ยังเคลื่อนไหวที่ท้าทายและแหลมคมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาก
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงการส่งสัญญาณถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น ผลลัพธ์ทั้งหมดจะวัดผลกันด้วยการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ยังอยู่ใต้บทเฉพาะกาล
ไม่ว่าอย่างไรดูเหมือนความขัดแย้งแตกแยกไม่น่าจะจบลงโดยง่าย แม้ว่าเราจะอยู่ในหล่มความขัดแย้งมาแล้วเกือบ 2 ทศวรรษก็ตาม
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan