xs
xsm
sm
md
lg

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๔ : สืบสายเจษฎาบดินทร์ถึงจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen data sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเก็บหอมรอมริบไว้เป็นเงินตราต่างประเทศในรูปของเงินถุงแดง เพื่อทรงใช้กู้ชาติบ้านเมืองในคราวิกฤติ ร.ศ.112 สมดังพระปัจฉิมดำรัสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวไว้ก่อนสวรรคตว่า “การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่า ก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิด ควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว” โปรดอ่านได้จากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ ๑ : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินถุงแดงให้เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ; https://mgronline.com/daily/detail/9650000053781

แต่หลายคนไม่ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นต้นธารแห่งจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ทรงสืบสายเจษฎาบดินทร์ด้วยเช่นกัน หากนับทางฝั่งพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชปิตุลา (ลุง) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่างทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แต่หากจะนับฝั่งพระราชมารดา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชปัยกา (ตาทวด) ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชมารดาทรงเป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ต้นราชสกุลศิริวงศ์ ทั้งนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยูหัว ดังนั้นสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีหรือหม่อมเจ้าหญิงรำเพยจึงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์มีพระกนิษฐา (น้องสาว) ที่ร่วมพระราชบิดาและมารดา (เจ้าจอมมารดาทรัพย์) คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (พระองค์เจ้าหญิงละม่อม) ทั้งกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีล้วนมีพระชนมายุสั้นนัก ทำให้เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ต้องทรงเป็นลูกชายกำพร้าพระราชมารดามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

หนังสือจุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์เขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อนโดย Jeffrey Finestone ภายหลังได้มีการแปลเป็นภาษาไทยและขัดเกลานิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมโดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์
นอกจากนี้เจ้าจอมมารดาทรัพย์ยังเกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับคุณหญิงเพ็ง พระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย (พระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยที่เจ้าจอมมารดาทรัพย์เป็นธิดาของพระอักษรสมบัติ (ทับ) กับผ่อง ท่านผ่องเป็นธิดาของพระยาพัทลุง (ทองขาว) กับปล้อง ท่านปล้องเป็นน้องสาวคุณหญิงเพ็ง ข้อนี้ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกี่ยวพันในฐานะพระญาติของสมเด็จพระศรีสุลาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าด้วยอีกชั้นหนึ่ง

สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูรหรือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกพระนามว่าสมเด็จยายและได้ทรงอุปการะเลี้ยงดูพระองค์ท่านมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเคารพนับถือสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรเทียมเท่าพระราชมารดา ชาววังออกพระนามว่าทูลกระหม่อมแก้ว ความผูกพันที่เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ทรงมีต่อสมเด็จยายนั้นมีมากถึงขั้นเมื่อคราวเสด็จไกลบ้านประพาสทวีปยุโรปเพื่อเจริญพระราชไมตรีให้ประเทศไทยรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาเป็นไทมาจนได้ถึงทุกวันนี้ ทรงพระสุบินไปว่าสมเด็จยายทรงทำข้าวคลุกกะปิให้เสวยอย่างเอร็ดอร่อย เมื่อทรงตื่นพระบรรทมมาจึงทรงหุงข้าวและทรงคลุกกะปิเสวยและพระราชทานข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ คงเป็นด้วยเหตุที่ทรงจากไกลบ้านทำให้ทรงคิดถึงอาหารไทย ในขณะเดียวกันความรักความผูกพันในสมเด็จยายพระประยูรญาติผู้ใหญ่ที่ทรงนับถือเสมอเหมือนพระราชมารดาก็มีมากยิ่งทำให้ถึงกับทรงเก็บไปฝัน

เมื่อเหตุการณ์ ร.ศ. 112 เกิดขึ้น ทำให้สยามต้องเสียค่าปฏิกรณ์สงครามเป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาลแม้กระทั่งเงินถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บหอมรอบริบไว้ก็ไม่พอ

จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส เป็นภาพดอกรำเพย เพราะสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิม หม่อมเจ้ารำเพย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับการถวายเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้กู้ชาติบ้านเมืองจากสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เป็นจำนวนมาก ด้วยทรงสะสมไว้ใต้ถุนพระตำหนักมาเป็นเวลานาน

เมื่อคราวสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูรเสด็จสวรรคต (ทรงโปรดเกล้าให้ใช้คำว่าสวรรคตเสมอเสมือนพระราชมารดา) การออกพระเมรุให้ถวายพระโกศทองใหญ่ (เท่าสมเด็จพระราชินี) และทรงนุ่งขาวห่มขาว ตามธรรมเนียมไทยสมัยนั้นจะนุ่งขาวห่มขาวในงานศพญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุด


นอกจากพระราชมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระภรรยาเจ้าอีกสามพระองค์จากทั้งหมดเก้าพระองค์ที่ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระภรรยาเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ต่างเป็นพระธิดาในกรมหมื่นภูมินทรภักดี ต้นราชสกุล ลดาวัลย์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 ที่ทรงถวายพระธิดาสามองค์ให้เป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระภรรยาเจ้าทั้งสามพระองค์คือ หนึ่ง พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา (หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์) สอง พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ (หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์) และสาม พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์)

พระภรรยาเจ้าพระองค์ที่สามแห่งราชสกุลลดาวัลย์นั้น ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้คุมห้องพระเครื่องต้นดูแลการปรุงอาหารคาวหวานทุกอย่างที่เสวย แสดงให้เห็นว่าเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพระนามกรมว่า กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดดา อันแปลได้ว่า หญิงอันเป็นที่รักของพระราชาผู้ทรงเป็นที่รัก

พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดาทรงมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ทรงเป็นต้นราชสกุลยุคล เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ทรงเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะพระตำหนักเรือนหอที่ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคือวังลดาวัลย์หรือวังแดง นั้นต่อมาได้ตกทอดเป็นพระราชมรดกของพระชายาคือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล พระธิดาในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับ หม่อมแม้น ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคลทรงตัดสินพระทัยขายวังลดาวัลย์ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพราะทรงเกรงว่าจะถูกยึดไปเป็นฐานทัพญี่ปุ่นแบบพระราชวังวินเซอร์ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของไทย ทำให้วังลดาวัลย์หรือวังแดงยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีและปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น