xs
xsm
sm
md
lg

คำถามถึง “อัศวิน” และ “ดร.เอ้” / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


วาระสำคัญในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำลังจะมาถึงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ก็จะเป็นเวทีตัดสินทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากดูสถิติตามโพลแล้วเชื่อได้ว่า“ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล”ค่อนข้างนิ่งแล้ว เพราะส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจแล้ว โดยพิจารณาจากร้อยละของโพลรวมกันของฝ่ายตรงกันข้ามรัฐบาล มีความใกล้เคียงกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศเมื่อปี 2562 แล้ว คือประมาณ 45.42% [1]

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ห่างเหินมาเป็นเวลา 9 ปี ประชากรศาสตร์ของกรุงเทพมหานครก็เปลี่ยนไปอย่างมากและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว โดยหากพิจารณาจากฐานเสียงเมื่อปี 2562 รวมผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เคยหย่อนบัตรเป็น“ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล”นั้นมีมากกว่า“ฝ่ายรัฐบาล”แล้ว

กล่าวคือ ประชากรที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร มีประมาณร้อยละ 45.42% ในขณะที่ฝ่ายที่อยู่ข้างรัฐบาลชุดปัจจุบันรวมกันมีอยู่ประมาณ 40.84%[1] ซึ่งหลายคนเชื่อได้ว่าคะแนนของทั้งสองปีกนี้ ไม่น่าจะเคลื่อนย้ายข้ามฝ่ายไปมาได้มากเท่าไหร่นัก

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยประชากรผู้สูงวัยที่มีแต่ลดลงเพราะเสียชีวิตตามวัย กับการมีสิทธิเลือกตั้งของคนรุ่นใหม่ที่จะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามกับฐบาลจะมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นในกรุงเทพมหานคร

แน่นอนว่า “ฝ่ายรัฐบาล”และ“ฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกับรัฐบาล”จะเสียงแตกเหมือนกัน หรือคะแนนตัดกันเอง แต่การตัดสินใจของฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลนั้น โอกาสลังเลน้อยกว่า เพราะความเบื่อและความเกลียดต่อรัฐบาลมีมากกว่าเป็นทุนอยู่แล้ว

จึงน่าเชื่อได้ว่าประชาชนฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล ได้ตัดสินใจไปเกือบหมดตั้งแต่แรกๆแล้วว่าจะเลือกใคร ดังจะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลนั้น โพลระบุว่าคะแนนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มาเป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกลตามมาเป็นอันดับที่ 2 โดยมี น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทยตามมาเป็นอันดับที่ 3 [2]

โดยนิด้าโพล ซึ่งได้สำรวจระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2565 ได้ระบุว่า นายชัชชาติ ได้คะแนนนิยม 38.84%, นายวิโรจน์ได้ 6.02% , น.ต.ศิธาได้ 1.47% รวมกัน 46.33% เพิ่มขึ้นจากฐานเสียงจากปี 2562 เล็กน้อย คือ 45.42%[2]

ซึ่งมีเรื่องที่น่าสนใจผ่านการวิเคราะห์ของรศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ตผ่านนิด้าโพลพบว่าคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปี ได้ตัดสินใจแล้วที่จะเลือกนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์มากถึง 53.33% [3] แทนที่จะเป็นนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศรพรรคก้าวไกล สะท้อนถึงคะแนนนิยมในจุดยืนพรรคก้าวไกลต่อไปว่าจะสามารถกลับมาเหมือนตอน“ส้มหล่น”ในวันที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบทิ้งไปในการเลือกตั้งปี 2562 ได้หรือไม่และมากน้อยเพียงใด และฐานเสียงของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ก็ค่อนข้างคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักเท่าไหร่

เช่นเดียวกับโพลที่“ไม่ได้จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”[4] แต่มีผู้ว่าจ้างคือ บริษัท เอ็ดดูเคชั่น สตูดิโอ จำกัด โดยเป็นการดำเนินการของรศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์[4] ซึ่งอ้างว่าได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-22 เมษายน 2565 ระบุว่า

นายชัชชาติได้ 27.93%, นายวิโรจน์ได้ 10.16%, น.ต. ศิธาได้ 7.41% 3 คนนี้รวมกันได้ 45.50% เกือบเท่าหรือใกล้เคียงกับฐานเสียงปี 2562 คือ 45.42% หากโพลมีความถูกต้องโดยยึดเอาฐานเสียงของการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็นเกณฑ์

ก็ชัดเจนว่าคนฝ่ายตรงกันข้ามรัฐบาลตัดสินใจเกือบหมดแล้ว แม้จะตัดคะแนนกันเองของกลุ่มนี้บ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงลำดับอาจจะไม่มากไปกว่านี้ และของพรรค์นี้เมื่อมีการสถาปนาเป็นพรรคการเมืองแล้ว ย่อมไม่มีใครยอมถอดใจที่จะเทคะแนนให้ใครอยู่แล้ว

เพียงแต่ฐานเสียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของพรรคไทยสร้างไทย นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ที่ส่งน.ต.ศิธา ทิวารีนั้น กลายเป็นตัวตัดคะแนนที่สำคัญที่สุดของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ยิ่งฐานเสียงของ น.ต.ศิธา ทิวารี มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ทำให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คะแนนลดลงเท่านั้น

ส่วนฝ่ายที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นขั้วเดียวกับรัฐบาลนั้น หรือเชื่อว่ามีฐานเสียงกลุ่มเดียวกันที่อยู่ตรงกันข้าม มีอยู่ประมาณ 40.84% หรือน้อยกว่านั้น คือพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, นางสาวรสนา โตสิตระกูล, และ นายสกลธี ภัททิยกุลแต่ถึงกระนั้น ไม่ได้แปลว่าปีกนี้จะไม่มีโอกาสชนะเสียทีเดียว

เหตุก็เพราะว่าเมื่อพิจารณาตามโพลของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์มีคะแนนตามนิด้าโพลซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2565 อยู่ที่ 38.84%[2] ในขณะที่โพลของรศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ซึ่งระบุการสำรวจระหว่างวันที่ 15-22 เมษายน 2565 ว่าคะแนนนิยมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อยู่ที่ 27.93% [5] นั้นสะท้อนให้เห็นว่าคะแนนนำสูงสุดภายใต้การตัดคะแนนกันเองของกลุ่มนี้ ยังไม่มากเกินกว่าการรวมตัวของกลุ่มฐานเสียงของรัฐบาลที่ยังมีมากถึง 40.84%

และเสียงกลุ่มนี้แหละที่ยังสับสนลังเลอยู่มาก เพราะปัญหาของผู้สมัครในเวลานี้ยังอยู่ในความกลัวว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะชนะ กับปัญหาข้อสงสัยของผู้สมัครตัวเต็งยังไม่มีคำตอบที่ประชาชนควรจะต้องรู้ สังเกตุได้จากมีคะแนนของโพลให้ผลไม่เหมือนกันทั้ง อันดับและคะแนนในผล“นิด้าโพล” จึงมีควมแตกต่างกับโพลของ “รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์” รวมถึงการกลับไปกลับมาของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมีขึ้นลงผันผวนมากที่สุด สะท้อนถึงความเบี่ยงเบนที่โพลอาจไม่ถูกต้องได้

ซึ่งแม้ว่าพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองจะลงสมัครรับเลือกตั้งอิสระ แต่ข่าวปรากฏในการวิเคราะห์ของสื่อมวลชนจำนวนมากก็ยังเคลือบแคลงสงสัยด้วยข้อมูลความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณและ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า[6]-[7] ผ่านตัวละครสำคัญคือนายสุชัย พงษ์เพียรชอบ เลขาธิการกลุ่มรักษ์กรุงเทพ[8]-[10]

 ซึ่งพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองได้แต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาผู้ว่า กทม.นั้น [11] มีชื่อเป็นกรรมการที่เกี่ยวพันกับหลายบริษัทของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า [12] และกลายเป็นคนสำคัญของพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองในวันนี้ จริงหรือไม่?[10]

การได้แนวร่วมสำคัญนี้ถ้าใครรักร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณก็อาจจะเลือกพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้หรือไม่?

ปัญหาที่ท้าทายต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในเรื่องแรกที่ควรจะต้องตอบในทุกโครงการที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ซึ่งได้ระบุอย่างละเอียดหลายโครงการว่าปัญหาของกรุงเทพมหานครนั้นคือ เต็มไปด้วยกับการทุจริต คอร์รัปชั่น ถ้าไม่แก้ไขปัญหาการทุจริตแล้วจะพัฒนากรุงเทพมหานครได้อย่างไร?[13]-[14]

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองควรจะต้องตอบดร.มานะ นิมิตรมงคลให้ได้ดังตัวอย่างของการตั้งคำถามของ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ในทุกข้อ ดังตัวอย่างว่า

“6. สำนักการโยธาฯ ซื้อยางมะตอยเพื่อซ่อมผิวถนนราวปีละ 170 – 190 ล้านบาท ข้อมูลจากระบบ ACT ai ชี้ว่าคู่สัญญาบางรายน่าจะเป็นเพียงนายหน้า เพราะขาดคุณสมบัติเป็นผู้ผลิตหรือให้บริการด้านนี้ได้ เช่น ไม่มีโรงงาน ไม่มีสายการผลิตหรือแปรรูป โกดัง เครื่องจักรหนัก ฯลฯ

7. การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล 11 แห่งและศูนย์บริการสาธารณะสุข 69 แห่ง ของ กทม. มักจัดซื้อเป็นรายการย่อยที่มูลค่ารวมต่อครั้งไม่สูงมาก จึงน่าแปลกใจว่าทำไมไม่ซื้อคราวละหลายรายการเพื่อให้ได้ราคาถูก
8. มีการเช่ารถขนขยะแบบผูกขาดต่อเนื่องนับสิบปี จากเอกชนที่เป็นนักการเมืองใหญ่

9. มีการจัดซื้อเครื่องดนตรีราคาแพงมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท แจกจ่ายไปตามโรงเรียนแต่ขาดครูดนตรีเฉพาะทาง หลังจากนั้นก็ขายออกเป็นของใช้แล้วในราคาถูกมาก เช่น เปียโน

10. สองเมกกะโปรเจกต์อื้อฉาว จากความไม่โปร่งใส ปิดกั้นการตรวจสอบจากภาคประชาชนตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ คือ โครงการลงทุนโรงกำจัดขยะและผลิตไฟฟ้าที่อ่อนนุช มูลค่า 1,046 ล้านบาท และที่หนองแขม มูลค่า 6,712 ล้านบาท (ยังไม่รวมรายได้จากค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดจากการเผาขยะ) เพราะจงใจถอนตัวจากข้อตกลงคุณธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ ในเดือนตุลาคม 2563”[13]

และประเด็นที่สำคัญไปมากกว่านั้นพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. นั้นได้เสนอ “การแก้ไขสัญญาขยายสัมปทาน BTS ไปอีก 30 ปี ด้วยค่าตั๋วโดยสาร 65 บาท ไปแล้ว ใช่หรือไม่?” หรือจะคิดค่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสูงสุด 104 บาท ทั้งๆที่รายงานประจำปีต้นทุนการเดินรถของ BTS เองก็อยู่ระหว่าง 15-16 บาท “ต่อเที่ยว” เท่านั้น จริงหรือไม่?


คำถามนี้มีเดิมพันต่อการใช้ชีวิตของกรุงเทพมหานครในการเดินทางไปอีก 30 ปี ด้วยเหตุเพราะว่า ทรัพย์สินของรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหลักจะหมดอายุสัมปทานในปี 2572 ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐ และรัฐสามารถเปิดประมูลการเดินรถโดยกำหนดค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาทตลอดสายได้ จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานของกระทรวงคมนาคม ที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานให้เอกชนโดยรัฐเสียประโยชน์ดังความตอนหนึ่งว่า

“การบริหารงานเองของ กทม.เมื่อพิจารณาจากรายงานการศึกษาของ กทม.ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว บทที่ 5 ข้อที่ 5.2 เรื่องการวิเคราะห์ด้านการเงินของโครงการ พบว่ากรณีที่รัฐดำเนินการเองระหว่างปี 2562 – 2602 จะมีกระแสเงินสดรวม 1,577,141 ล้านบาท มีรายจ่าย 1,109,312 ล้านบาท มีส่วนต่างรายรับรายจ่ายรวม 467,822 ล้านบาท

