อย่างที่ว่าเอาไว้เมื่อวันวานนั่นแหละว่า...ขณะที่ยังคงมั่วไป-มั่วมา ยังแก้ปัญหาในแถบยุโรป หรือในซีกโลกอีกซีกหนึ่งยังไม่แล้วเสร็จ แต่การที่คุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรตะวันตก กลับแสดงออกถึงความกระเหี้ยนกระหือรือ ในอันที่จะมุ่งขยายบทบาท อิทธิพล เข้ามายังเอเชีย มายังภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” หรือมายังซีกโลกอีกซีกหนึ่ง อย่างเป็นงาน-เป็นการ เป็นระบบและกิจการ ถ้าว่ากันโดย “ภาพรวม” แล้ว แทบไม่ต่างอะไรไปจากการ “ส่งสัญญาณ” ให้เห็นค่อนข้างชัดเจน ว่าความเป็นไปได้ของ “สงครามโลกครั้งที่ 3” ย่อมอยู่ไม่ใกล้-ไม่ไกล นับจากนี้...
ยิ่งถ้าลองไปหยิบเอาคำพูด คำจา ของพันธมิตรหลักๆ ของคุณพ่ออเมริกาและตะวันตก อย่างคุณพี่ญี่ปุ่น-ยุ่นปี่ มาแยกแยะในรายละเอียด ก็น่าจะยิ่งเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นไปใหญ่ โดยเฉพาะคำพูดของท่านนายกรัฐมนตรี “ฟูมิโอะ คิชิดะ” ระหว่างเดินทางไปลงนามความร่วมมือทางทหารกับประเทศอังกฤษ เมื่อวัน-สองวันมานี้ ที่ถึงกับ “ฟันธง” แบบเต็มด้าม มิดด้ามเอาไว้ประมาณว่า... “ยูเครนวันนี้...อาจกลายเป็นเอเชียตะวันออกวันพรุ่งนี้” ไปจนการเรียกร้อง เร่งเร้า ให้ “บรรดาประเทศที่มีความรู้สึกคล้ายๆ กัน จะต้องหันมาร่วมแรง-ร่วมใจ โดยต้องไม่ยอมอดทน อดกลั้น ต่อความพยายามที่จะเปลี่ยนสถานภาพประเทศในเอเชียตะวันออก หรือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ด้วยกำลังทหารโดยเด็ดขาด...”
อันนี้...ถ้าแปลญี่ปุ่นเป็นไทย ก็คงประมาณการสะท้อนให้เห็นถึง “จุดยืน” ของญี่ปุ่นค่อนข้างชัดเจน ว่ากำลังพยายามสร้างความพร้อมในการเผชิญหน้าทางทหารกับกรณีการบุกไต้หวัน อย่างกระเหี้ยนกระหือรือเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรไปจากคุณพ่ออเมริกาและพันธมิตรตะวันตกนั่นเอง โดยถ้าว่ากันตามคำพูด คำให้การ ของผู้บัญชาการด้านยุทธศาสตร์โดยรวมของสหรัฐฯ หรือหน่วยงานที่เรียกขานกันในนาม “STRATCOM” อย่าง “พลเรือเอกCharles Richards” ที่ได้ไปให้การกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาฯ เมื่อช่วงวันพุธ (5 พ.ค.) ที่แล้ว ที่ถึงกับหลุดปากออกมาว่า การรวมไต้หวันเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจีนด้วยกำลังทหาร อาจเกิดขึ้นภายในปี ค.ศ. 2027 หรือ...เร็วกว่านั้น!!! ไม่ต่างไปจากผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิก “พลเรือเอกSamuel Paparo” ที่เคยสรุปเอาไว้ประมาณเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประมาณว่า... “ปักกิ่งกำลังศึกษาบทเรียนกรณีวิกฤตยูเครนอย่างเอาจริง-เอาจัง และภายใต้สภาพการณ์ที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน โอกาสที่จะเกิดการบุกไต้หวัน ยิ่งมีความเสี่ยงสูงระดับแทบคาดเดาไม่ได้ยิ่งเข้าไปทุกที...”
