xs
xsm
sm
md
lg

มองให้ไกลไปกว่าพล.อ.ประยุทธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ถ้าออกมาตามโพลที่ตรงกันทุกโพลว่า ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะนอนมา ก็จะส่งผลสะท้อนถึงการเมืองใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างช้ากลางปีหน้า นั่นเท่ากับฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นยึด กทม.แล้ว เหลือแต่ดูว่าเสียงของฝ่ายอนุรักษ์ที่แตกกันไม่ว่าจะเป็นอัศวิน สุชัชวีร์ สกลธี รสนา รวมกันแล้วมากกว่าชัชชาติรวมกับวิโรจน์หรือเปล่า ถ้าไม่ก็อาการหนัก แต่ถ้ามากกว่าสถานการณ์ของฝ่ายอนุรักษนิยมก็ยังดีใน กทม.

ใครที่คาดหวังว่าฝ่ายอนุรักษนิยมจะสร้าง strategic vote คือเลือกเชิงยุทธศาสตร์เทคะแนนให้ใครคนใดคนหนึ่งในฝ่ายเดียวกันเพื่อสู้กับชัชชาตินั้นทำไม่ได้แน่ เพราะแต่ละคนยังคิดว่าตัวเองจะเอาชนะชัชชาติได้ ตอนนี้ก็คงจะรอผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อมองไปที่สนามเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นดูเหมือนฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยนั้นพร้อมแล้ว และแน่นอนว่าน่าจะเป็นอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ตอนนี้ก็วางโปรแกรมให้อุ๊งอิ๊งเดินสายเปิดวิสัยทัศน์ไปเรื่อยๆ

ทำให้อุ๊งอิ๊งดูเหมือนจะมีเวลาเตรียมการมากกว่าเมื่อเทียบกับอาปูของเธอที่ถึงเวลาก็ลงสนามเลือกตั้งเลยโดยไม่ได้ปูทางให้ตัวเองไว้ก่อนอย่างอุ๊งอิ๊ง และเมื่อดูลีลาแล้วอุ๊งอิ๊งน่าจะมีดีกว่าอาปูของเธอไม่น้อย จากเนื้อหาคำพูดที่สะท้อนว่าเธอมีความเข้าใจการเมืองเป็นอย่างดี

ตอนนี้น่าห่วงก็คือฝ่ายอนุรักษนิยมที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเรียกว่าสลิ่ม จริงๆ ผมก็ไม่อยากใช้คำว่าสลิ่ม ที่เมื่อก่อนดูเหมือนจะเป็นคำที่เย้ยหยันดูแคลนคนคิดต่างจากฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งที่ขัดกับทัศนคติคนเท่ากันที่พวกเขายกชู แต่กลับดูหมิ่นดูแคลนทั้งที่เพียงแต่ฝ่ายที่ถูกเรียกว่า สลิ่มมีความคิดและจุดยืนทางการเมืองไม่เหมือนกับฝ่ายตัวเองเท่านั้นเอง

แต่ผมคิดว่าวันนี้เราใช้คำว่าสลิ่มได้แล้ว เพราะปัจจุบันฝ่ายที่ถูกเรียกตัวว่า สลิ่มก็ยอมรับคำนี้แล้ว ส่วนใหญ่กล้าพูดกันอย่างเปิดเผยว่าฉันเป็นสลิ่ม แม้ว่าความหมายของสลิ่มจะถูกเหมารวมไปหมดในปัจจุบันจากความหมายเดิมที่หมายถึงกลุ่มเสื้อหลากสี

เพียงแต่น่าเสียดายที่ว่าทั้งสลิ่มและอีกฝ่ายที่สลิ่มเรียกว่าสามกีบนั้น ต่างอยู่ในห้องเสียงสะท้อน (Echo chamber) ของตัวเอง รับฟังรับรู้เฉพาะข่าวสารที่สื่อสารมาจากฝ่ายที่มีความคิดเดียวกันเท่านั้น

แต่ความจริงในฝ่ายที่ถูกเรียกว่าสลิ่มก็ไม่ได้เหมารวมกันเองและรู้ตัวว่าใครเป็นสลิ่มไม่เป็นสลิ่ม เช่นฝ่ายที่ยังยึดมั่นกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และไม่ได้ออกไปเป่านกหวีดหรือเข้าร่วมแค่เวที คปค.ของทนายนกเขาก็จะไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นสลิ่ม สลิ่มนั้นผูกติดกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พันธมิตรฯ ไม่เป็นอย่างนั้น โดยมีจุดร่วมคือ ไม่เอาระบอบทักษิณเหมือนกัน

ผมคิดว่าปัญหาของฝ่ายสลิ่มตอนนี้ก็คือ ถ้าพ้นจากพล.อ.ประยุทธ์แล้วจะเป็นใคร ในขณะที่ฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นชัดเจนแล้วว่าจะเป็นอุ๊งอิ๊ง

มีใครคิดบ้างว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถผ่านด่านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีไปได้ในเดือนสิงหาคมที่จะมาถึง ใครคือคนที่ฝ่ายสลิ่มจะเลือกมาเป็นผู้นำ ถึงวันนี้ยังมองไม่เห็น ผมไม่พูดถึงการที่จะเดินไปตามกลไกถ้าถึงวันนั้นนะครับ เช่น ตัวเลือกนายกรัฐมนตรีในฝ่ายนี้ตามรายชื่อยังมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับอนุทิน ชาญวีรกูล หรือคนนอกอย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แต่หมายถึงว่า ฝ่ายนี้จะมีใครที่จะเป็นตัวชูโรงและมีพลังที่จะดึงดูดมวลชนให้เชื่อมั่นพอๆ กับพล.อ.ประยุทธ์ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

บอกตรงๆ ว่ายังมองไม่เห็นตัวของฝ่ายนี้เลย หรือแม้แต่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ผ่านด่าน 8 ปีไปได้ แล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะต้องเป็นตัวเทียบเพื่อแข่งกับอุ๊งอิ๊งลองคิดดูว่า ภาพของลุงตู่วัยเจ็ดสิบกับหญิงสาววัยสามสิบห้าใครจะดูดีกว่ากัน เอาเถอะแม้ว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายจะไม่สวิงโหวตแน่ๆ ต่างฝ่ายก็เลือกคนที่ตัวเองเชียร์ แต่ถามว่าคนกลางๆ เขาจะเลือกใครระหว่างคนใหม่ที่ยังสดกว่าหรือคนที่บริหารประเทศมาแล้วกว่า 8 ปี และเห็นฝีไม้ลายมือกันอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร

ไม่เพียงแต่พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่สดแล้วเท่านั้น พรรคพลังประชารัฐที่ตั้งขึ้นมาเป็นเครื่องมือเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว วันนี้แปรสภาพกลายเป็นพรรคของพล.อ.ประวิตร ที่แวดล้อมด้วยอดีตทหารและนักเลือกตั้ง ไม่ได้มีกลิ่นอายของพรรคของเทคโนแครต นักวิชาการในยุคที่ยังมีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อุตตม สาวนายน สุวิทย์ เมษินทรีย์ ฯลฯ อยู่ในพรรคในการเลือกตั้งครั้งก่อน และที่สำคัญเลือกตั้งครั้งหน้าอำนาจอิทธิพลของ คสช.กลิ่นอายของเผด็จการที่ข่มคู่ต่อสู้นั้นเจือจางลงไปแล้ว

ต้องยอมรับด้วยว่านอกจากกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายที่เป็นติ่งใครติ่งมันแล้ว คนกลางๆ อีกจำนวนมากที่คอยตัดสินใจตามสถานการณ์ ครั้งที่แล้วนั้นมีกระแสว่า ถ้าเลือกลุงตู่แล้วบ้านเมืองจะสงบ หลายคนก็อยากให้บ้านเมืองสงบหลังเผชิญกับวิกฤตการเมืองมาเป็นสิบปี ผ่านมาวันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง

แถมสิ่งที่เกิดขึ้นคือการต่อต้านรัฐบาลที่ถูกมองว่าสืบทอดอำนาจนั้น ได้ลามไปยังสถาบันพระมหากษัตริย์จนเกิดการเรียกร้องการปฏิรูปบนท้องถนน นอกจากนั้นคนกลางๆ ยังต้องมองถึงสภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบต่อการทำมาหากินในทางธุรกิจว่าพวกเขาควรจะฝากความหวังไว้กับใคร เสียงของคนกลางๆ เหล่านี้นี่แหละจะเป็นตัวตัดสินที่สำคัญระหว่างมวลชนสองฝ่ายที่มีความก้ำกึ่งกัน

ที่สำคัญยังต้องเจอบัตรเลือกตั้งสองใบที่แนวโน้มว่า การคิดระบบบัญชีรายชื่อจะกลับไปใช้แบบ 2540 ที่พรรคที่ได้ ส.ส.เขตเยอะก็จะได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อมากขึ้นด้วย ก็มีแนวโน้มว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดแน่ๆ เหลือแต่ว่าสุดท้ายแล้วจะจบลงอย่างแลนด์สไลด์ที่พรรคเพื่อไทยพยายามปั่นเพื่อเรียกคนเก่าๆ และคนเสื้อแดงที่หันไปฝักใฝ่พรรคก้าวไกลให้กลับมายังพรรค

คำถามว่าฝ่ายที่ถูกเรียกว่าสลิ่มถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมองหาคนที่เป็นความหวังเอาไว้นอกเหนือจากพล.อ.ประยุทธ์ หรือจะรวมพลังกันอย่างไรให้เป็นหนึ่งเดียว หรือในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเลือกใครในเชิงยุทธศาสตร์เหมือนครั้งที่แล้วที่ทิ้งพรรคประชาธิปัตย์มาเลือกพรรคพลังประชารัฐเพื่อดันให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

วันนี้มีใครไหมที่จะเป็นคนที่ฝ่ายสลิ่มจะฝากความหวังและฝากประเทศไว้ในมือได้ เพราะสิ่งที่ฝ่ายสลิ่มยึดมั่นก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นอกจากต้องการผู้นำที่ซื่อสัตย์สุจริตแล้วยังต้องการผู้นำที่มีความเชื่อมั่นต่อสถาบันหลักของชาติด้วย

ฝ่ายสลิ่มต้องคิดว่าเดือนสิงหาคมนี้พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อไหม หรือถ้าได้ไปต่อในการเลือกตั้งครั้งหน้าพล.อ.ประยุทธ์ยังมีดีพอไหม หรือวันนี้สลิ่มต้องมองไปให้ไกลกว่าการฝากความหวังไว้กับพล.อ.ประยุทธ์

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น