ขณะที่การให้สัมปทานกับเอกชน รายได้ที่ กทม.จะได้รับรวม 230,450 ล้านบาท รายจ่ายของ กทม.อยู่ที่ 197,760 ล้านบาท คิดเป็นส่วนต่างรายรับกับรายจ่าย 32,690 ล้านบาท”[15]

สรุปคือ หากรัฐไม่ต่อสัญญาสัมปทาน รัฐจะมีรายได้หักค่าใช้จ่ายมากถึง 467,822 ล้านบาท แต่ให้สัมปทานเอกชนรัฐจะได้เพียง 32,690 ล้านบาท

จากการเปรียบเทียบตัวเลขข้างต้น หนี้สินที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ย่อมสามารถใช้คืนได้หมดหรือผ่อนได้หมด โดยที่รัฐยังสามารถเป็นอิสระกับ BTS ด้วยต้นทุนที่ไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนใช่หรือไม่?

ถามว่า ถ้าสมมุติคำตอบเป็นจริงเช่นนั้นแล้ว ประชาชนคนกรุงเทพมหานคร จะยอมโหวตทางยุทธศาสตร์ แล้วจะทำให้ประชาชนลูกหลานต้องเดือดร้อนไปอีก 30 ปีหรือไม่ ?

โดยเฉพาะสัญญาจ้าง BTS ติดตั้งระบบเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียว “ล่วงหน้า” ที่ทำเอาไว้ตั้งแต่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่า กทม. (ในยุคไม่เลือกเรา เขามาแน่)ในปี พ.ศ. 2555 และ 2559 ให้มีระยะสัญญาเดินรถยาวถึงปี 2585 ซึ่งเลยสัญญาสัมปทานสีเขียวเส้นทางหลักที่จะหมดอายุปี 2572 นั้น การทำให้เกิด“สัญญาเขย่งเวลา”ก็เป็นไปเพื่อทำให้เกิดเงื่อนไข BTS ได้เปรียบกว่าเอกชนรายอื่นหลังหมดอายุสัมปทานเส้นทางหลักของรถไฟฟ้าสายสีเขียวปี 2572 ใช่หรือไม่ เพราะไม่มีเอกชนรายใดจะสามารถเข้ามาแข่งขันเดินรถต่อเนื่องตลอดสายได้เหมือนกับ BTS จริงหรือไม่?

คำถามตามมาคือ กทม. ดำเนินการเช่นนี้ได้อย่างไร ทั้งๆที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่ได้โอนทรัพย์สินส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับกรุงเทพมหานครเลย

คำถามตามมาคือพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองยังจะยอมรับสัญญา โดยการปล่อยให้“เดินรถ” เช่นนี้ต่อจากม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เพื่อเป็นเหตุอ้างให้กรรมการที่จัดตั้งโดย คสช. โดยอ้างหนี้สินและการขาดทุนไปเสนอ คณะรัฐมนตรีเพื่อขยายสัญญาสัมปทาน BTS หรือไม่? และถ้า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในฐานะผู้ว่า กทม. ได้ร่างสัญญาแก้ไขสัมปทานเพื่อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรีไปแล้ว จะปกปิดสัญญานี้ต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อเรื่องนี้กระทบต่อประชาชนในกรุงเทพมหานครทุกคน จริงหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างย่ิง กรณีดังกล่าวข้างต้นกำลังถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างการไต่สวนอยู่ในขณะนี้ เหตุใดจึงเดินหน้ายอมรับสัญญา แล้วปล่อยให้เดินรถตามสัญญาที่มีปัญหาและอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.ยังไม่แล้วเสร็จเช่นนี้ได้อย่างไร?

ในขณะที่ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ผู้สมัครผู้ว่า กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ก็ควรจะตอบคำถามได้แล้วว่า เมื่อครั้งที่พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 แต่งตั้งให้ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์เป็นกรรมการ หรือถึงขั้นเป็นประธานกรรมการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ในการเจรจากับ BTS นั้น เหตุใด ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จึงมีข้อเสนอให้มีการต่อให้อายุสัญญาสัมปทานกับ BTS ไปอีก 40 ปี จริงหรือไม่ จนเป็นเหตุทำให้กระทรวงมหาดไทยพยายามที่ต่อสัญญาสัมปทาน BTS ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา[16] แต่โชคดีที่พรรคภูมิใจไทยและกระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วย

และถ้าใช่คำถามที่ตามมาคือ ข้อเสนอต่ออายุสัญญาสัมปทานเพื่อแลกหนี้ ที่ไม่สอดคล้องกับความคุ้มค่าต่อรัฐ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?ดร.สุชัชวีร์ได้เคยคัดค้านเป็นหลักฐานเอาไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการเจรจาชุดดังกล่าว หรือไม่?