โดยความคิด ความเห็น ของผู้บัญชาการด้านยุทธศาสตร์ อย่าง “พลเรือเอกCharles Richards” นั้น...ท่านเห็นว่าการบุกยูเครนของรัสเซีย สามารถอาศัยม่านคลุมบางๆ ของขีดความสามารถทาง “นิวเคลียร์” ทำให้สหรัฐฯ และนาโต ไม่พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงปฏิบัติการดังกล่าวได้ถนัดถนี่สักเท่าไหร่ และสิ่งเหล่านี้นี่เอง...ที่จะทำให้จีนซึ่งกำลังพยายามยกระดับขีดความสามารถทางนิวเคลียร์อย่างเอาจริง-เอาจัง จะอาศัยเป็นแนวทางในการจัดการกับไต้หวันต่อไป ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอเมริกันจะต้องเร่งเพิ่ม “งบประมาณทางทหาร” ให้กับเพนตากอนให้มากๆ เข้าไว้ และเร็วๆ เข้าไว้ เพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ไม่งั้นก็อาจต้องหันไปทำตามคำชี้แนะ ชี้นำ ของที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ อย่างบริษัท “Rand Corporation” ที่ให้หาทางเปิดช่อง เปิดโอกาส ให้ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในอินโด-แปซิฟิก อย่างญี่ปุ่น พัฒนาขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ขึ้นมาเอง...
แต่จะอย่างไรก็ตาม...ความพยายามแผ่ขยายบทบาท อำนาจ อิทธิพล ของสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตก เข้ามายังภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก แทบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะฟังจากน้ำเสียงของเลขาธิการนาโต อย่าง “พลเอกเจนส์ สโตลเตนเบิร์ก” (Jens Stoltenberg) หรือรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ “นางลิซ ทรัสส์” (Liz Truss) ที่ถึงขั้นหวังอยากจะเห็น “นาโตโลก” (A Global NATO) เอาเลยถึงขั้นนั้น โดยที่ความเคลื่อนไหว ความกระเหี้ยนกระหือรือในลักษณะทำนองนี้ ย่อมเป็นที่รับรู้ รับทราบ ของพญามังกรจีนได้เป็นอย่างดี ดังที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว “Sputnik” “คุณEkaterina Blinova” เธอได้ร่ายเรียงเอาไว้ในข้อเขียน บทความ ว่าด้วยเรื่อง “China to Respond Harshly if US&NATO try to use Ukraine-Playbook in Taiwan” หรือพูดง่ายๆ...คุณพี่จีนท่านก็ได้เตรียม “ง้างรอ” เอาไว้นานแล้ว สำหรับการตอบโต้อย่างหนักหน่วงไม่น้อยไปกว่ากัน ถ้าหากต้องเจอกับฉากสถานการณ์แบบ “ยูเครนวันนี้...คือเอเชียตะวันออกวันพรุ่งนี้” อย่างที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสร้างวาทกรรมเอาไว้ประมาณนั้น...
โดยเฉพาะในแง่ของความไว้เนื้อ-เชื่อใจ ความไว้วางใจต่ออเมริกาของบรรดาชาวจีนทั้งหลาย ที่แทบไม่เหลือติดปลายนวมเอาไว้อีกเลย ไม่ใช่แต่เฉพาะช่วงที่เกิด “วิกฤตยูเครน” เท่านั้น แต่มันเริ่มชัดเจนมาตั้งแต่ยุค “ทรัมป์บ้า” ที่พยายามเปิดฉาก “สงครามการค้า” กับจีนแบบดุเดือดเลือดพ่านมาโดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา จนทำให้สื่อทางการของจีนบางราย ถึงกับอุปมา-อุปไมยถึงบทบาทของรัฐบาลอเมริกัน ว่าประมาณคล้ายๆ “ลอร์ด โวลเดอมอร์” (Voldemort) ดาวร้ายหรือตัวร้ายแบบสุดๆ ในหนังฮอลลีวูดเรื่อง “สตาร์ วอร์ส” เอาเลยถึงขั้นนั้น บางครั้ง บางครา ถึงกับใช้คำเรียกขานว่าไม่ต่างอะไรไปจาก “ผีดูดเลือด” ที่พยายามสร้างศัตรูและหาทางแสวงหาโชคลาภจากกองเถ้าถ่านแห่งสงคราม...
