ในที่สุดการคำนวณบัญชีรายชื่อก็กลับไปหารด้วย 500 แบบการเลือกตั้งปี 2562 คือ เอาคะแนนบัญชีรายชื่อแต่ละพรรคมารวมกันแล้วเอา 500 หารเพื่อหาคะแนนพึงมีของจำนวน ส.ส.ว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งจะมีกี่คะแนน แล้วกำกับว่า แต่ละพรรคจะมี ส.ส.เกินจำนวนพึงมีไม่ได้
พูดง่ายๆ ว่าจะกลับไปคิดแบบเลือกตั้งปี 2562 ต่างกันแต่ครั้งนั้นมีบัตรใบเดียว แล้วเอาคะแนนที่ ส.ส.เขตแต่ละคนได้รับมารวมกันเป็นคะแนนพรรค แต่ครั้งนี้จะใช้บัตรสองใบคือเลือก ส.ส.เขตใบหนึ่ง และเลือกบัญชีรายชื่อหรือเลือกพรรคอีกใบหนึ่ง
เป้าหมายสำคัญของการเปลี่ยนสูตรคำนวณกลับมาหาร 500 ก็คือ การสกัดกั้นการแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยนั่นเอง
การเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่หารด้วย 500 นั้นมีค่าคะแนนพึงมีคือ 70,000 คะแนนต่อ 1 ที่นั่ง เมื่อเอาคะแนนรวมเพื่อไทยมารวมแล้วหารด้วย 70,000 เพื่อไทยก็ได้ ส.ส.เกินที่ตัวเองพึงมีไปแล้วจึงไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่ที่นั่งเดียว
จริงๆ เลือกตั้งครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยก็รู้นะว่าอาจจะเกิดสถานการณ์แบบนั้น (อาจหวังว่าจะได้บ้าง) เพื่อไทยจึงแตกพรรคออกเป็น 2 พรรคคือ พรรคไทยรักษาชาติ เพื่อหวังว่าพรรคนี้จะเก็บ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ โดยเขตที่เพื่อไทยไม่มีหวังแบบ 100% พรรคเพื่อไทยจะไม่ส่ง แต่ส่งพรรคไทยรักษาชาติไปลง (มีบางเขตที่ตกลงกันไม่ได้ก็ชนกันเองบ้างแต่น้อยมาก) เพื่อให้ไทยรักษาชาติเอาคะแนนไปรวมเพื่อหวังบัญชีรายชื่อ แต่สุดท้ายพรรคถูกยุบ ผลดีเลยไปตกกับพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้น
เมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญกลับไปเป็นบัตร 2 ใบ ก็ควรจะกลับไปใช้แบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 คือ พรรคไหนได้คะแนนเยอะก็ได้บัญชีรายชื่อเยอะไปด้วยโดยเอาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ 100 มาหาร ไม่มีการเขียนกำกับไว้แต่ละพรรคจะมี ส.ส.เกินคะแนนพึงมีไม่ได้
ถ้าเป็นไปตามฝ่ายที่ต้องการให้หารด้วย 100 หากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งประมาณ 50 ล้านเสียง แล้วมีคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งโดยเฉลี่ยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ คือ 35 ล้านคน เมื่อนำตัวเลขมาคำนวณจะเท่ากับว่า พรรคการเมืองที่จะได้บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งต้องได้ 350,000 คะแนน แต่จะไม่กำกับว่า แต่ละพรรคจะมี ส.ส.เกินจำนวนพึงมีไม่ได้ คือ ใครได้คะแนนพรรคเยอะก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเยอะแบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550
ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงต้องการสูตรนี้ เพียงแต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทำไมพรรคพลังประชารัฐจึงเลือกแบบบัตรสองใบด้วยในตอนแรกทั้งที่เข้าทางพรรคเพื่อไทย กระทั่งเขาลือกันว่า เพราะมีบางคนไปตกลงกับทักษิณเอาไว้
หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าตอนนั้น พรรคพลังประชารัฐยังไม่มีความแตกแยก และมั่นใจในคะแนนนิยมของพรรคที่ชนะเลือกตั้งซ่อมหลายเขต ก็เลยคิดว่าตัวเองจะเป็นพรรคใหญ่ที่ได้คะแนนเยอะ ดังนั้นน่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเยอะตามมาด้วย แต่ถึงตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว พรรคพลังประชารัฐมีความแตกแยกคะแนนนิยมของพรรคก็ตกต่ำลงไปพร้อมกับกระแสนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ตกต่ำลงเช่นกัน
แต่การหารด้วย 100 ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา การหารด้วย 100 จะไม่มีคะแนนพึงมี เพราะถ้า 1 ที่นั่งเท่ากับ 350,000 คะแนน พรรคที่ได้คะแนน 1 ล้านก็จะได้ประมาณ ส.ส. 3 ที่นั่งเท่านั้น สมมติพรรคเพื่อไทยได้ 12 ล้านก็จะมีคะแนนตาม ส.ส.พึงมีเพียง 36 ที่นั่ง แต่แน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยต้องได้ ส.ส.เขตเกินนั้นไปมากแล้วจึงไม่มีสิทธิ์ได้บัญชีรายชื่ออีก ส่วนพรรคเล็กมีไม่กี่พรรคที่จะได้คะแนนถึง 350,000 คะแนน ครั้งที่แล้วที่ได้ ส.ส.กัน 1 ที่นั่งก็ได้กันเพียง 30,000-40,000 คะแนนเท่านั้น
เมื่อการหารด้วย 100 ไม่มีคะแนนพึงมีก็อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านสภาฯ ซึ่งเป็นร่างของพรรคประชาธิปัตย์นั้น เสนอแก้เพียง 3 มาตราคือ มาตรา 83 ที่แก้จากจำนวน ส.ส.เขต 350 เป็น 400 และแก้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 150 เหลือ 100 มาตรา 86 เรื่องการกำหนดจำนวน ส.ส. และมาตรา 91 ที่เป็นวิธีการคิดคะแนนบัญชีรายชื่อ แต่ในมาตราอื่นที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้แก้ยังมีคำว่า ส.ส.พึงมีอยู่ เช่น มาตรา 93 และ 94
เมื่อกลับมาหารด้วย 500 ก็ทำให้เส้นทางแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยยากขึ้นเพราะอาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยเหมือนครั้งที่แล้ว แต่ก็สุ่มเสี่ยงว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญตามหลักการที่ยื่นแก้ไขไว้ในมาตรา 83 มาตรา 91 เช่นกัน
สรุปคือไม่ว่าจะหารด้วย 100 หรือ 500 ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้งสองทาง
จริงๆ แล้วข้อดีของการหารด้วย 500 แบบการเลือกตั้งครั้งที่แล้วคือทำให้ทุกคะแนนมีคุณค่าไม่ตกน้ำ แต่ครั้งที่แล้วหลายคนมองว่ามีปัญหาเพราะวิธีคิดคะแนนของ กกต.ที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะ กกต.ทำให้หลายพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าพึงมีได้เป็น ส.ส.ปัดเศษ และทำให้แต่ละพรรคมีฐานคะแนนพึงมีที่แตกต่างกัน
คะแนนพึงมีครั้งที่แล้วประมาณ 70,000 คะแนนต่อ 1 ที่นั่ง แต่กลายเป็นว่า กกต.ทำให้พรรคที่มีคะแนนเพียง 3-40,000 คะแนนหรือต่ำกว่า 70,000 ได้ ส.ส.ไปหลายพรรคละ 1 ที่นั่ง และทำให้หลายพรรคได้จำนวน ส.ส.ต่ำกว่าที่ควรได้
การพลิกกลับมาใช้สูตร 500 หารจึงเป็นการเอาใจพรรคเล็กที่สนับสนุนรัฐบาลนั่นเอง
โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกพรรคร่วมรัฐบาลไปคุยเมื่อเย็นวันอังคารที่ผ่านมา ในตอนแรกพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนยันจะใช้หาร 100 แต่พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า “ส่วนตัวเห็นด้วยกับสูตรหาร 500 และไม่ว่าจะออกเป็นสูตรไหนเราก็ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความอยู่ดี ก็ขอให้คุยกันมาแล้วกัน” กระทั่งเมื่อแนวโน้มของการหารือส่วนใหญ่เอนเอียงไปที่สูตรหาร 500
ทำให้ พล.อ.ประวิตร มีท่าทีอ่อนลง พร้อมตอบกลับทำนองว่า จะเอาอย่างไรก็ว่ากัน
ถึงตอนนี้อาจจะคิดว่าสถานการณ์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยก็ยากขึ้น เพราะถ้าจะแลนด์สไลด์ตามเป้าหมายก็ต้องหวังพึ่ง ส.ส.เขตอย่างเดียว ซึ่งน่าจะยากมากที่จะทำได้ เราต้องดูว่าทักษิณจะแก้เกมแบบการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือ การแตกพรรคหรือไม่
เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยแตกพรรค และส่ง2พรรคลงทั้ง400เขตเลย แล้วรณรงค์ให้แบบเขตเลือกเพื่อไทย แบบพรรคเลือกพรรคสำรอง ก็แลนด์สไลด์ได้นะ
ขณะเดียวกันหาร500แบบบัตรสองใบก็จะเข้าทางพรรคก้าวไกลด้วย เพราะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีโอกาสได้ที่สองในหลายเขต หรือมวลชนฝั่งเดียวกันก็อาจจะเลือกลงเขตพรรคเพื่อไทยแล้วลงบัตรพรรคให้ก้าวไกลได้
ซึ่งคงต้องจับตาดูว่า เมื่อสถานการณ์พลิกกลับไปเป็นแบบนี้ และหากสูตรหาร 500 ผ่านศาลรัฐธรรมนูญไปได้ ทักษิณจะแก้เกมอย่างไร
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan