xs
xsm
sm
md
lg

ไบเดน ปูตินใครจะไปก่อนกัน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"โสภณ องค์การณ์"

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน อยู่ในอำนาจมา 22 ปี และยังมีโอกาสอยู่ต่ออีกหลายปี แต่สภาวะการเมืองและสงครามยูเครนจะทำให้รอดจากวิกฤตหรือไม่ นี่เป็นทั้งคำถามและความคาดหวังของผู้นำโลกตะวันตกที่รุมกินโต๊ะผู้นำหมีขาวทุกวันนี้


อย่างน้อยมี 47 ประเทศ นำโดยสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนยูเครน ทั้งอาวุธสารพัดและเงินสนับสนุนหวังจะให้รัสเซียสิ้นสภาพความเป็นชาติมหาอำนาจด้วยการจมปลัก ติดหล่มอยู่กับสงครามยืดเยื้อในยูเครน แต่ดูแนวโน้มแล้วประเทศฝ่ายตะวันตกน่าจะต้องถามตัวเองว่าจะเอารัสเซียอยู่หมัดหรือไม่ ขณะที่ตัวเองกำลังลำบากเช่นกัน

ผู้นำทำเนียบขาว โจ ไบเดน ทำตัวเป็นพระเอกอยู่นอกประเทศด้วยการไปประชุมกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อเล่นงานรัสเซียและปิดล้อมจีนตามยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นจ้าวโลก ล่าสุดเพิ่งไปประชุมกับกลุ่ม 4 ประเทศที่ญี่ปุ่น

ขากลับโดนเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธไล่หลัง 3 ลูก ท้าทายสหรัฐฯ สุดๆ

ความพยายามเล่นงาน 2 คู่ แข่งต่อเนื่อง แต่ทำไปทำมากลายเป็นว่าจะเป็นการผลักดันให้รัสเซียกับจีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยมองว่าทั้ง 2 ประเทศจะต้องอยู่ท่ามกลางปฏิปักษ์หลายสิบประเทศนำโดยสหรัฐฯ

ดูแล้ว โจ ไบเดน อยู่ในสภาพร่อแร่เพราะความนิยมในบ้านตัวเองจากการสำรวจความเห็นของสำนักข่าวรอยเตอร์ปรากฏว่ามีเพียง 36% ของคนอเมริกันชื่นชอบขณะที่ 59% ไม่เอาด้วยกับนโยบายของผู้นำ ถือว่าเป็นสภาวะตกต่ำที่สุดตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมายังไม่ถึง 2 ปี

ผลการสำรวจความเห็นจากประชาชนซึ่งเป็นผู้ใหญ่ 1,005 คนรวมทั้ง 456 คนจากกลุ่มพรรคเดโมแครต และ 358 คนจากพรรครีพับลิกัน แสดงให้เห็นว่าความนิยมที่มีต่อโจ ไบเดน ตกต่ำถึง 6% จากการสำรวจสัปดาห์ก่อน ซึ่งความนิยมอยู่ที่ 42%

ความนิยมของ โจ ไบเดนในกลุ่มชาวเดโมแครตก็เริ่มจางหายเพราะความนิยมในพรรคตกจาก 76% สัปดาห์ก่อนเหลือ 72% ในการสำรวจครั้งล่าสุด

ขณะเดียวกันจากการสำรวจของแกลลัพโพล ช่วงวันที่ 2- 22 พฤษภาคม พบว่า 83% ของคนอเมริกันมองว่าสหรัฐฯ ได้เดินผิดเส้นทาง โดยอ้างถึงอัตราเงินเฟ้อระดับสูง การขาดแคนนมเลี้ยงทารก ราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างมากและปัญหาการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาได้มีการยิงกราดสังหารหมู่มากกว่า 200 กว่าครั้งซึ่งทำให้กรณีการสังหารหมู่ล่าสุดเกิดเสียงเรียกร้องแม้กระทั่งจาก โจ ไบเดนเองให้สังคมกดดันกลุ่มสนับสนุนการครอบครองอาวุธปืนให้มีการควบคุมเข้มข้นเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมและการสังหารหมู่

การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าแม้แต่กลุ่มชาวเดโมแครตรู้สึกไม่พอใจอย่างมากกับสภาวะที่เป็นอยู่และความพอใจได้ลดลง 14 จุดจากเดือนเมษายนเหลือเพียง 24% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราต่ำสุดในยุคของประธานาธิบดี โจ ไบเดน

จากความไม่พอใจของประชาชนต่อประธานาธิบดีและสภาคองเกรส 77% ของผู้สำรวจความเห็นชี้ว่าไม่เห็นด้วยกับผลงานที่เกิดขึ้น และน่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตัวผู้นำทำเนียบขาวและพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 6 เดือนก่อนการเลือกตั้งครึ่งเทอม อารมณ์ของประชาชนอเมริกันขุ่นมัวอย่างยิ่ง และมองดูทิศทางความเป็นไปของประเทศว่าอยู่ในเส้นทางที่ผิดพลาดและน่าจะทำให้ โจ ไบเดน ต้องเร่งทำผลงานเพื่อกู้ความนิยมให้สำเร็จ

โอกาสที่เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวจากสภาพอ่อนล้าในขณะนี้ดูยากเย็นและจะยิ่งกดดันให้พรรคเดโมแครตจะต้องเริ่มรณรงค์หาเสียงให้คนอเมริกันเลือกตัวเองให้อยู่ในอำนาจต่อไป แต่คนอเมริกันไม่สนับสนุนนโยบายทำสงครามในยูเครน
ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของกลุ่มชาติยุโรปที่มีต่อการนำของสหรัฐฯ เริ่มส่อเค้าว่าจะมีปัญหาเพราะยังไม่มีวี่แววว่าสงครามในยูเครนจะทำให้รัสเซียอ่อนแอลงได้ ตรงกันข้าม รัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการขายน้ำมันดิบและก๊าซให้ประเทศยุโรปและอินเดียขณะที่ยังรักษาค่าเงินรูเบิลอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนสงครามยูเครน

ประธานาธิบดีปูตินสามารถคุมสถานการณ์ในประเทศและความเชื่อมั่นของประชาชนได้เมื่อแสดงให้เห็นว่ามาตรการคว่ำบาตรของชาติยุโรปและนาโต้และชาติอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรัสเซียเมื่อเทียบกับปัญหาที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเงินเฟ้ออัตราสูงกว่า 10%

ชาวยุโรปกำลังเผชิญปัญหาค่าครองชีพและพลังงานราคาแพง สินค้าหลายอย่างที่จำเป็นราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะชาวอังกฤษซึ่งอยู่ในขั้นที่ต้องอดมื้อกินมื้อและลดการบริโภคเนื้อสัตว์เพราะรายได้ไม่สามารถรับกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้
ความไม่แน่นอนว่าจะมีน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซียอีกนานเท่าไหร่เพราะการเร่งให้เลิกนำเข้าพลังงานจากรัสเซียนั้นกำลังทำให้เกิดความไม่แน่นอนในตลาดพลังงานของโลก กลุ่มโอเปกแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่เพิ่มการผลิตถ้ารัสเซียเลิกส่งพลังงานให้ยุโรป เมื่อการคว่ำบาตรรอบใหม่เกิดขึ้น

ปัญหาน้ำมันแพงในอังกฤษเกิดขึ้นช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสและปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอยู่ในขั้นวิกฤตและถูกซ้ำเติมโดยมาตรการคว่ำบาตรเพื่อช่วยเหลือยูเครน

แต่รัสเซียไม่หวั่นไหวเพราะบางประเทศในยุโรป เช่นฮังการี สโลวาเกีย และออสเตรียไม่เอาด้วย เพราะเห็นว่าการเลิกนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตาย ประชาชนเดือดร้อน เศรษฐกิจเผชิญวิกฤตรุนแรงแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น