xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.สภาฯแนะ กสทช.ต้องมีมาตรการเพื่อผู้บริโภคก่อนควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สภาฯ” เชิญผู้เกี่ยวข้องแจงปมควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” รุมซักอำนาจ กสทช.พิจารณาความเหมาะสม ชี้หากไม่มีมาตรการรองรับผู้บริโภคอาจเข้าข่ายละเว้นหน้าที่

วันนี้ (6 ก.ค.65) นายมานะ โลหะวณิชย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค (กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค) สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนที่เกี่ยวข้องเข้าหารือติดตามความคืบหน้ากรณีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดย ประธาน กมธ.แจ้งว่า ในส่วนของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือ เอไอเอส ได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ขณะที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำหนังสือการไม่เข้าชี้แจงมายัง กมธ. เช่นเดียวกับ ทรู และ ดีแทค โดยระบุเหตุผลว่า "บริษัททั้งสองยังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาและหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ และหลายๆปัจจัยที่ยังมีความละเอียดอ่อนสูงซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการวิเคราะห์และพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ"

ในระหว่างการหารือ กมธ.ได้พยายามตั้งคำถามตัวแทนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ถึงอำนาจในการพิจารณาการควบรวมกิจการ และความเหมาะสมของการควบรวม

โดยนายคณพล ตุ้ยสุวรรณ ที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า การควบรวมของ 2 บริษัท ถือเป็นการควบรวมครั้งใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย ที่มีมูลค่าถึง 217,000 ล้านบาท และหากทั้ง 2 บริษัทรวมกันแล้วจะสามารถทำกำไรได้ถึงปีละ 83,000 ล้านบาท อาจมีผลกระทบไปถึง GDP รายได้ต่างๆของประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่า การควบรวมจะกระทบต่อส่วนแบ่งการตลาด 52% นำไปสู่การกระจุกตัว เกิดค่าดัชนี HHI 5,102 เพิ่มจาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่าเป็นการกระจุกตัวอย่างมหาศาล เลยไปสู่การมีอำนาจเหนือตลาด และกำลังจะแตะระดับการผูกขาดแล้ว ในขณะที่รัฐและผู้เสียภาษีจะได้รับประโยชน์อย่างไร และมีการมองกันว่าในการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่อาจทำให้รัฐจะเสียประโยชน์ โดยจากการศึกษาในต่างประเทศว่า ในประเทศที่มี 4 บริษัทจะได้ภาษีมากกว่าประเทศที่มี 3 บริษัท ในขณะที่ไทยจาก 3 บริษัทเหลือ 2 บริษัท ยิ่งจะทำให้รัฐเสียเปรียบ 

มานะ โลหะวณิชย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค (กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค) สภาผู้แทนราษฎร
โดย ตัวแทน กสทช. ชี้แจงยืนยันว่า กสทช.มีอำนาจหน้าที่ดูแลมิให้เกิดการผูกขาด เป็นไปตามพรบ.กสทช. แต่ส่วนประเด็นการควบรวมได้ขอเวลาในการพิจารณา ซึ่งทำให้กมธ.ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กสทช.มีการพิจารณามา 4-5 เดือน แต่ทำไมจึงยังไม่มีคำตอบให้กับสังคม และมีลางสังหรณ์ว่า จะปล่อยให้เกิดการควบรวมโดยไม่กำหนดมาตรการใดๆเพื่อผู้บริโภคซึ่งอาจเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้

ด้านตัวแทน บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ยืนยันว่า การอนุญาตควบรวมหรือไม่ เป็นอำนาจของ กสทช. โดยเอ็นทีได้ใช้สิทธิ์ให้ความเห็นแล้ว รวมถึงยังได้มีการศึกษาภาพรวมถึงผลกระทบต่อการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะกระทบตั้งแต่ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ให้บริการในปัจจุบัน ซึ่งหากการควบรวมกิจการสำเร็จบริษัทใหม่จะมีส่วนแบ่งตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด คือ 54% และจากการวิจัยค่าดัชนี้ HHI ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ เท่ากับ 3,624 ซึ่งสูงกว่า 1,800 แต่หากการควบรวมกิจการสำเร็จ ค่า HHI จะเท่ากับ 5,032 หรือ เพิ่มขึ้น 1,408 เท่ากับว่าจะเกิดการปิดกั้นการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่อย่างมีนัยสำคัญ เพราะสภาพตลาดไม่เอื้อต่อการแข่งขันอีกต่อไป อีกทั้งอาจนำไปสู่การปิดกิจการของผู้ประกอบการรายเล็กเดิมในตลาดด้วย รวมทั้ง MVNO ต้องปิดกิจการลง ดังนั้นแน่นอนว่าผู้บริโภคในอนาคตจะขาดทางเลือก ประสิทธิภาพใช้งานจะลดลง การติดต่อศูนย์บริการจะแออัดมากขึ้นเพราะมีการปิดตัวลงบางศูนย์เพื่อลดต้นทุน และคาดเดาว่ามีค่าบริการที่สูงขึ้น เพราะไม่มีความจำเป็นต้องออกราคาแข่งขันโปรโมชั่น และนวัตกรรมใหม่ๆ ลตลง จากเดิมที่มีการออกบริการใหม่ๆ ที่สร้างความแตกต่างไม่ซ้ำกันจากผู้ให้บริการ 3 ราย.
กำลังโหลดความคิดเห็น