xs
xsm
sm
md
lg

ทางออก BTS (ตอนที่ 1) : เซ็นไปแล้ว!? รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก ไม่จบปี 2572 “BTS” คว้าสัญญาเดินรถล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดถึงปี 2585

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ปัญหาการเจรจาเพื่อต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปีด้วยค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายนั้น เดิมสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักเริ่มต้นเดินรถตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2542 ดังนั้นสัญญาก็จะสิ้นสุดระยะเวลา 30 ปี ในวันที่4 ธันวาคม 2572 โดยผู้รับสัมปทานก็คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือมีตัวย่อคือ “บีทีเอสซี” หรือที่รู้จักกันในการเรียกชื่อคือรถไฟฟ้า “บีทีเอส”

อย่างไรก็ตามในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้า 17 ปี ก่อนหมดอายุสัญญาสัมปทานวันที่ 4 ธันวาคม 2572 เพื่อจ้างให้ “บีทีเอส”เดินรถและซ่อมบำรุงเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวถึงปี 2585 และจะเป็นผลทำให้ “บีทีเอส” ได้รับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงต่อเนื่องทันทีหลังหมดสัญญาสัมปทานไปนานอีก 13 ปี

ปรากฏตามหลักฐานความภาคภูมิใจนี้จากสารของ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในรายงานประจำปี2555/2556 หน้า 21 ความตอนหนึ่งว่า :

“ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 เราได้ลงนามในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าระยะเวลา 30 ปี สำหรับส่วนต่อขยายสีเขียวทั้งหมดในปัจจุบัน กับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในระยะเวลาตั้งแต่ปี 2555-2558 รวมไปถึงการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายหลักในปี 2572-2585 รวมเป็นค่าจ้างในรูปตัวเงินตามสัญญากว่า 187,000 ล้านบาท”[1]

โปรดสังเกตข้อความข้างต้นที่ว่า “รวมไปถึงการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายหลักในปี 2572-2585”[1]นั้น ย่อมแสดงว่าเส้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก บีทีเอส ได้รับสัญญาจ้างให้เดินรถและซ่อมบำรุงหลังหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2572 อย่างชัดเจน

การที่ “บีทีเอส” ได้รับสัญญามูลค่ามากถึง 187,000 ล้านบาทนั้น บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้บันทึกในรายงานประจำปี 2555/2556 หน้าที่ 70 อธิบายความสัมพันธ์ที่ดีกับกรุงเทพมหานคร โดยบทบาทของ “บีทีเอส” ไม่เพียงเป็น “ผู้รับสัมปทาน” และต่อเนื่องด้วย “ผู้รับจ้างเดินรถ” เท่านั้น แต่ “บีทีเอส”ยังกลายเป็น “ผู้ร่วมออกแบบ” กับ กรุงเทพมหานครด้วย[2]

นอกจากนั้นในแบบฟอร์ม 56-1 ซึ่งเป็นรายงานที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะต้องส่งรายงานให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ทุกปี โดย บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้รายงานเอาไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2556/57 ในตาราง ส่วนที่ 1 หน้า 151-152 ทำให้ได้รับข้อมูลในรายละเอียดมากขึ้นว่า

“สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เป็นสัญญาเลขที่ กธ.ส. 006/55 ระหว่าง กรุงเทพธนาคม (“ผู้บริหารระบบ”) และ บีทีเอสซี (“ผู้ให้บริการ”) ซึ่งได้ระบุอย่างชัดเจนว่า หลังหมดระยะเวลาสัมปทานของเส้นทางสัมปทานสายสีเขียวหลักในวันที่ 4 ธันวาคม 2572 แล้ว บีทีเอสซี ซึ่งเป็น “ผู้ให้บริการ” จะดำเนินการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงต่อเนื่องในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตรต่อไปทันที ตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2572 ถึง 2 พฤษภาคม 2585”[3]

ทั้งนี้ส่วนต่อขยาย 1 ในช่วงแรกนั้นปรากฏในรายงานแบบ 56-1 ของ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ปี 2558/2559 ส่วนที่ 1 หน้า 23 ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า :

เดิมกรุงเทพมหานครเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโครงสร้างระบบ (Civil Works) และระบบไฟฟ้าเครื่องกล (Electrical and Mechanical Works) และจัดหาเอกชน (บีทีเอส) มาเป็นผู้รับจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงระบบ “ระยะสั้น” ผ่านกรุงเทพธนาคม ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามลำดับเวลาดังนี้

เดือนพฤษภาคม 2552 “กรุงเทพธนาคม” จ้าง “บีทีเอส” เดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 1 จากสะพานตากสิน ถึง วงเวียนใหญ่[4]

เดือนพฤศจิกายน 2553 “กรุงเทพธนาคม” จ้าง “บีทีเอส” เดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท จากอ่อนุช ถึง แบริ่ง[4]

เดือนตุลาคม 2554 “กรุงเทพธนาคม” จ้าง “บีทีเอส” เดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 2 จากวงเวียนใหญ่ ถึง บางหว้า[4]

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ในสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น “สัญญาระยะสั้น”ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวได้ “ถูกแทน” ด้วยสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง “ระยะยาว 30 ปี” สิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม2585[4]

และสัญญาดังกล่าวนี้ได้ครอบคลุมพ่วงไปถึง รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลักหลังหมดอายุสัญญาสัมปทานในวันที่ 4 ธันวาคม 2572 ให้กลายเป็นสัญญาจ้าง “บีทีเอส” ในการเดินรถและซ่อมบำรุงต่อเนื่องในวันรุ่งขึ้นทันทีจากวันที่ 5 ธันวาคม 2572 ถึง 2 พฤษภาคม 2585[4]

คำถามสำคัญคือการดำเนินการในการลงนามรวบสัญญาปี 2555 ด้วยมูลค่า187,000 ล้านบาท[1] เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)นั้น เป็นสิทธิในการเดินรถแต่เพียงผู้เดียวในโครงการที่มีการลงทุนซื้อขบวนรถเพื่อรับจ้างเดินรถและจะต้องมีการลงทุนในการซ่อมบำรุงด้วยมูลค่าเกิน1,000 ล้านบาทนั้น ได้มีการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535[6] แล้วหรือไม่? หรือไม่มีการเปิดประมูลการจัดซื้อจัดจ้างทำให้เกิดการแข่งขันจริงหรือไม่?

หากยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอน จะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และสัญญาที่ได้กระทำลงไปนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

การที่ “บีทีเอส” ไม่เพียง “ร่วมออกแบบ” แต่ยังได้ “สัญญาว่าจ้างการเดินรถและซ่อมบำรุง” ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดนั้น ย่อมทำให้ “บีทีเอส” ได้เปรียบคู่แข่งทั้งหมดในการได้รับสัญญาจ้างในส่วนต่อขยายเส้นทางอนาคตอีกด้วย จริงหรือไม่?

ปรากฏหลักฐานในรายงานแบบ 56-1 ของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ปี 2558/2559 ส่วนที่ 1 หน้า 26 ได้อธิบายแผนการขยายเส้นทางของส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้ว่า “บีทีเอส” จะได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่น และจะเป็นผลทำให้ได้รับสัญญาในอนาคต โดยเฉพาะส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงที่ 2 คือ เขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ความว่า :

“บริษัทฯ เชื่อว่า บีทีเอสซี มีข้อได้เปรียบในการดำเนินงานในส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหล่านี้ เนื่องจากสามารถสร้างความสะดวกให้กับผู้โดยสารในการเดินทางทำให้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายขบวนรถได้ และบริษัทฯเชื่อว่า บีทีเอสซี จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและดำเนินการต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น เนื่องจากบีทีเอสซีจะสามารถใช้ทรัพยากรและอุปกรณ์บางอย่างร่วมกับโครงการเดิมได้

ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าบีทีเอสซีจะได้รับการว่าจ้างเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 นี้”[5]

คำถามที่ตามมามีอยู่ว่า การสร้างเงื่อนไขเอื้อประโยชน์ให้กับ “บีทีเอส” เข้ามาร่วมออกแบบและได้รับสัญญาจ้าง เปลี่ยนสัญญา และรวบสัญญาเบ็ดเสร็จดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะทำให้ได้เปรียบเหนือเอกชนรายอื่นในโครงการในอนาคตนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542[7]หรือไม่?

เพราะในเวลาต่อมาก็เป็นผลทำให้ บีทีเอส ได้รับสัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้จริงๆ ตามที่ บีทีเอส คาดการณ์แม้จะช้ากว่าที่คาดการณ์ไปบ้าง โดยปรากฏเอกสารรายงานประจำปี 2563/2564 ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หน้าที่ 35 ระบุว่า

“เดือนมีนาคม 2560 ในสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ครอบคลุมระยะเวลา 25 ปี (2560-2585) ระยะทางรวม 32.0 กิโลเมตร

ส่วนต่อขยายที่ 2 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวประกอบด้วย 2 เส้นทาง ได้แก่ ส่วนต่อขยายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-การเคหะ ระยะทาง 13 กิโลเมตร) และส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร)

โดยส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ได้เปิดให้บริการอย่า‹งเต็มรูปแบบครบทั้ง 9 สถานีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 สําหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ได้เปิดให้บริการครบทั้ง 16 สถานี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม2563”[8]

สำหรับมูลค่าการลงนามในสัญญาดังกล่าว แม้จะไม่มีการเปิดเผยเป็นการทั่วไป แต่จากรายงานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2560 ในหน้าที่ 20-21 นั้น ได้ปรากฏหลักฐานคำชี้แจงจากนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สรุปความได้ว่า

สัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือและใต้ในสมัยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น มีมูลค่ามากถึง“161,698 ล้านบาท”[9]

และทันทีที่เริ่มเดินรถตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 - 2562 ก็ได้ทำให้รายได้ของ บีทีเอส เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทันที ปรากฏตามข้อมูลบริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน), ในรายงานประจำปี 2562/2563 หน้าที่ 110 ความว่า :

“รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 64.8% หรือเพิ่มขึ้น 1,476 ล้านบาท จากปีก่อน เป็น 3,753 ล้านบาท

การเพิ่มขึ้นของรายได้ส่วนใหญ่มาจาก (a) การรับรู้รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงจากการเปิดให้บริการโครงการส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้เต็มสายทั้ง 9 สถานี ในเดือนธันวาคม 2561 รวมถึงการเปิดให้ บริการ 5 สถานีแรกของส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (จากสถานีหมอชิต ถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว) ในเดือนสิงหาคม 2562 และถึงสถานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเดือนธันวาคม 2562 และ (b) การเพิ่มขึ้น ตามสัญญาของค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายสายสีเขียวเดิม”[10]

ต่อมาในปี 2563 แม้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง แต่การ “รับจ้างเดินรถ”โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้โดยสารนั้นสามารถสร้างประโยชน์กับ บีทีเอส อย่างมหาศาลยิ่งกว่าเดิม ปรากฏตามรายงานประจำปี 2563/2564 ของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หน้า 111 ได้รายงานเอาไว้ในหัวข้อ “การประเมินผลการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมาย2563/2564 พบว่า

“รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เพิ่มขึ้น 42% หรือ 1,600 ล้านบาทเป็น 5,300 ล้านบาท เกินจากเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ของปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก (i) การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคตจำนวน 16 สถานี ระยะทาง 19.0 กิโลเมตร) เมื่อเดือนธันวาคม 2563 และ (ii) การเพิ่มขึ้นตามสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายสายสีเขียวเดิม และส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้”[11]

โดยในรายงานหน้าเดียวกันนี้ยังได้มีการประเมินแนวโน้มธุรกิจในอนาคตปี2564/2565 ที่จะทำให้รายได้ขึ้นไปกว่าเดิมอีกด้วย ความว่า :

“คาดการณ์รายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ในปี 2564/2565 เพิ่มขึ้น 21% เป็น 6,300 ล้านบาท ปัจจัยมาจากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเต็มรูปแบบ จำนวน 16 สถานีระยะทาง 19 กิโลเมตร เมื่อเดือนธันวาคม 2563 และการเพิ่มขึ้นตามสัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายสายสีเขียวเดิมและส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้”[11]

แต่เบื้องหลังการสร้างรายได้และกำไรอย่างมหาศาลของ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งจำกัด (มหาชน)นั้น ยังมีประเด็นข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยหหลายประการ โดยหากย้อนกลับไปพิจารณารายงานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2560 ในหน้าที่ 20-21 นั้น ก็จะพบเรื่องที่น่าสนใจว่า

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบมติที่ประชุมของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ที่ได้เห็นชอบให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ แล้วมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเจรจากับกรุงเทพมหานครในเรื่องของการบริหารจัดการเดินรถและเงื่อนไขทางการเงิน[9]

ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2560 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ของบประมาณจำนวน 60,817 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้สินเงินกู้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายเขียวเหนือและใต้ ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเพื่อให้ รฟม.โอนทรัพย์สินและหนี้สินเหล่านี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร[9]

แต่ในที่สุดจนถึงปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี ก็ยังไม่เคยอนุมัติให้ความเห็นชอบงบประมาณหรือเงินกู้มูลค่ากว่า 60,817 ล้านบาทแต่ประการใด ดังนั้นทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือและใต้ ยังคงเป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เช่นเดิม

ปรากฏหลักฐานเป็นคำชี้แจงยืนยันของนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ความว่า

“รฟม.ยืนยันถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างและที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 ช่วง เนื่องจากปัจจุบัน รฟม.ยังไม่สามารถโอนหนี้สินจากการก่อสร้าง ช่วงหมอชิต-คูคต ให้แก่ กทม. และได้ทำหนังสือถึง กทม.เป็นระยะแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ”[12]

ทั้งๆ ที่ยัง ไม่ได้มีการโอนสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อโอนทรัพย์สินโครงสร้างส่วนต่อขยายเขียวเหนือและใต้ให้กับกรุงเทพมหานคร และยังไม่ได้มีการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนใดๆจากสภากรุงเทพมหานคร

แต่เดือนมีนาคม 2560[8] พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกลับรีบดำเนินการให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ลงนามจ้างสัญญาให้กับ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่ามากถึง 161,698 ล้านบาท[9] ได้อย่างไร?

คำถามสำคัญที่สุดก็คือเหตุใดการลงทุนของเอกชนในเรื่องการซื้อขบวนรถและซ่อมบำรุงที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และสัญญาที่มีมูลค่ามากถึง 161,698 ล้านบาทนั้น[9] เป็นการดำเนินการที่ปราศจากการดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556[13] ได้อย่างไร?

และข้อสำคัญคือการดำเนินการลงนามสัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ปี 2555 รวบเซ็นสัญญาส่วนต่อขยาย 1 และเส้นทางหลักมูลค่า 187,000 ล้านบาท[1]

ต่อเนื่องมาจนถึงสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ปี 2560 ที่ลงนามในสัญญาส่วนต่อขยายเขียวเหนือและใต้ ต่อเนื่องไปอีก 161,698 ล้านบาทนั้น[9]

นอกจากจะไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2553[6] และ พ.ศ. 2556[13] แล้ว ยังมีข้อสงสัยด้วยว่าเป็นการกระทำอย่างเป็นขบวนการที่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542[7] ด้วยหรือไม่?

เพราะข้อทักท้วงนี้ยังปรากฏต่อมาในหนังสือของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ความเห็นเพิ่มเติมกรณีขอความเห็นชอบผลการเจรจาเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0202/401 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ในหน้าที่ 3 ความว่า :

“4. ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณีกรุงเทพมหานครได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อสัญญา

จึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้วพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดกับรัฐและประชาชนตามหลักการทำสัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะ”[14]

ซึ่งบริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) น่าจะตระหนักในความเสี่ยงนี้ตั้งแต่แรก จึงปรากฏการรายงานในแบบแสดง 56-1 ปี 2555-2556 หน้าที่ 17 ความตอนท้ายว่า

“ทั้งนี้หากคำพิพากษาในทางที่ไม่เป็นคุณในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอำนาจของกรุงเทพธนาคมในการเข้าทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงระยะยาวแล้ว ก็อาจส่งผลต่อความสมบูรณ์และการมีผลบังคับใช้ของสัญญา หรืออาจส่งผลให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะหรือถูกยกเลิกได้ และอาจทำให้คู่สัญญาไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาได้


หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้น ก็จะส่งผลกระทบในทางลบต่อรายได้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงที่บีทีเอสซีจะได้รับตามสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงระยะยาวดังกล่าว รวมทั้งความเสี่ยงในกรณีที่บีทีเอสซีได้ลงทุนจัดหารถไฟฟ้าเพื่อนำมาให้บริการตามสัญญาแล้ว ซึ่งอาจมีผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และโอกาสทางธุรกิจของบีทีเอสซีและบริษัทฯ”[15]

ดังนั้นหากรัฐบาล “ไม่รอผลการไต่สวนข้อเท็จจริง” เสียก่อน แต่กลับจะใช้การรวบอำนาจผ่านมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ท่ี 3/2562[16] และรวบรัดเร่งต่ออายุขยายสัญญาสัมปทานให้กับบีทีเอสแล้ว…

ย่อมอาจถูกประชาชนตั้งข้อสงสัยด้วยคำถามที่ว่า เบื้องหลังที่แท้จริงในการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์เร่งรีบรวบรัดในการต่ออายุสัญญาสัมปทานนั้น เป็นไปเพื่อลดหรือล้างความผิดและความเสี่ยงในการทำสัญญาระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นอาจจะยังไม่ครบถ้วนถูกต้องตามกฎหมายใช่หรือไม่? และ/หรือทำให้ประโยชน์ที่จะได้รับของบริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เพิ่มสูงขึ้นด้วยใช่หรือไม่?

ดังนั้นก่อนการเจรจาเพื่อไปขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บีทีเอส โดยอ้างเรื่องหนี้สินค้างจ่ายจากสัญญาที่ผ่านมานั้น ก็ควรจะต้องรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในการทำสัญญาที่ผ่านมาของ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งจำกัด (มหาชน) โดย (ป.ป.ช.) ให้ชัดเจนก่อนหรือไม่ ตามความเห็นของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรงคมนาคม ที่ได้ทำหนังสือคัดค้านเอาไว้ในคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2563[12]

แล้วพิจารณาต่อไปว่าสัญญาที่ผ่านมานั้นได้มีความครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ หรือจะต้องเป็นโมฆะ หรืออาจจะต้องถูกยกเลิก ตามรายงานประเมินความเสี่ยงของบริษัทบีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)เอง ซึ่งได้ปรากฏในแบบแสดง 56-1 ปี 2555-2556[15] หรือไม่?

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โอลดิ้ง จำกัด (มหาชน), รายงานประจำปี 2555/2556, หน้า21
https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/stream/24922/annual-report-2012-13

https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/flipbook/24922/annual-report-2012-13.html

[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 70

[3] บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2556/57 (แบบ 56-1 ปี 2556-2557), สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2557, ส่วนที่ 1 หน้า 151-152,
https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/24915/form-56-1-thai-only-2013-14

https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/flipbook/24915/form-56-1-thai-only-2013-14.html

[4] บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2558/59 (แบบ 56-1 ปี 2558-2559), สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2559, หน้า 23
https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/24917/form-56-1-thai-only-2015-16

https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/flipbook/24917/form-56-1-thai-only-2015-16.html

[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 26

[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๔๒ วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๕ หน้า๑๐๑-๑๐๘
https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/15827

[7] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒, เล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๒๐ ก วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒หน้า ๗๐-๗๖
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/70.PDF

[8] บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โอลดิ้ง จำกัด (มหาชน), รายงานประจำปี 2563/2564, หน้า35
https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/stream/29043/annual-report-2020-21

https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/flipbook/29043/annual-report-2020-21.html

[9] บันทึกรายงานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญสมัยที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2560 ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 5-12 เมษายน 2560, หน้าที่ 20-21

[10] บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โอลดิ้ง จำกัด (มหาชน), รายงานประจำปี 2562/2563
https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/stream/24929/annual-report-2019-20

https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/flipbook/24929/annual-report-2019-20.html

[11] บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โอลดิ้ง จำกัด (มหาชน), รายงานประจำปี 2563/2564
https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/stream/29043/annual-report-2020-21

https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/flipbook/29043/annual-report-2020-21.html

[12] ผู้จัดการออนไลน์, คมนาคมแจง 4 ปมค้านต่อสัมปทานสีเขียว จี้ กทม.ใช้ตั๋วร่วมลดภาระ ปชช.จ่ายค่าโดยสารแพงเผยแพร่: 9 ก.พ. 2565 19:26 ปรับปรุง: 9 ก.พ. 2565 19:26
https://mgronline.com/business/detail/9650000013533

[13] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๖, เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๓๑ ก วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๖หน้า ๑-๒๑
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/A/031/1.PDF

[14] หนังสือนายศักดิ์ สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรงคมนาคม ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่อง ความเห็นเพิ่มเติมกรณีขอความเห็นชอบผลการเจรจาเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) ๐๒๐๒/๔๐๑ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓, หน้า ๓

[15] บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี 2555/56 (แบบ 56-1 ปี 2555-2556), สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2556, หน้า 17
https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/24914/form-56-1-thai-only-2012-13

https://www.btsgroup.co.th/th/document/viewer/flipbook/24914/form-56-1-thai-only-2012-13.html

[16] ราชกิจจานุเบกษา, คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ท่ี ๓/๒๕๖๒เรื่อง การดําเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว,เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๙๓ ง วันที่๑๑ เมษายน ๒๕๖๒ หน้า ๑-๓
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/093/T_0001.PDF


กำลังโหลดความคิดเห็น