xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑๓ : Great depression สู่การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ เมื่อข้าราชการถูกดุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ภาพเหตุการณ์พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ นั้นมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกหรือ Great Depression หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ส่งผลถึงฐานะทางการคลังของรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงแก้ไขปัญหาเหล่านี้อันเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากรัชกาลที่หก ในปี ๒๔๗๓ งบประมาณแผ่นดินขาดดุลมากถึง ๑๘ ล้านบาททำให้มีความจำเป็นต้องดุลข้าราชการบางส่วนออกจากราชการ และลดเงินเดือนข้าราชการ สร้างความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหารและพลเรือนเป็นจำนวนมาก

แม้กระนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังต้องทรงลดงบประมาณพระคลังข้างที่ลงไปเป็นอันมาก ดังที่ชลลดา วัฒนศิริ [1] ได้ศึกษาและพบว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมลดงบประมาณส่วนพระคลังข้างที่ที่รัฐบาลเคยถวายให้ปีละสิบล้านบาทเหลือเพียง หกล้านบาท หรือถูกตัดลงร้อยละ ๓๓ ในขณะที่งบทางการทหารถูกตัดลดลงเพียงร้อยละเก้าเท่านั้น ในปี ๒๔๗๓ พระยาโกมารกุลมนตรี เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ยังขอลดงบประมาณที่ถวายพระคลังข้างที่ลงไปอีกหนึ่งล้านบาท เหลือเพียงปีละห้าล้านบาทและต่อมาถูกลดลงเรื่อย จนเหลือเพียงปีละสี่แสนกว่าบาทนับแต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ การยอมลดเงินพระคลังข้างที่จำนวนมากตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในการที่ทรงเสียสละอันใหญ่หลวงของพระองค์ที่มีต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ และย่อมส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินส่วนพระองค์ตลอดจนการเงินที่ใช้หมุนเวียนในการลงทุนของพระคลังข้างที่เป็นอันมาก

ผลของภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกหรือ Great depression ได้ไปจุดเชื้อไฟเก่าคือกบฏ ร.ศ. ๑๓o [2] ที่เคยเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้วเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ทำให้เกิดการปฏิวัติสยาม ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยคณะราษฎร นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์-หัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน) นายพันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) นายพันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) สี่ท่านหลังนี้คือหัวหน้าคณะราษฎรฝ่ายทหารมีสมญานามว่าสี่ทหารเสือ นอกจากนี้ยังมีนายทหารหนุ่มเข้าร่วมก่อการอีกเป็นจำนวนมากได้แก่ น.ต.หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. (สินธุ์ กมลนาวิน) หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารเรือ น.ต. หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) ร.ท.ขุนนิรันดรชัย (สเหวก นีลัญชัย) รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นต้น [3]

คณะราษฎรได้ก่อการโดยที่ไม่มีกำลังทหารเพียงพอจึงต้องใช้กลอุบาย โดยที่กรมยุทธศึกษาทหารบกได้มีประกาศคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยไปพร้อมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าก่อนเวลา 6 นาฬิกา เพื่อรับการฝึกยุทธวิธีแผนใหม่ อำนวยการฝึกโดยนายพันเอก พระยาทรงสุรเดช อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อยทหารบก ทำให้มีนายทหารและนักเรียนนายร้อยทหารบกทั้งโรงเรียนเข้าร่วมก่อการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ โดยไม่รู้ตัวและไม่มีเจตนาจะเข้าร่วม

นายทหารของคณะราษฎรได้จับกุมพระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญหรือองค์ที่ทรงคุมกำลังทหารไว้เป็นจำนวนมาก และเชิญไปเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม อันประกอบด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น

