xs
xsm
sm
md
lg

ที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใครคือผู้ขอ ใครคือผู้ให้ ใครบิดเบือนประวัติศาสตร์ (ตอนที่ 3 ตอนจบ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
น้องใหม่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2537
บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรุ่นสุดท้ายที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์
พระบาทสมเด็จพระมหาชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร


5. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลผู้พระราชทานที่ดินให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลคราม (ดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 – 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2493) ได้เสนอให้ทบทวนสัญญาเช่าที่ดินระหว่างพระคลังข้างที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อค้นเอกสารพระราชดำรัสคราวเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาพระฤกษ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 นั้นได้พระราชทานกำหนดเขตที่ดินไว้สำหรับปลูกสร้างสถานศึกษา

ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทำหนังสือถึงประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อขอรับพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดังกล่าว ทั้งขอยกเลิกสัญญาเช่า และขอไม่ชำระหนี้ค้างค่าเช่าที่มีกับพระคลังข้างที่ 7,200 บาท โดยให้เหตุผลว่าเป็นที่ดินพระราชทานมาตั้งแต่ต้นแล้ว ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีมติส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีมติให้หารือข้อกฎหมายกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะสามารถพระราชทานที่ดินให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้หรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่าพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ที่ดินแปลงนี้เป็นเงินบัญชีเลี้ยงชีพของข้าบาทบริจาริกา จนกว่าจะหมดตัวผู้รับสืบทอด พระบรมราชโองการมีฐานะเป็นกฎหมาย จะแก้ไขก็ได้ด้วยการออกพระราชบัญญัติ [1]

ในวันที่ 3 ตุลาคม 2482 รัฐบาลได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 [2] ต่อสภาผู้แทนราษฎร พรบ. ดังกล่าวได้ผ่านการแปรญัตติและพิจารณาเห็นชอบประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 30 ตุลาคม 2482


ดังนั้นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปัจจุบันทั้งหมดจึงได้รับพระราชทานมาให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยที่มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ขอรับพระราชทาน และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นผู้แทนพระองค์ที่พิจารณาพระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การบันทึกรายการหลังโฉนดที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้านล่างแสดงให้เห็นว่า

หนึ่ง พระคลังข้างที่มีผู้ทรงกรรมสิทธิ์ที่ดินคือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเช่าที่ดิน 30 ปี

สอง ภายหลังมีพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2478 ได้โอนให้กระทรวงการคลังในนามทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้รับที่ดิน

สาม หลังจากนั้นมีการเลิกเช่าที่ดินในวันที่ 12 ธันวาคม 2483 ที่ดินนี้กลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังในนามทรัพย์สินพระมหากษัตริย์อีกดังเดิม และ

สี่ โอนที่ดินดังกล่าวให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในวันเดียวกัน

รายการหลังโฉนดที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงการให้เช่า การถือครอง และการโอน
ประเด็นที่มีผู้พยายามบิดเบือนคือ

หนึ่ง จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้ให้ที่ดินพระราชทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงผู้พระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หาใช่จอมพลแปลก พิบูลสงครามไม่ เพราะจอมพล ป. เป็นเพียงผู้ขอพระราชทาน

สอง พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่เป็นกระทรวงการคลัง ข้อนี้ก็ไม่เป็นจริงเช่นกัน หลักการสำคัญคือหลักกรรมสิทธิ์ ซึ่งปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2478 อยู่สองมาตรา มาตรา 6 “รายได้จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในความดูแลรักษาของกระทรวงการคลังตามความในมาตรา 5 วรรค 2 นั้นเพื่อได้หักรายจ่ายที่จ่ายตามข้อผูกพันอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินเดือน (รวมทั้งบำเหน็จบำนาญ ถ้ามี) เงินค่าใช้สอย เงินการจร และเงินลงทุน อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และรายจ่ายที่จ่ายเป็นเงินพระราชกุศลออกแล้ว ให้ นำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้จ่ายในฐานที่ทรงเป็นประมุข”

ทั้งนี้ข้อความในมาตรา 6 แสดงให้เห็นว่ากระทรวงการคลังในนามทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุน แต่ผลประโยชน์ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายต้องนำทูลเกล้าถวาย เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

สำหรับ มาตรา 7 “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่โดยได้รับพระบรมราชานุมัติ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ก็เป็นการยืนยันหลักกรรมสิทธิ์ว่าทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นของพระมหากษัตริย์เช่นกัน เพราะการจะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่โดยได้รับพระบรมราชานุมัติ [4] หรือโดยเจ้าของกรรมสิทธิ์คือพระมหากษัตริย์หรือคณะผู้แทนพระองค์เท่านั้น

สำหรับกรณีพระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าที่แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลในการมีพระบรมราชานุมัติให้พระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงปรากฏเช่นนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันมหิดลจึงทรงเป็นผู้พระราชทานที่ดินให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้ขอพระราชทาน ไม่มีทางบิดเบือนหรือบิดพริ้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นไปได้ก็หาไม่

พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2478
6. กรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำไมมักเป็นปัญหา?

เมื่อปี พ.ศ. 2518 ได้มีการออกพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 โดยมีใจความสำคัญว่าให้หน่วยราชการนำที่ไปขึ้นทะเบียนและให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีหน้าที่บริหารจัดการที่ดินราชพัสดุ ซึ่งกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังได้ขอให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปขึ้นทะเบียนให้เป็นที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ได้ดำเนินการดังกล่าว เพราะเห็นว่า พรบ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เป็นกฎหมายทั่วไป แต่พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2482 ถือเป็นกฎหมายพิเศษ อีกทั้งเป็นการผิดพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงต้องการให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานที่ดินเป็นของตนเอง เพื่อจัดการและบริหารผลประโยชน์เพื่อเป็นเงินกองทุน (Endowment) สำหรับการพัฒนาการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดพิมพ์หนังสือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อชี้แจงประเด็นนี้โดยละเอียด [5]

หลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่แสดงว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพระราชทานก็คือการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในบริเวณที่ตั้งสถานเสาวภาให้กับสภากาชาดไทยในปี พ.ศ. 2522 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ [6] ซึ่งหากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมิได้เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานดังกล่าวย่อมไม่สามารถโอนที่ดินให้กับสภากาชาดไทยได้

เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายเช่าที่ดินของจุฬาในเขตที่ดินพระราชทาน แต่เมื่อหมดสัญญาเช่า ทาง มทร.ตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวายได้ยกประเด็นที่ราชพัสดุกลับขึ้นมาสู้ [7] แต่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กยพ.) ชี้ขาดว่าเป็นที่ดินพระราชทานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่ดินราชพัสดุ [8]

หนังสือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2527 ในสมัยที่ ศ.ดร.เกษม สุวรรณกุลเป็นอธิการบดี




ที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำไมมักมีประเด็นปัญหาขัดแย้ง น่าจะมีมาจากหลายสาเหตุ
หนึ่ง ในระยะหลังมีขบวนการปฏิกษัตริย์นิยม (Anti-royalist) ในประเทศไทยที่มีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น ทำให้ต้องหาทางลบหลู่พระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ได้มากที่สุด ประเด็นที่ดินพระราชทานนั้นสะท้อนให้เห็นพระราชวิสัยทัศนอันยาวไกลและความเสียสละพระราชทรัพย์เพื่อการศึกษาของประชาชน จึงเป็นประเด็นที่ต้องจ้องล้มล้างหรือบิดเบือน

สอง ที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ผืนใหญ่ใจกลางเมือง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก มีผลประโยชน์มหาศาล ทำให้หน่วยราชการอื่นๆ ก็อยากได้ เอกชนก็สนใจ ต้องการเข้ามาได้ผลประโยชน์เช่นกัน

สาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอดีตก็เป็นม้าอารีให้หน่วยราชการอื่นๆ เข้ามาเช่าใช้ที่ดินในราคาถูก ทำให้เกิดปัญหาเมื่อในปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องการใช้ที่ดินดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

จากข้อมูลที่ได้ศึกษามาโดยละเอียดจะเห็นได้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 8 ทรงมีส่วนเกี่ยวข้อง/มีพระราชดำริ/พระบรมราชโองการ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทางใดก็ทางหนึ่ง แต่องค์พระผู้พระราชทานที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใช้อำนาจตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2478 ให้โอนให้โดยพระบรมราชานุมัติแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งเสด็จประทับอยู่ ณ สวิสเซอร์แลนด์ในขณะนั้น โดยมีอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลานั้นคือจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นผู้ขอพระราชทาน โดยขอพระราชทานที่ดิน ขอยกเลิกสัญญาเช่า และขอให้พระคลังข้างที่ยกหนี้ค่าเช่าที่ค้างชำระให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

ดังนั้นการกล่าวว่าที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่ดินพระราชทาน คนที่ให้ที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกับข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง

---------------

หมายเหตุ :
[1] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีเรื่องพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบล ปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้แก่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
[2] สืบค้นได้จาก https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/17273
[3] รายการหลังโฉนดที่ดินพระราชทานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงการให้เช่า การถือครอง และการโอน
[4] สืบค้นได้จาก http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABIWEBSITE/DRAWER01/GENERAL/DATA0017/00017042.DOC
[5] หนังสือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิมพ์โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2527 ในสมัยที่ศ.ดร. เกษม สุวรรณกุลเป็นอธิการบดี
[6] พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้แก่สภากาชาดไทย พุทธศักราช 2522 สืบค้นได้จาก https://www.mhesi.go.th/index.php/aboutus/legal-all/74-act/2221-fhjfkhl.html
[7] อุเทนถวาย ขอคืนความสุข! จ่อชง สนช.แก้กฎหมายให้ที่ดิน จุฬาฯ เป็นของราชพัสดุ https://mgronline.com/qol/detail/9570000088515
[8] ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ข้อพิพาทกรณีที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับอุเทนถวาย” สืบค้นได้จาก http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=1865



กำลังโหลดความคิดเห็น