คำถามที่คนทั้งโลกต้องการคำตอบก็คือ สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียจะจบลงอย่างไร อีกนานหรือไม่ และวิกฤตเศรษฐกิจจากสงครามนี้จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างไร ประชาชนและทหารหลายหมื่นชีวิตได้สูญสิ้นไปแล้ว
ร้ายกว่านั้นก็คือ สงครามจะลามไปเป็นสงครามโลก สู้รบกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ หลังจากเริ่มมีการซ้อมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในรัสเซียแล้ว
ไม่มีใครตอบได้ แม้แต่ผู้ที่มีอิทธิพลในสงครามโดยตรง นั่นคือผู้นำสหรัฐฯ โจ ไบเดน และผู้นำรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ทั้งในสหรัฐฯ รัสเซีย ยุโรป ต่างก็เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ และมีแนวโน้มจะรุนแรง ซ้ำเติมวิกฤตด้านความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก
ทั้งไบเดนและปูตินต่างมีเดิมพันเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง ในประเด็นนี้ไบเดนอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ความนิยมตกต่ำ ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเท่าตัวในยุคของไบเดน เงินเฟ้อสูงเกือบ 9 เปอร์เซ็นต์ คนอเมริกันเริ่มทนไม่ได้
ปูตินต้องชนะสงครามเพื่อความอยู่รอดทางการเมืองเช่นกัน สถานการณ์ยังดีกว่าไบเดน เพราะรัสเซียสามารถตั้งรับกับการคว่ำบาตรโดยฝ่ายพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการขายก๊าซและน้ำมันในยุโรป อินเดีย และจีน
การสู้รบ รัสเซียสามารถยึดพื้นที่ยูเครนได้ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นแคว้นดอนบาสด้านตะวันออก ยาวลงมาถึงทะเลดำ ทะเลอาซอฟ รวมทั้งน่านฟ้าทั่วยูเครน
สหรัฐฯ ไม่ต้องการให้สงครามสงบ นั่นเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป เพราะต้องการให้รัสเซียติดหล่มในสงครามกับยูเครนให้นานที่สุด ให้อ่อนแอทุกด้าน หลายประเทศในยุโรป ล่าสุดคือสเปน ที่จะส่งอาวุธหนักสนับสนุนยูเครนซึ่งจะต้องพินาศมากกว่าเดิม
ล่าสุดรัสเซียเริ่มโจมตีชานเมืองเคียฟ เพื่อทำลายเป้าหมายที่เป็นรถถังและคลังอาวุธ โฆษกกระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่าเป้าหมายชานเมืองเคียฟมีรถถัง ที 72 และยานรบหุ้มเกราะซ่อนในโรงซ่อมบำรุงรถไฟ ส่งมาให้โดยประเทศยุโรปตะวันออก
พลตรีอิกอร์ โคนาเชนคอฟ บอกว่าเป้าหมายของการโจมตีทางอากาศเพื่อทำลายล้างอยู่ในพื้นที่ดอนบาส ยูเครนตะวันออก และทางใต้ มีทั้งจรวดหลายลำกล้องยิงส่งมาจากสหรัฐฯ รวมทั้งจุดที่ตั้งเรดาร์เพื่อต่อต้านการโจมตี
ก่อนหน้านั้นปูตินยังได้ปรามว่าถ้าสหรัฐฯ ส่งอาวุธเป็นจรวดหลายลำกล้องมีวิถีไกล 500 กม. ให้ยูเครน จะเผชิญการตอบโต้รุนแรง และถูกกำจัดโดยอาวุธล้ำสมัยที่ไม่เคยใช้มาก่อน โดยรัสเซียมีไม่จำกัด อาวุธสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนแปลงผลการสู้รบ
ปูตินกล่าวว่าอาวุธวิถีไกลจากสหรัฐฯ ที่ยูเครนต้องการนั้นก็มีอยู่ในกองทัพยูเครนปัจจุบัน แต่เป็นจรวดที่ผลิตโดยรัสเซีย มีสมรรถนะทัดเทียมกันอยู่แล้ว วันเสาร์ที่ผ่านมา เครื่องบินบรรทุกอาวุธของยูเครนโดนรัสเซียยิงตกก่อนถึงเมืองโอเดสซา
ยูเครนพยายามเรียกร้องให้สหรัฐฯ และกลุ่มนาโตส่งอาวุธสนับสนุน และก็ได้รับการตอบสนองเป็นอาวุธที่อยู่ในกองทัพของหลายประเทศ ซึ่งไม่ได้ถูกใช้งานนานแล้ว การส่งอาวุธให้ยูเครนเท่ากับเป็นการโละอาวุธยุทโธปกรณ์รุ่นเก่า ทดแทนโดยรุ่นใหม่
สเปนประกาศว่าจะส่งรถถังเลโอพาร์ดที่ผลิตในเยอรมนี รวมทั้งปืนใหญ่สนาม ซึ่งประจำการในกองทัพสเปน ทั้งยังมีอาวุธหนักหลายประเภท เยอรมนีก็ได้เพิ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อพัฒนากองทัพ และศักยภาพด้านป้องกันประเทศ
มีรายงานจากสำนักข่าวกรองของเยอรมนี บีเอ็นดี ประเมินว่ากองทัพยูเครนจะถูกผลักดันให้พ้นจากพื้นที่ดอนบาสภายใน 3-4 สัปดาห์ แม้กองทัพรัสเซียจะล่าช้าในการรุก แต่สามารถยึดพื้นที่ได้ทีละน้อย ทหารยูเครนต้องถอยร่นไปด้านทิศตะวันตก
สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียได้ยืดเยื้อเกิน 100 วันแล้ว ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปไม่ต้องการให้ยุติ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากผู้นำบางประเทศในยุโรปให้มีการเจรจาสงบศึก แต่ทั้งยูเครนและรัสเซียมีความแตกต่างกันด้านเงื่อนไขที่ยอมรับไม่ได้
ฝ่ายสหรัฐฯ และยูเครนต้องการให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครนโดยสิ้นเชิง เท่ากับว่าต้องคืนพื้นที่ในดอนบาส ซึ่งฝ่ายรัสเซียไม่ยอมรับ และยูเครนไม่ยอมเสียพื้นที่ สหรัฐฯ และยุโรปได้เพิ่มงบประมาณ ผลิตอาวุธ ส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากขึ้น
การสูญเสียอย่างมากของยูเครนทำให้เกิดคำถามว่ายูเครนต้องพินาศอีกแค่ไหนจึงจะยอมรับความพ่ายแพ้ หรือจะยอมเป็นเบี้ยและตัวแทนของนาโตในการทำสงครามกับรัสเซีย การยืดเยื้ออาจนำไปสู่การขยายตัวของสมรภูมิไปนอกยูเครน
ฝ่ายยูเครนมี 47 ประเทศสนับสนุนนำโดยสหรัฐฯ มาตรการคว่ำบาตรไม่สามารถทำให้รัสเซียยอมจำนน ตรงกันข้ามค่าเงินรูเบิลแข็งกว่าก่อนสงคราม ทั่วโลกเผชิญปัญหาการขาดแคลนข้าวสาลี ปุ๋ย น้ำมันพืช ยุโรปเสี่ยงกับการขาดพลังงาน
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเริ่มรุนแรงในกลุ่มประเทศยุโรป ค่าครองชีพสูงขึ้นเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และราคาพลังงานทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่ม
สำนักงานดูแลธุรกิจขนาดย่อมในอังกฤษประเมินว่า กิจการร้านค้า ธุรกิจขนาดย่อมในอังกฤษประมาณ 5 แสนรายเสี่ยงกับการล้มละลายเพราะไม่สามารถทนรับสภาพต้นทุนสูง ขาดสภาพคล่อง ถ้าไปไม่รอดต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก
ได้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ายื่นมือช่วยด้วยการอัดฉีดเงินเพื่อให้ธุรกิจรายย่อยให้อยู่รอดจากแรงกดดันด้านต้นทุนประกอบการ การขาดเงินหมุนเวียนรุนแรง คนอังกฤษรายได้น้อยต้องยอมอดมื้อกินมื้อ งดทานเนื้อสัตว์เพราะมีราคาแพง
แรงกดดันจากปัญหาค่าครองชีพจะมีผลต่อรัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปหรือไม่ เพราะมีความขัดแย้งในกลุ่มประชาคมยุโรปด้านมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งนอกจากไม่ทำให้รัสเซียลำบากแล้ว ฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตรได้รับผลด้านลบแทน