xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑๔ : ปล้นพระคลังข้างที่ ๒๔๗๕ มาแบ่งกันในหมู่คณะราษฎร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


นับจากการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ จนถึงการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๔๗๙ เป็นระยะเวลาประมาณสี่ปี มีเหตุการณ์สำคัญที่พระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถูกปล้นชิงมาแบ่งกันในหมู่คณะราษฎรเป็นอันมาก และมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายดังที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เขียนหนังสือ ศึกชิงพระคลังข้างที่ ๒๔๗๕ จากปล้นพระราชทรัพย์ถึงคดีสวรรคต ร.๘ [1] เอาไว้โดยละเอียดแล้วนั้น

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาศึกชิงพระคลังข้างที่คือสถานะที่ไม่ชัดเจนของพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพราะยังไม่มีกฎหมายมารองรับในระหว่างการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับพระคลังข้างที่มีดังนี้

หนึ่ง ตัดเงินที่รัฐบาลจ่ายให้พระคลังข้างที่จากปีละสิบล้านลงมาเป็นห้าล้านบาท (ก่อน ๒๔๗๕) เพราะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก และเหลือเพียงสี่แสนกว่าบาทต่อปีหลังวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

สอง มีการส่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคือขุนนิรันดรชัย (สเหวก นีลัญชัย) มือขวาของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม มาเป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ และทำหน้าที่ดูแลพระคลังข้างที่ และต่อมาได้รับตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์

สาม มีการนำที่ดินของพระคลังข้างที่มาให้ผู้ก่อการในคณะราษฎรซื้อหรือผ่อนในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดมาก ตัวขุนนิรันดรชัยเองได้ใช้นามผู้อื่นเป็นนอมินีในการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่แปลงงามเป็นจำนวนถึง 90 แปลง ในราคาถูก


สี่ มีการยื่นกระทู้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรต่อรัฐบาลที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีถึงประเด็นการขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกด้วยผ่อนให้กับผู้ก่อการคณะราษฎรเป็นจำนวนมาก โดยรวมถึงจอมพลแปลก พิบูลสงครามด้วยหลายแปลง แต่จอมพลแปลก ได้นำมาคืนก่อนถูกอภิปราย ผู้ดำเนินการอภิปรายคือนายไต๋ ปาณิกบุตร และนายเลียง ไชยกาล สองคนนี้ถูกขุนนิรันดรชัยให้คนอุ้มจากพระที่นั่งอนันตสมาคม รัฐสภาในเวลานั้นไปโยนลงน้ำในบริเวณสระน้ำในสวนอัมพร ในระหว่างที่มีการอภิปราย

นายเลียง ไชยกาล (ซ้าย) และนายไต๋ ปาณิกบุตร สองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ยื่นกระทู้ถามรัฐบาลต่อกรณีศึกชิงพระคลังข้างที่โดยที่คณะผู้ก่อการคณะราษฎรได้แบ่งที่ดินพระคลังข้างที่ขายกันในราคาถูกและราคาผ่อน

บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, ๒๗ กรกฎาคม ๒๓๘o (https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf)
ห้า ผลการอภิปรายและยื่นกระทู้ถามในรัฐสภาในกรณีพระคลังข้างที่นี้อาจจะมีส่วนสร้างความกดดันให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการยิงพระแสงปืนเข้าในพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์บนที่บรรทมเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘

หก ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระองค์ถัดไปคือพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา ถูกผูกอภิปรายโดยนายเลียง ไชยกาลว่าพระคลังข้างที่ซื้อที่ดินจากพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภาในราคาแพงกว่าราคาตลาดมาก ทำให้ต้องทรงลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในที่สุดได้มีการคืนเงินและคืนที่ให้ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภาจึงได้รับการแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรกลับคืนมาดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการดังเดิม

เจ็ด ผลการยื่นกระทู้และอภิปรายในรัฐสภายืดเยื้อยาวนาน และได้อภิปรายกันจนหมดเวลา และได้เลื่อนไปอภิปรายในวันต่อไป แต่นายกรัฐมนตรีคือพระยาพหลพลพยุหเสนาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายได้สอบสวนตามความชอบธรรมและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็ขอลาออกด้วย (ลาออกเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๐ ประกาศลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๘๐)

แปด แรงกดดันเหล่านี้ทำให้รัฐบาลและรัฐสภาต้องออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ๒๔๗๙

เก้า ในที่สุดขุนนิรันดรชัยก็ลาออกจากตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์ไปเป็นนักธุรกิจเต็มตัว โดยเป็นเจ้าของหุ้นส่วนในกิจการธนาคาร กิจการค้าข้าว กิจการประกันภัย จำนวนมาก

ขุนนิรันดรชัยหรือสเหวก นีลัญชัย ค่อยๆ หมดอำนาจลงพร้อมๆ กับการหมดอำนาจของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และเริ่มล้มป่วยด้วยอาการหลอดเลือดสมองจนเป็นอัมพาตทั้งตัว เสียชีวิตลงและทิ้งมรดกในตระกูลนิรันดรชัยซึ่งมาจากการปล้นพระราชทรัพย์จำนวนมากมายมหาศาล ทั้งที่ดินและกิจการต่างๆ และทำให้ลูกหลานในตระกูลนิรันดรชัยมีปัญหาฟ้องร้องมรดกดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้

หมายเหตุ :
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ (๒๕๖๔). ศึกชิงพระคลังข้างที่ ๒๔๗๕ จากปล้นพระราชทรัพย์ถึงคดีสวรรคต ร.๘. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น