xs
xsm
sm
md
lg

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และส.ก. : ภาพสะท้อนด้านลบรัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เสียงของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพลักษณ์ของรัฐบาล ในฐานะผู้บริหารประเทศ และรับใช้ประชาชนโดยรวม

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลบริหารผิดพลาดอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ และประชาชนโดยรวม ประชาชนก็จะออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข และถ้ารัฐบาลนิ่งเฉยไม่แก้ไข หรือแก้ไขไม่ได้เนื่องจากไร้ความรู้ ความสามารถ ประชาชนก็มีสิทธิในการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

ถ้ารัฐบาลไม่สนใจปล่อยให้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน นานเข้ารัฐบาลจะโดดเดี่ยว เนื่องจากประชาชนซึ่งเป็นรองรับการใช้อำนาจในการบริหาร สุดท้ายก็ถึงจุดจบทางการเมืองด้วยการยุบสภาฯ ลาออก หรือทนอยู่จนครบเทอมเลือกตั้งใหม่ หมดโอกาสในการกลับมา

ในขณะนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มองเห็นภาพสะท้อนด้านลบจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้สมัครจากพรรคร่วมรัฐบาล และผู้สมัครอิสระที่รัฐบาลแอบหนุนอยู่ข้างหลังพ่ายแพ้แก่ผู้สมัครอิสระที่พรรคแกนนำฝ่ายค้านแอบหนุน รวมไปถึงผลการเลือก ส.ก.ที่พรรคฝ่ายค้าน 2 พรรครวมกันได้รับเลือกถึง 33 ที่นั่งในจำนวน 50 ที่นั่ง ส่วนฝ่ายรัฐบาล 2 พรรครวมกันได้แค่ 11 ที่นั่ง

จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ดังกล่าวข้างต้น ทำให้มองเห็นผลของการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ว่าพรรคแกนนำรัฐบาล และพรรครัฐบาลที่พ่ายแพ้ในสนามการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ คงจะได้รับเลือกตั้งน้อยลง ถ้าเป็นเช่นนี้ก็อนุมานได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เกือบจะหมดโอกาสในการกลับมา หรือถ้าบังเอิญพรรคแกนนำรัฐบาล และพรรคพันธมิตรได้จำนวน ส.ส.มีจำนวนรวมกับเสียง ส.ว.เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้ ก็อยู่ได้ยาก

อะไรทำให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม.?

เพื่อจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านย้อนไปดูปัจจัยแวดล้อมทางการเมือง ก็จะอนุมานได้ว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งมีดังต่อไปนี้

1. คุณวุฒิทางด้านการศึกษา ประสบการณ์ และผลงานที่ผ่านมา เป็นที่ยอมรับของประชาชน

2. เครือข่ายในแวดวงวิศวกร เพื่อนร่วมสถาบันซึ่งกระจายอยู่ในองค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐ และเอกชน ชักชวนกันสนับสนุนโดยการเทคะแนนให้

3. กลุ่มจัดตั้งของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย จะเห็นได้จากจำนวน ส.ก. 20 ที่นั่ง ก็เทคะแนนให้

4. พลังเงียบที่เป็นกลางไม่เลือกขั้วรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล และฝากความหวังกับฝ่ายค้าน รวมไปถึงความพอใจในนโยบายของผู้สมัคร และฝากความหวังไว้ต่างเทคะแนนให้

ส่วนความพ่ายแพ้ของพรรคร่วมรัฐบาล และผู้สมัครอิสระที่พรรคแกนนำรัฐบาลแอบหนุน อนุมานได้ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ถึงคุณวุฒิการศึกษาเท่ากัน แต่ประสบการณ์และผลงานด้อยกว่ากัน

2. พรรคที่สังกัดคือ ประชาธิปัตย์ได้เผชิญกับกระแสสังคมในแง่ลบ ก่อนเลือกตั้ง เนื่องจากรองหัวหน้าพรรคตกเป็นจำเลยในข้อหาข่มขืน และลวนลามหญิงสาวหลายราย

3. ผลงานในฐานะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยเฉพาะราคาสินค้า และความไม่โปร่งใสในการบริหารงานเช่น กรณีการซื้อถุงมือขององค์การคลังสินค้า และการกักตุนสินค้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรค ทำให้คะแนนลดลงจากที่เคยมีก่อนหน้านี้

ด้วยเหตุที่ผู้สมัครจากพรรคร่วมรัฐบาล และผู้สมัครอิสระที่พรรคแกนนำหนุนแพ้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และผู้สมัคร ส.ก.ได้รับเลือกน้อยกว่าที่เคยได้รับ จึงอนุมานได้ว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์คงจะได้รับเลือก ส.ส.น้อยลงกว่าที่เคยได้รับในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ถ้าไม่มีการแก้ไข ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น