ที่ต้องถามเช่นนี้ก็เพราะดร.สุชัชวีร์​ สุวรรณสวัสดิ์เวลาหาเสียงเพื่อเป็นผู้ว่า กทม. ก็เสนอนโยบายว่าจะไม่ต่อสัญญาสัมปทาน BTS นั้น คำถามคือเหตุใดจึงแตกต่างกับ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในยามที่มีอำนาจเป็นประธานคณะกรรมการเจรจากับ BTS แล้วกลับมีข้อเสนอว่าให้ต่อสัญญาสัมปทาน BTS ออกไปอีก 40 ปีจริงหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสงสัยของประชาชนและฝ่ายการเมืองที่ต้องการจะได้รับคำตอบคือ เมื่อ ดร.สุชัชวีร์ ประกาศตัวว่าจะลงสมัครผู้ว่า กทม. นั้น เหตุใดจึงมีป้ายโฆษณาของสถานี BTS ให้กับ ดร.สุชัชวีร์​ สุวรรณสวัสดิ์ มากถึงถึง 450 ป้ายอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง และเป็นผู้สมัครที่มีป้ายอยู่ในสถานี BTS อยู่พรรคเดียวและคนเดียว ใครเป็นคนจ่ายเงินให้กับการโฆษณาครั้งนั้น และเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทนหรือไม่? คิดว่าประชาชนชาว กทม.ก็คงจะอยากได้คำตอบนี้เช่นเดียวกัน

และสำหรับหลายคนที่อาจจะคาดหวังว่าดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อาจเจริญเติบโตไปเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ กำลังเฝ้าดูเหมือนกันว่าดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์จะมีความกล้าหาญพอที่จะเรียกร้องให้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์แสดงสปริตลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อรับผิดชอบกรณีข่าวฉาวของนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ หรือไม่? แต่ถ้าไม่มีความกล้าหาญถึงขั้นนั้น ก็อาจจะไม่แปลกใจว่าเหตุใด ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะเป็นประธานการเจรจากับ BTS แล้วทำไมจึงกลายเป็นปัญหามากมายถึงขนาดนี้ ใช่หรือไม่?

เชื่อเถอะว่าหากพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมืองและดร.สุชัชวีร์​ สุวรรณสวัสดิ์ยังไม่ตอบคำถามข้างต้นนี้ เสียงฝ่ายนี้จะต้องแตกต่อไป เพราะคงไม่มีใครต้องการจะไปลงคะแนนและสร้างความเดือดร้อนเป็นบาปกรรมให้กับลูกหลานกรุงเทพมหานครไปอีก 30 ปี ใช่หรือไม่?

และไม่ว่าโพลจะเป็นเช่นไร แต่วันหย่อนบัตรผลลัพธ์อาจออกมาอีกอย่างหนึ่งได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาชนตกผลึก ดังเช่นสมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่ประชาชนไม่เชื่อโพลและออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกคนที่จะไปหยุดโกงได้จริง ไปเป็นผู้ว่า กทม.

ด้วยความปรารถนาดีและรอคำตอบอยู่

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
28 เมษายน 2565


อ้างอิง

[1] วิกิพีเดีย, กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562
https://th.wikipedia.org/wiki/กรุงเทพมหานครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป_พ.ศ._2562

[2] นิด้าโพล, สนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. 65 รอบที่ 1, 10 เมษายน 2565
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=561

[3] พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, ใครเลือกชัชชาติ ใครยังไม่ตัดสินใจ, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 15 เม.ย. 2565 16:39 ปรับปรุง: 15 เม.ย. 2565 16:39
https://mgronline.com/daily/detail/9650000036067

