เมื่อพูดถึงปัญหาที่คน กทม.เผชิญมาตลอดเป็นเวลานาน ทั้งๆ ที่ กทม.ได้มีผู้ว่าฯ ผ่านมาแล้วหลายคน ทุกคนล้วนแล้วแต่ทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปโดยสิ้นเชิง และป้องกันมิให้เกิดขึ้นอย่างถาวร
ปัญหาที่ว่านี้ก็คือ
1. น้ำท่วมขังเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีฝนตกหนักในฤดูฝน หรือแม้กระทั่งมิใช่ฤดูฝนแต่เกิดฝนหลงฤดูน้ำก็ท่วม
โดยปกติแล้วน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ก็ต่อเมื่อน้ำ 4 ประเภทมาเจอกันคือ
1.1 น้ำฝน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกฤดูฝน มากบ้างน้อยบ้างในแต่ละปี
1.2 น้ำเหนือคือน้ำฝนที่ตกปริมาณมากในภาคเหนือ และไหลผ่านลงมาผ่านแม่น้ำสายต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในปีที่ฝนตกหนักมีปริมาณมากเกินความจุของเขื่อน ต้องปล่อยลงมาเพื่อรักษาตัวเขื่อน
1.3 น้ำทิ้งจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้น้ำปริมาณมาก ก็จะถูกปล่อยลงท่อระบายน้ำผสมกับน้ำฝน และน้ำเหนือที่ไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่รอบในทางท่อระบายน้ำที่ต่อเชื่อมกับแม่น้ำ และไหลบ่าคันกั้นน้ำเข้ามา
น้ำทิ้งถึงแม้จะมีปริมาณไม่มากเท่ากับน้ำฝน และน้ำเหนือ แต่เป็นน้ำปนเปื้อนสิ่งโสโครก ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และทำให้เกิดเชื้อโรค
1.4 น้ำทะเลหนุน ซึ่งเกิดขึ้นจากแรงดึงดูดของดวงจันทร์ ดังนั้น จึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ไม่สามารถห้ามได้ แต่สามารถนำมาเป็นข้อมูลในการป้องกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยหาทางป้องกันให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้
2. จราจรติดขัดในพื้นที่รอบใน กทม.ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน และยังแก้ไขให้หมดไปอย่างถาวรไม่ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหานี้เกิดจากหลายสาเหตุผสมผสานกัน มีตั้งแต่ผังเมืองไม่เป็นระบบที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาจราจรจำนวนรถมากกว่าพื้นผิวจราจรไปจนถึงผู้ขับขี่ไม่เคารพกฎจราจร เช่น จอดรถบนพื้นผิวจราจร ทำให้ช่องทางจราจรเหลือน้อยลง และคุณภาพการให้บริการขนส่งสาธารณะไม่ดีพอที่จะดึงความสนใจให้คนหันมาใช้แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมไปถึงค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟฟ้าแพงเกินไป ทำให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการใช้รถส่วนบุคคล และแถมไม่สะดวกในการเดินทางในกรณีที่ต้องต่อรถหลายต่อด้วย
3. ปัญหาความไม่สะอาด เนื่องจากขยะตกค้างในตรอกซอกซอย รวมไปถึงน้ำสกปรกเน่าเสียในคูคลอง อันเกิดจากการทิ้งขยะมูลฝอยลงในคูคลอง และการรุกล้ำคูคลองทำให้กีดขวางทางน้ำไหล
4. ปัญหาคนจนไม่มีที่ทำกิน เนื่องจาก กทม.ไล่ที่ไม่ให้วางหาบเร่และแผงลอยแล้วไม่จัดที่ทำกินทดแทนให้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการจัดที่และวางกฎระเบียบให้ขายเป็นที่เป็นทาง รวมไปถึงต้องรับผิดชอบในการรักษาความสะอาด
นอกจากปัญหา 4 ข้อข้างต้นแล้ว กทม.ยังมีปัญหาเกี่ยวกับทัศนียภาพ อันเกิดจากการวางสายไฟฟ้าและสายคมนาคมไว้บนเสาเกะกะระโยงระยางเห็นแล้วรกลูกตา ไม่สมกับเป็นเมืองหลวงของประเทศ
ปัญหาดังกล่าวข้างต้น กำลังรอผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามาแก้ไข
ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
1. งบประมาณมีมากเพียงพอหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน
2. บุคลากรคือทีมงานของผู้ว่าฯ และข้าราชการ กทม.มีศักยภาพในการสนองนโยบายผู้ว่าฯ ได้มากน้อยแค่ไหน
3. อุปสรรคในการดำเนินงานมีจำนวนเพียงพอ และมีลักษณะในการทำงานหรือไม่
4. การจัดการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ว่าฯ โดยตรง มีศักยภาพในการคิดและสั่งการให้ปัจจัย 3 ประการข้างต้นทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าจากวุฒิทางการศึกษา และประสบการณ์ของผู้ว่าฯ กทม.รวมไปถึงบุคลิกภาพที่ติดดิน ค่อนข้างมั่นใจได้ว่าคงจะแก้ปัญหาต่างๆ ได้ไม่น้อยไปกว่าที่ประชาชนคาดหวังไว้แน่นอน