เมื่อร้อยโทประยูร ภมรมนตรีเดินทางไปจับกุมสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ณ วังบางขุนพรหม กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้ตรัสว่า “แกก็เอากับเขาด้วยหรือ” และ “รอดจากอาญาแผ่นดิน ไม่ถูกตัดหัว แต่จะต้องถูกพวกเดียวกันฆ่าตาย แกจำไว้" ซึ่งก็เป็นความจริงทุกประการที่ต่อมาคณะราษฎรก็ต่างแย่งชิงอำนาจกันเองและต้องไปเสียชีวิตในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคณะราษฎรประณามใส่ร้ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชจักรีวงศ์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ประกาศยึดอำนาจ และหากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงร่วมมือก็จะมีการทำร้ายเจ้านายที่เป็นองค์ประกัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีในเวลานั้น ประทับที่วังไกลกังวล หัวหิน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีและพระองค์เจ้าอาภาพรรณีพระราชมารดาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีกราบทูลสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “เข้าไปตายก็ไม่เป็นไร แต่ต้องมีศักดิ์ศรีมีสัจจะ" ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “ฉันจะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์อันเปื้อนไปด้วยโลหิตมิได้" พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงยอมเสด็จนิวัติพระนครด้วยเรือหลวงสุโขทัยที่คณะราษฎรจัดมาถวาย แต่ทรงเสด็จโดยรถไฟขบวนพิเศษ ถึงสถานีรถไฟหลวงสวนจิตรลดาเวลาประมาณตีหนึ่งเศษของวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕

ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญดังที่ทรงให้ร่างไว้ก่อนแล้วจึงทรงรอมชอมกับคณะราษฎร ด้วยไม่ทรงประสงค์ให้คนไทยต้องมาสู้รบกันเอง และได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ก่อนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในวันที่ ๑o ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงทำให้สยามประเทศเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นไม่ได้ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎรเช่นในปัจจุบันนี้ที่เราเป็นอยู่

การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย เพราะยังไม่มีการออกกฎหมายโดยตรงเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และคณะราษฎรโดยจอมพลแปลก พิบูลสงครามได้ส่งมือขวาของตนคือขุนนิรันดรชัย (เสวก นีลัญชัย) เข้าไปดูแลทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทำให้เกิดการยักยอกคดโกงทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มาแจกจ่ายกันในหมู่ผู้ก่อการคณะราษฎรเป็นอันมากดังจะได้เขียนถึงเรื่องนี้ในตอนถัดไป

นอกจากนี้แล้ว การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ก็เป็นเหตุที่มีนักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่าทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถูกยึดเป็นของรัฐจนหมดสิ้นแล้วโดยสมบูรณ์ คือ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้โพสต์เอาไว้ดังนี้

###############


เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กษัตริย์ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐหรือองค์อธิปัตย์อีกต่อไป ทรัพย์สินทั้งหลายที่ได้มาด้วยกลไกอำนาจ “รัฐ” จึงต้องถูกโอนย้ายมาอยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน


จริงๆ ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสำนักงานทรัพย์สินฯ ต้องเรียกร้องให้กลับไปสู่สถานะก่อนรัฐประหาร 2490 ไม่ใช่ก่อนจะมีการออก พรบ. 2561 ด้วยซ้ำ

https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/posts/3775797299137668

###############

อย่างไรก็ตามปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ไม่ใช่ปฏิวัติคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ปฏิวัติบอลเชวิคไม่มีการยึดทรัพย์ของประชาชนมาเป็นของรัฐ ไม่มีการล้มล้างราชวงศ์จักรี และไม่มีการยึดพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดิน กรรมสิทธิ์และหลักกรรมสิทธิ์ยังคงอยู่ ประชาชนยังคงถือครองทรัพย์สินได้ตามปกติ ไม่ได้ยึดที่ดินหรือทรัพย์สินมาเป็นของรัฐแต่อย่างใด แต่มีการลิดรอนพระราชอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลิดรอนพระราชอำนาจในการบริหารและการใช้จ่ายพระราชทรัพย์

หมายเหตุ:
[1] ชลลดา วัฒนะศิริ. (๒๕๒๙). พระคลังข้างที่กับการลงทุนธุรกิจในประเทศ พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๗๕. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
[2] อ่านรายละเอียดได้จาก แถมสุข นุ่มนนท์. (2565). ยังเติร์กรุ่นแรก กบฏ ร.ศ.๑๓o. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แถมสุข นุ่มนนท์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แสงดาว.
[3] อ่านรายละเอียดได้จาก แถมสุข นุ่มนนท์. (2565). ละครการเมือง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. แถมสุข นุ่มนนท์. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์แสงดาว.


กำลังโหลดความคิดเห็น