[4] The Standard, ธรรมศาสตร์ขอสื่ออย่าใช้ชื่อ ‘โพลธรรมศาสตร์’ เพราะมหาวิทยาลัยไม่มีการทำโพลในชื่อมหาวิทยาลัย, 27 เมษายน 2565
https://thestandard.co/thammasat-asks-the-media-not-to-use-their-name-poll-thammasat/

[5] ผู้จัดการออนไลน์, โพล มธ. "ดร.เอ้" ตามเบียด "ชัชชาติ" ไม่ห่าง "อัศวิน" แซง "วิโรจน์" ขึ้นอันดับ 3, เผยแพร่: 26 เมษายน 2565 17:53 ปรับปรุง: 26 เม.ย. 2565 17:53
https://mgronline.com/smes/detail/9650000039748

[6] ข่าวปนคน คนปนข่าว, “ธรรมนัส” ยอดขุนพล “อัศวิน-นอมินี” “ลุงป้อม” ได้ที่ชอบๆ แบบนี้ กทม.เป็นของ พปชร.จะเหนียมไปใย ?ฯลฯ, ผู้จัดการออนไลน์, 3 พฤศจิกายน 2564
https://mgronline.com/politics/detail/9640000108762

[7] ข่าวปนคน คนปนข่าว, เห็นหน้า “อัศวิน” เท่ากับ เห็นหน้า “ธรรมนัส” ใน กทม.!! เมื่อ “บิ๊กแป๊ะ” ถอนตัวศึกชิง ผู้ว่าฯ เมืองหลวง, ผู้จัดการออนไลน์, 2 พฤศจิกายน 2564
https://mgronline.com/politics/detail/9640000108364

[8] ข่าวสดออนไลน์, เศรษฐกิจไทย แจงแล้ว! ที่ปรึกษาอัศวิน ลงพื้นที่พร้อม ธรรมนัส ย้ำไม่ส่งผู้ว่าฯกทม., 3 มีนาคม 2565
https://www.khaosod.co.th/politics/news_6920669

[9] ผู้จัดการออนไลน์, เลขาฯกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ยืนยัน ส.ก.43 คน พร้อมสนับสนุนหาก “อัศวิน” ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม., ผู้จัดการออไลน์, เผยแพร่: 14 ก.พ. 2565 12:12 ปรับปรุง: 14 ก.พ. 2565 12:12
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000014963

[10] BBC News /ไทย, เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : อัศวิน-ธรรมนัส-รักษ์กรุงเทพ เกี่ยวอะไรกันในศึกชิงเก้าอี้สนามท้องถิ่น, เว็บไซต์ BBC News/ไทย, 10 เมษายน 2565
https://www.bbc.com/thai/thailand-61056305

[11] ไทยรัฐออนไลน์, “อัศวิน” เซ็นตั้ง “สุชัย พงษ์เพียรชอบ” เป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่, 23 เมษายน 2564
https://www.thairath.co.th/news/politic/2075845

[12] สำนักข่าวอิศรา, เปิดธุรกิจ 2 กก.-หุ้นส่วน บ.เดอะบางกอก อะไลฟ์ ‘ธรรมนัส’ เป็นใคร ?, 7 เมษายน 2564
https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/97434-investigative00-49.html

[13] มานะ นิมิตรมงคล, กทม. ไม่ปราบคอร์รัปชันแล้วจะพัฒนาได้อย่างไร?, เฟสบุ๊ก ดร.มานะ นิมิตรมงคล, 18 เมษายน 2565 เวลา 14.38 น.

[14] สนธิ ลิ้มทองกุล, มรดกบาป ผู้ว่าฯ กทม., สนธิทอล์ค 22 เมษายน 2565 EP.134,
https://youtu.be/bSPxkvHsxww

[15] กรุงเทพธุรกิจ, "คมนาคม" ตั้งโต๊ะแถลงปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยก 4 ข้อค้าน กทม.ต่อสัมปทาน 30 ปี, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 9 กุมภาพันธ์ 2565
https://www.bangkokbiznews.com/business/987501

[16] inn news, “ยุทธพงศ์”มองนายกฯ ขยายสัมปทานสายสีเขียวไม่โปร่งใส, เว็บไซต์ innnews, 6 กุมภาพันธ์ 2565
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_287319/




กำลังโหลดความคิดเห็น