หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเอง แต่ข่าวนี้ถูกปฏิเสธในเวลาต่อมา โดยคุณไพบูลย์ นิติตะวัน มือขวาของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว และบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมจะเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคมากกว่า
เท่ากับเป็นคำตอบว่า ณ เวลานี้ตัวเลือกของพรรคพลังประชารัฐยังคงเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคงต้องมีเงื่อนไขว่า พล.อ.ประยุทธ์จะผ่านศาลรัฐธรรมนูญในการดำรงวาระครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคมหรือไม่ แต่ถ้าผ่านได้นั่นแปลว่าเป้าหมายของพล.อ.ประยุทธ์คือ ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 13 ปี เพราะถ้าอยู่จนครบสมัยนี้ก็จะเป็นนายรัฐมนตรีครบ 9 ปี
หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับพล.อ.ประยุทธ์ไม่ยี่หระอารมณ์เบื่อของสังคมไทยเลย หรือไม่ก็มั่นใจว่า ตัวเองยังมีความนิยมที่มากพอ
ทำไมพล.อ.ประยุทธ์จึงเชื่อเช่นนั้นความนิยมของพล.อ.ประยุทธ์ หลังบริหารประเทศครบ 9 ปีจะยังมีอยู่หรือ
ถ้าเราย้อนไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เมื่อพิจารณาสองขั้วการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย พบว่า จะมีฐานเสียงที่ใกล้เคียงกัน ฝั่งอนุรักษนิยม พรรคพลังประชารัฐได้ 8,441,274 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 3,959,358 คะแนน รวมกันเท่ากับ 12,400,632 คะแนน
ถ้ารวมพรรคภูมิใจไทยที่ได้ 3,734,459 คะแนนมาอยู่ฝั่งอนุรักษนิยมก็จะได้ 16,135,127 คะแนน แต่ส่วนตัวผมคิดว่า พรรคภูมิใจไทยพร้อมจะพลิกไปอยู่ข้างไหนก็ได้ทั้งนั้น แม้มีคนบอกว่าทักษิณจะไม่เอาพรรคภูมิใจไทยมาร่วมรัฐบาล แต่การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรถึงเวลาก็อยู่ที่ว่าผลประโยชน์จะลงตัวไหม
ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 7,881,006 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ได้ 6,330,617 คะแนน รวมกันได้ 14,211,623 คะแนน
ถ้าดูฐานเสียงคะแนนเดิมจะเห็นว่าฝ่ายไหนพลิกมาตั้งรัฐบาลก็ได้ทั้งนั้น แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเปลี่ยนไปก็คือ มีคนรุ่นใหม่เพิ่มเข้ามาอีกจำนวนมากคือ คนอายุ 18-22 ปีที่จะเลือกตั้งครั้งแรก การเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นคาดกันว่าคนรุ่นใหม่จะเทคะแนนให้กับพรรคอนาคตใหม่ ก็คงคาดการณ์ได้อีกว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็จะเทคะแนนให้กับพรรคที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย
ดังนั้นถ้าดูตรงนี้จะเห็นว่า เสียงที่จะชี้ขาดก็คือ เสียงของคนรุ่นใหม่นั่นเอง นั่นแสดงว่าสมการของฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะมีแต้มต่อที่เหนือกว่า
เราอาจบอกว่าแต้มต่อของพล.อ.ประยุทธ์ก็คือ 250 ส.ว. แต่ผมคิดว่า ณ วันนี้ ไม่สามารถครอบครอง 250 ส.ว.ได้ทั้ง 250 คนแล้ว ตัวแปรที่จะตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คือ ฝั่งไหนสามารถรวบรวมส.ส.ได้เกิน 250 คนก่อน แม้ว่ากึ่งหนึ่งของสองสภาจะเท่ากับ 376 คน แต่ผมคิดว่า ถ้าฝ่ายไหนรวบรวมส.ส.ได้เกิน 250 คน 250 ส.ว.ก็ไม่น่าจะสนับสนุนให้ฝ่ายเสียงข้างน้อยเป็นรัฐบาล เพราะฝ่ายเสียงข้างน้อยแม้จะรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภาได้ แต่จะบริหารประเทศไม่ได้ เพราะจะมีเสียงในสภาผู้แทนที่น้อยกว่า
แล้วคำถามว่า พรรคพลังประชารัฐจะได้ส.ส.เท่าเดิมอีกไหม ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจของคสช. พรรคพลังประชารัฐได้รับเลือกตั้งเข้ามา 97 คน และวันนี้ส่วนหนึ่งก็แยกตัวไปอยู่กับธรรมนัส พรหมเผ่าที่พรรคเศรษฐกิจไทยแล้ว ในขณะที่ครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยแม้จะส่งเพียง 200 เขตก็ได้รับเลือกตั้งมาถึง 136 คน ซึ่งยังได้รับเลือกตั้งมากที่สุดแม้ผิดพลาดจากการแตกพรรคไทยรักษาชาติและถูกยุบพรรคก็ตาม
และในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นพรรคเลือกตั้งแบบ 2 ใบ แล้วมีแนวโน้มว่าคะแนนบัญชีรายชื่อจะถูกหารด้วย 100 หากเป็นเช่นนั้น พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งระดับพื้นที่เยอะก็จะได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเยอะตามมาด้วย
เมื่อดูสภาพแวดล้อมของการเลือกตั้งครั้งหน้าก็เกิดคำถามว่า คะแนนของพล.อ.ประยุทธ์ที่ผ่านไป 9 ปีจะเหลืออยู่เท่าไหร่ พรรคพลังประชารัฐจะมีคนไหลออกอีกหรือไม่ เมื่อไม่มีแรงกดดันจากกองทัพแล้ว จะมีส.ส.พรรคพลังประชารัฐเข้าสภามาได้กี่คน
แน่นอนว่าคู่แข่งของพล.อ.ประยุทธ์จากยุคเบบี้บูมในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะเป็นอุ๊งอิ๊ง แพรทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล สองคนรุ่นเจนเนอเรชั่น Y จะดูเป็นการแข่งขันของคนต่างยุคต่างสมัยที่มีภาพตัดกันอย่างแท้จริง ยังไม่นับคนที่ถูกเอามาเปรียบกับพล.อ.ประยุทธ์อย่างชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
ถามว่า การมองเช่นนี้ไม่มองถึงพรรคภูมิใจไทยเลยหรือ เพราะเป็นพรรคที่น่าจะกวาดต้อนอดีตส.ส.เข้ามาร่วมพรรคได้ และเป็นพรรคที่น่าจะมีกระสุนเสบียงคลังมาก แต่ส่วนตัวผมกลับมองว่า ยากมากที่พรรคภูมิใจไทยจะชนะพรรคเพื่อไทยเพื่อเป็นพรรคเสียงข้างมากได้ แต่อย่างไรไม่ว่าฝ่ายไหนจะมาเป็นรัฐบาล ก็เชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยจะเข้าร่วมรัฐบาลด้วย
แม้จะมีคนจำนวนมากยังฝากความหวังไว้กับพล.อ.ประยุทธ์ และ 8 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ก็มีผลงานไม่น้อย แต่ผมคิดว่ายากมากที่พรรคพลังประชารัฐจะรักษาเสียงส.ส.เอาไว้แม้จะปริมาณเท่าเดิมก็ตาม หรือต่อให้ 3 พรรคหลักร่วมรัฐบาลตอนนี้จะเกาะกันเหนียวแน่นทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ผมก็ไม่คิดว่า 3 พรรคนี้จะรวมเสียงกันได้เกิน 250 คน
เพราะนอกจากจะมีเสียงของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มเข้ามาชี้ขาดแล้วเชื่อว่า เสียงของคนกลางๆ ที่เห็นศักยภาพอันจำกัดของพล.อ.ประยุทธ์ และพลังเบื่อของสังคมไทยและคนไทยที่เบื่อง่ายนี่แหละที่จะเป็นตัวตัดสินผู้ชนะ
แต่คำถามว่า ถ้าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์มาเป็นตัวชูโรงในการเลือกตั้งครั้งหน้า แล้วจะมีใครในฝ่ายอนุรักษนิยมที่จะยกมาประชันขันแข่งได้คำตอบยังไม่เห็นเลยว่าจะมีใครมาแทนที่พล.อ.ประยุทธ์ได้ และจากสถานการณ์การเคลื่อนไหว ณ ตอนนี้ก็มองเห็นแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐน่าจะดันพล.อ.ประยุทธ์กลับมาสู้อีกคำรบแน่ๆ
แล้วเมื่อดูอินฟูเอนเซอร์และบรรดาเซเลบฯ ของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ลุงตู่ก็ยังคงฝากความหวังไว้กับพล.อ.ประยุทธ์คนเดียว เพราะนอกจากพล.อ.ประยุทธ์แล้วก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าใครจะมาแทนได้นั่นเอง หรือถ้าคิดว่ามีก็ลองเอ่ยชื่อมาสักคน
ผมเชื่อว่าคอการเมืองน่าจะมองออกแล้วว่า ผลครั้งหน้าจะจบลงอย่างไร จะเป็นไปตามเสียงข่มขู่ฟอดๆ ของทักษิณและพรรคเพื่อไทยหรือไม่ว่า พวกเขาจะแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่เราก็มองไม่เห็นปัจจัยบวกจากฝั่งรัฐบาลตอนนี้เลยว่า จะถือแต้มต่อพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่เปลี่ยนไปทั้งภูมิศาสตร์ทางการเมือง สถานภาพของประชากร และระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ
พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ก็ไม่น่าจะใช่พรรคที่จะจับมือกันเหนียวแน่นและพร้อมจะร่วมหอลงโรงกันไปตลอด เพราะถึงเวลาเราก็เห็นแล้วว่ามีพรรคไหนบ้างที่รู้ว่าเป็นฝ่ายค้านแล้วอดอยากปากแห้ง หลายคนมองไปด้วยซ้ำว่า พรรคพลังประชารัฐที่มีพล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ไหม
เพราะโดยความเห็นส่วนตัวผมตัดพรรคก้าวไกลออกไปจากพรรคร่วมรัฐบาลแล้วไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ตาม เพราะสิ่งที่พรรคก้าวไกลเคลื่อนไหวนั้นมันท้าทายสภาพของสังคมไทยมากเกินไป
สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยม คิดว่า ทางออกที่ดีกว่าพล.อ.ประยุทธ์นั้น ถึง ณ ตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็น แต่ถ้าจะดันพล.อ.ประยุทธ์ออกมาสู้อีกคิดว่าก็ยากจะชนะได้ คิดในใจว่า บางทีถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้เสียในเดือนสิงหาคมนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ดำรงวาระครบ 8 ปีตามรัฐธรรมนูญแล้วไม่สามารถเป็นต่อได้อีก นั่นก็อาจจะเป็นทางออกของฝ่ายอนุรักษนิยมก็ได้ว่า จะต้องหาทางดันใครที่จะไปต่อให้กับฝ่ายตัวเองที่ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป
แต่ดูไปแล้วสุดท้ายความหวังของฝ่ายอนุรักษนิยมก็คงต้องฝากไว้กับลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานี่แหละ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan