วิกฤตเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายเกินตัว ก่อหนี้เกินกำลังการใช้คืน กำลังเขย่าความอยู่รอดของ 3 ประเทศในชมพูทวีป ซึ่งปัจจุบันยังหาทางออกไม่ได้ง่าย เมื่อหนี้มหาศาลสร้างเงื่อนไขให้กับผู้ให้กู้หลัก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และชาติเจ้าหนี้
เริ่มจากศรีลังกา ลามไปปากีสถานและเนปาล วิกฤตหนี้และการขาดเงินตราสกุลประเทศเพื่อนำเข้าสินค้าและชำระหนี้ ทำให้หมดสภาพและอำนาจต่อรอง เพราะไอเอ็มเอฟตั้งเงื่อนไขเข้มงวด ต้องให้รัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นด้วย
เมื่อบากหน้าไปกู้เงินจากชาติอื่นๆ ก็โดนเงื่อนไขย้อนว่าจะปล่อยกู้ให้ก็ต่อเมื่อไอเอ็มเอฟให้กู้เงินแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ ศรีลังกาและปากีสถานต้องยอมกลืนเลือด หันไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้รายใหญ่ นั่นคือจีน ขอเงื่อนไขผ่อนปรน แต่ก็ไม่ง่าย
ศรีลังกามีประชากร 22 ล้านคน มีหนี้ต่างประเทศ 5.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงการใหญ่ทั้งท่าเรือและสาธารณูปโภค เจ้าหนี้รายใหญ่สุดคือญี่ปุ่นตามมาด้วยจีนด้วยยอดหนี้ 1.2 หมื่นล้าน และ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ตามลำดับ
วันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโทนี บลิงเคน ประกาศว่าจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือศรีลังกา แต่ยังไม่บอกว่าจะช่วยเหลืออย่างไร โอกาสที่จะฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้ยากเมื่อมีหนี้สินมากเกินตัว โอกาสสร้างรายได้มีน้อย
ปากีสถานมีหนี้ต่างประเทศรวม 2.49 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งสองประเทศมีปัญหาการเมือง ประชาชนเดินขบวนในศรีลังกาขับไล่ผู้นำประเทศเมื่อเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมัน อาหาร ยารักษาโรค และสินค้าอุปโภคที่นำเข้าจากต่างประเทศ
รัฐบาลศรีลังกาภายใต้นายกฯ รานิล วิกรมสิงเห ได้พยายามฟื้นฟูความน่าเชื่อถือจากนานาชาติ พยายามขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ 5 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้เพื่อใช้หนี้ที่ครบกำหนดแล้วส่วนหนึ่งแต่เลื่อนการใช้คืน และนำเข้าสินค้าจำเป็น
ศรีลังกายังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมันไม่ได้ ต้องปันส่วนใช้ แต่ยังไม่พอ
รัฐบาลได้ประกาศให้ข้าราชการซึ่งมี 1 ล้านคน ได้หยุดวันศุกร์เพื่อปลูกพืชผักในพื้นที่ของตัวเองให้เป็นอาหาร ให้ชาวนาเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวเพราะเชื่อจะเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั่วโลกเพราะสงครามยูเครน-รัสเซีย คน 1.6 พันล้านจะขาดอาหาร
ศรีลังกามีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ส่วนนี้หายไปเหมือนประเทศอื่นๆ เมื่อทั้งโลกเผชิญวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทุกวันยังมีผู้ติดเชื้อ 3-5 แสนรายทั่วโลก รายได้จากการส่งออกใบชาไม่สามารถช่วยให้ประเทศมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้
รัฐบาลตระกูลราชปักษากู้เงินอย่างหนัก ริเริ่มโครงการใหญ่เกินตัว ทำให้ติดอยู่ในกับดักหนี้ เมื่อโครงการพัฒนาท่าเรือขนาดใหญ่ได้ร่วมมือกับรัฐบาลจีน
ชาวศรีลังกายากจนสุดๆ รัฐบาลพยายามไม่ให้เกิดจลาจลเพราะปัญหาความอดอยากขาดแคลนนอกเหนือไปจากการขับไล่รัฐบาลก่อนหน้านี้ จนมีนายกฯ คนใหม่
ก่อนหน้านี้รัฐบาลศรีลังกาได้สั่งห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง เมื่อเกิดวิกฤตเงินเฟ้อ ค่าเงินรูปีลดลง ราคาสินค้าเดือนที่ผ่านมาสูงขึ้น 57 เปอร์เซ็นต์ อัตราเงินเฟ้อสูง รัฐบาลใหม่สั่งยกเลิกการห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมี
วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาเลวร้ายที่สุดใน 70 ปีตั้งแต่ได้อิสรภาพในปี 1948
เนปาลต้องประกาศงดนำเข้าสินค้าหลายประเภทเพื่อลดการใช้จ่ายเงินสกุลต่างประเทศที่มีอยู่จำกัด เหลือพอใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าไม่กี่เดือนเท่านั้น ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวก็ไม่เหลือเพราะปัญหาการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน
แต่สถานการณ์ยังไม่รุนแรงเท่ากับศรีลังกาและปากีสถาน อินเดียซึ่งเป็นประเทศที่เป็นพี่เอื้อยในชมพูทวีปได้พยายามช่วยเหลือทั้งศรีลังกาและเนปาล ด้านเครดิตในการซื้อน้ำมัน สินค้าจำเป็น แต่ก็ยังไม่พอ ปากีสถานยังรอการพึ่งไอเอ็มเอฟ
ปากีสถานมีประชากร 220.9 ล้านคน ปัญหาทางการเมืองซ้ำเติมวิกฤตหนี้
รัฐบาลปากีสถานได้ลงทุนร่วมกับจีนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมาก และเจ้าหนี้รายใหญ่คือจีนจากโครงการดังกล่าว มีเงื่อนไขเข้มงวดที่รัฐบาลปากีสถานได้พยายามขอผ่อนปรนแต่ยังไม่สำเร็จ
ล่าสุด รัฐบาลปากีสถานได้ขอร้องให้ประชาชนลดการดื่มน้ำชาลงคนละ 1-2 ถ้วยแต่ละวันเพื่อสงวนเงินตราต่างประเทศที่มีเหลือเพียง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพียงพอสำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพียง 2 เดือน และยังต้องใช้หนี้
หนี้มหาศาลถูกพอกพูนมาโดยรัฐบาลก่อนหน้านี้ ล่าสุดนายเชบาซ ชารีฟได้เป็นนายกฯ หลังจากนายอิมราน ข่านถูกออกโดยการโหวตไม่ไว้วางใจในสภาฯ
คำขอร้องให้ลดการดื่มชาสะท้อนให้เห็นวิกฤตที่ลามเข้าไปทุกครัวที่ฐานะไม่ดี ปากีสถานเป็นชาติที่นำเข้าชามากที่สุดในโลก มูลค่ารวม 600 ล้านดอลลาร์แต่ละปี ชาเป็นเครื่องดื่มสำคัญของประเทศในชมพูทวีปแต่มีปลูกชาได้คืออินเดีย ศรีลังกา
ห้างร้านต่างๆ ถูกขอให้ปิดในเวลา 20.30 น. เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า เดือนที่ผ่านมาก็สั่งลดการนำเข้าสินค้าหลายรายการเพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศ รัฐบาลยังเผชิญแรงกดดันจากนายอิมราน ข่าน ซึ่งนำมวลชนเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
ปากีสถานจึงเผชิญวิกฤตทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการก่อการร้าย เพราะมีการก่อการร้ายหลายกลุ่ม รวมทั้งตอลิบาน ไอซิส และชนเผ่าต่างๆ ติดอาวุธ
วิกฤตที่เกิดขึ้นใน 3 ประเทศ รุนแรงต่างกัน แต่มีปัญหามาจากหนี้เกินกำลัง ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ เงินเฟ้อสูง ความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนยากจนที่เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 วิกฤตทั้งหมดลามไปทั่วโลก