ดังนั้น...แม้ว่าโดยท่าทีของจีนในกรณีการบุกยูเครนของรัสเซีย จะออกมาในแนวกลางๆ แต่ภายใต้ความรู้สึกที่แทบไม่หลงเหลือความไว้เนื้อ-เชื่อใจใดๆ ให้กับอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกต่อไปอีกแล้ว จะทำให้ชาวจีน หรือรัฐบาลจีน คิดจะเตรียมรับมือ เตรียมตอบโต้ กันในแบบไหน วิธีไหน โดยเฉพาะในแง่การทหาร หรือการยกระดับขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ โดยข้อเขียน-บทความดังกล่าว ก็ยังไม่ได้อธิบายเอาไว้ชัดเจน แต่ในแง่ทาง “เศรษฐกิจ” อันถือเป็นศักยภาพสำคัญของจีน หรือในฐานะประเทศมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ที่ใกล้ๆ ขึ้นชั้นเป็นอันดับ 1 ของโลก ในอีกไม่ใกล้-ไม่ไกลนับจากนี้ ผู้เขียนได้ไปนำเอาความคิด-ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านจีนรายหนึ่ง คือ “นายThomas W. Pauken” ที่เคยเขียนหนังสือเรื่อง “US vs China: From Trade War to Reciprocal Deal” มาแจกแจงให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวบางประการของ “ชุมชนธุรกิจจีน” นับตั้งแต่ยุค “ทรัมป์บ้า” เป็นต้นมา นั่นก็คือ...การปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนของบริษัทจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการหันมาลงทุนภายในประเทศ หรือการหันไปลงทุนกับบรรดาประเทศ “เศรษฐกิจใหม่” โดยผ่าน “เครื่องมือ” ชิ้นสำคัญที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมารองรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็นการเฉพาะ นั่นคืออภิมหาโครงการ “BRI” หรือ “Belt & Road Initiative” นั่นเอง...
โดยแม้ว่าในแง่ของขีดความสามารถทางนิวเคลียร์ หรือศักยภาพทางทหาร...มหาอำนาจคู่แข่งของอเมริกาทั้งสองรายอย่างรัสเซียและจีน ที่จับมือกันเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่ออกจะเหนียวแน่นเอามากๆ จะเป็นฝ่ายได้เปรียบ-เสียเปรียบอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกมาก-น้อยขนาดไหน??? ก็ยังเป็นเรื่องที่ยากจะสรุปได้ชัดเจน แต่ภายใต้สภาพที่โลกทั้งโลกกำลังต้องเผชิญหน้ากับภาวะเงินเฟ้อ ภาวะขาดแคลนพลังงาน อาหาร และสินค้าจำเป็นต่างๆ ไปจนอุปสรรคชะงักงันจากกระบวนการ Supply Chains ฯลฯ นับจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนถึงกรณีวิกฤตยูเครน ที่อาจถึงขั้นนำไปสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ในระดับทั่วทั้งโลก อีกไม่ใกล้-ไม่ไกลนับจากนี้...
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง “นายPauken” มองเห็นก็คือ ฝ่ายที่เป็นผู้ได้เปรียบ หรือฝ่ายที่มีโอกาสชนะ ก็คือฝ่ายที่สามารถครอบครองส่วนแบ่ง “ตลาด” ขนาดใหญ่ รวมทั้งมีทรัพยากรสำคัญๆ ในมือมากพอ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน แก๊ส ถ่านหิน แร่ธาตุ ไปจนแร่หายาก ฯลฯ การจับมือกันอย่างเหนียวแน่นของ 2 หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ อย่างจีนที่ไม่เพียงแต่มี “ตลาด” อันประกอบไปด้วยผู้คนนับเป็นพันล้านภายในประเทศ และยังมีทางออก ทางเลือก อันมากมายมหาศาลจากโครงการ “BRI” กับรัสเซียที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 2 ของโลก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งแก๊ส ถ่านหิน รวมทั้งยังสามารถผลิตอาหารไม่ใช่แค่เฉพาะเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ แต่ยังส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างเป็นเรื่อง-เป็นราว โดยสถานะเช่นนี้ ย่อมต้องทำให้ไม่ว่าคุณพ่ออเมริกาและนาโต หรือพันธมิตรตะวันตก พยายามเพิ่มบทบาท ขยายบทบาททางทหาร ไปสู่ภูมิภาคหรือซีกโลกใดๆ ก็แล้วแต่ โอกาสที่จะ “แพ้...กับ...แพ้” ย่อมมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ...