“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
เราคงต้องยอมรับว่าหลายปีมานี้ ความคิดระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ทางการเมืองถ่างห่างจนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงขึ้นทุกวัน คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการไม่ยอมรับบทบาทและสถานะการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกเขาถูกชักนำให้เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนเกินของระบอบประชาธิปไตย
พวกเขาถูกปลูกฝังความคิดว่าคนต้องเท่าเทียมกัน เราสร้างบ้านเมืองขึ้นมาด้วยเลือดเนื้อและวิญญาณของคนธรรมดา เหมือนที่ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในไอดอลของคนรุ่นใหม่ ปลูกฝังความคิดว่าเทพที่สร้างกรุงเทพ เทพที่ปกป้อง กรุงเทพฯ ชาติปางก่อน คือ ไพร่ เชลยสงคราม สามัญชน คนสารพัดกลุ่มที่อพยพมา ไม่ใช่ชนชั้นสูง
วันนี้เรามีนักวิชาการที่ถ่ายทอดความคิดแบบนี้มากมายในสถาบันการศึกษา เพื่อหักล้างความเชื่อและค่านิยมของสังคมไทยที่มีความเคารพและศรัทธาต่อบูรพกษัตริย์ที่ช่วยกันปกปักรักษาบ้านเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ และถ่ายทอดความคิดนี้มายังคนรุ่นใหม่
ความขัดแย้งทางการเมืองที่กินเวลายาวนานเกือบสองทศวรรษที่แบ่งแยกคนออกเป็นสองอุดมการณ์ความคิด แบ่งเป็นเหลืองแดง แบ่งเป็นเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม ได้พัฒนากลายเป็นความขัดแย้งของคนต่างรุ่น ที่คนฝั่งหนึ่งประสบความสำเร็จในการปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ต่อต้านระบอบกษัตริย์ ต่อต้านอำนาจเก่าที่เป็นรากเหง้าของสังคมไทย
ไม่ได้หมายความว่าในสองฝั่งความคิดจะไม่มีคนหลากหลายรุ่น แต่ต้องยอมรับว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับค่านิยมสังคมแบบเก่าของไทย ถูกคนรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งที่มีความคิดต่อต้านระบอบกษัตริย์อยู่แล้วปลูกฝังความคิดและผลักคนรุ่นใหม่เหล่านี้ออกมาให้เป็นกองหน้าในการทำสงครามความคิดแทนคนรุ่นพวกเขา จนพูดได้ว่า แนวโน้มและทิศทางของสังคมได้บ่งชี้ว่าความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่นในทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว
ความขัดแย้งของคนในชาติที่เริ่มจากเอาระบอบทักษิณและไม่เอาระบอบทักษิณ ถูกผูกโยงเข้ากับความคิดเอาระบอบกษัตริย์และไม่เอาระบอบกษัตริย์ ปัญญาชนฝ่ายระบอบทักษิณซึ่งมีพื้นฐานมาจากคนเดือนตุลา อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต่อต้านคุณค่าแบบเก่าอ้างความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้งชูตัวเองขึ้นเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรรมในทางคุณค่าสากล และใช้มวลชนที่ชื่นชอบระบอบทักษิณเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนอุดมการณ์เพื่อต่อต้านมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ยึดมั่นระบอบกษัตริย์
แต่เราต้องยอมรับว่าการหวาดกลัวการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลของระบอบทักษิณ การเกลียดชังการหาประโยชน์จากอำนาจของระบอบทักษิณที่อาศัยเสื้อคลุมประชาธิปไตย การต่อต้านอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้ง การชุมนุมประท้วงที่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงและการใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ฝูงชน ได้ผลักให้ประชาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เกลียดชังระบอบทักษิณยอมรับการรัฐประหารไปโดยปริยาย เพราะพวกเขาเชื่อว่านี่เป็นทางเลือกเดียวที่จะหยุดยั้งความชั่วร้ายของอำนาจนิยมจากการเลือกตั้งได้
ขณะเดียวกันปัญญาชนของฝ่ายระบอบทักษิณก็หยิบฉวยเอาโอกาสนี้ประณามว่ามวลชนฝ่ายตรงข้ามเป็นพวกนิยมเผด็จการต่อต้านประชาธิปไตยเพื่อเชิดชูคุณค่าของฝ่ายตัวเองให้มีความชอบธรรมว่ายึดโยงกับเสียงของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งและเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อสร้างความชอบธรรมในทางสากล
ต้องยอมรับว่านับแต่การล่มสลายของสงครามแย่งชิงมวลชนระหว่างรัฐไทยกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ยุคสมัยนี้เป็นยุคสมัยที่พวกต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประสบความสำเร็จที่สุดในการแย่งชิงมวลชนและแบ่งแยกมวลชนออกเป็นสองฝ่าย นอกจากนั้นในการยึดโยงกับหีบเลือกตั้งทำให้พวกเขาเชื่อว่ามีความชอบธรรมมากกว่าเพราะยึดโยงกับเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ยิ่งเมื่อสามารถครอบงำความคิดคนรุ่นใหม่ได้แล้ว พวกเขายิ่งมุ่งหวังว่า อนาคตข้างหน้าจะเป็นโอกาสของฝ่ายเขาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมให้สำเร็จ
คนรุ่นใหม่ได้จุดประกายบความหวังให้คนอย่างชาญวิทย์ เกษตรศิริ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ และอดีตฝ่ายซ้ายใต้ปีกของระบอบทักษิณที่เคยพ่ายแพ้ในสงครามช่วงชิงมวลชนเคยเจ็บปวดและมีบาดแผลจากความทรงจำที่ไม่อาจลืมได้มีประกายความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่าอุดมการณ์ของพวกเขากำลังถูกถ่ายทอดไปยังคนรุ่นใหม่
แน่นอนคนรุ่นใหม่นั้นมีความคิดพื้นฐานที่เป็นกบฏต่อกฎเกณฑ์ของสังคมอยู่แล้ว พวกเขาเติบโตมาจากชีวิตที่อยู่ใต้กฎเกณฑ์ของพ่อแม่กฎเกณฑ์ของโรงเรียน พวกเขาย่อมมีแรงปรารถนาที่จะมีอิสระความคิดของตัวเอง ยิ่งเมื่อได้รับการปลูกฝังความคิดทางการเมืองก็ยิ่งจะมีความพลุ่งพล่านที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ได้อย่างที่ตัวเองปรารถนา
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาพวกเขาจึงประสบความสำเร็จในการผลักดันให้คนรุ่นใหม่ออกมาท้าทายสังคมไทยด้วยการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่การแสดงออกของพวกไม่อาจปิดบังว่าแท้จริงแล้วพวกเขามีจุดมุ่งหมายที่มากกว่านั้นนั่นคือนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทยอย่างสิ้นเชิง
พวกเขาประสบความสำเร็จในการออกมาด่าทอวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในทางสถานะ บนท้องถนนอย่างที่พวกเขาเชื่อกันว่านี่เป็นการทลายเพดานของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนด้วยการดันหลังให้คนรุ่นใหม่ออกมาท้าทายอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย เพราะยิ่งรัฐใช้อำนาจทางกฎหมายมากขึ้นเท่าใดพวกเขาก็ยิ่งโจมตีว่ากฎหมายที่รัฐใช้นั้นไม่สอดคล้องกับหลักสากล หรือใช้ความเป็นเด็กและผู้เยาว์เหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการโจมตีว่ารัฐปิดกั้นเสรีภาพและความคิดของคนรุ่นใหม่
แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ย่อมมีอายุที่ยืนยาวกว่าคนรุ่นเก่า และพวกเขาเป็นอนาคตของสังคมไทย แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปตามที่พวกเขาปรารถนา เพราะไม่แน่ว่าเมื่อพวกเขาเติบใหญ่ขึ้นมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น พวกเขาจะมองเห็นคุณค่าของสังคมไทยที่ถักทอความเป็นไทยมาได้ทุกวันนี้ เช่นเดียวกับในอดีตที่คนหนุ่มสาวเดือนตุลาจำนวนมากมีความเร่าร้อนที่จะต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย แต่สุดท้ายความคิดของหลายคนก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อพวกเขาผ่านชีวิตและวันเวลาบนโลกมากขึ้น
แม้ว่าวันนี้พวกที่มีความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบและโครงสร้างของสังคมไทยที่สามารถถ่ายทอดความคิดไปสู่คนรุ่นใหม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าวันเวลาและอนาคตจะกล่อมเกลาพวกเขาให้มองเห็นคุณค่าและจารีตของสังคมไทยว่ายังเป็นสังคมที่ทำให้พวกเขามีอนาคตและมีความหวังที่สวยงามในชีวิตได้
แน่นอนวันนี้คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งได้กลายเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง พวกเขามีพรรคการเมืองที่เชื่อว่าเป็นพรรคของคนรุ่นเขาที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองและสามารถใช้อำนาจในระบบที่เข้ามาท้าทายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นการใช้พื้นที่ในรัฐสภาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย
อย่างไรก็ตามอำนาจเก่าค่านิยมแบบเก่าจะตั้งรับโดยการใช้อำนาจในทางกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทบทวนเหมือนกันว่า การดำรงอยู่แบบไหนที่สวนทางกับการเปลี่ยนแปลงไปของโลกและสังคม และต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมปัจจุบัน ดังทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วินที่ว่า ตามสภาพธรรมชาติสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าพวกอื่น จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ และถ่ายทอดลักษณะที่เหมาะสมต่อไป
ต้องยอมรับเหมือนกันว่า ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในบางเรื่องนั้นมันก็มีเหตุผลของมัน เพียงแต่วิธีการของพวกเขาอาจจะก้าวร้าวและท้าทายอำนาจทางกฎหมาย แต่นอกจากเราจะใช้อำนาจทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวแล้ว บางครั้งเราก็ต้องใช้เหตุผลและทำให้ฝ่ายตัวเองมีความชอบธรรมเพื่อเอาชนะความคิดและความเชื่อของพวกเขาด้วย รวมถึงการใช้อำนาจทางกฎหมายต้องใช้อย่างเหมาะสมได้สัดส่วนจึงจะมีความชอบธรรม
แน่นอนในทุกสมรภูมิการต่อสู้ทางความคิด เราต้องยืนหยัดอยู่บนความชอบธรรมให้ได้ เราจะรักษาอำนาจเอาไว้ได้เราต้องสร้างความชอบธรรมให้เป็นที่ยอมรับ การใช้อำนาจก็ต้องใช้อย่างชอบธรรม การรักษาอำนาจก็ต้องรักษาไว้ด้วยการปฏิบัติที่เป็นธรรม เพื่อเอาชนะความคิดของคนรุ่นใหม่ในวันที่พวกเขาเติบโตมากขึ้นและหวังว่าพวกเขาจะมีความคิดที่เติบใหญ่และมีเหตุผลมากขึ้น
นั่นคือผู้กุมอำนาจรัฐปัจจุบันจะต้องทบทวนบทบาทและการดำรงอยู่ของตัวเองด้วยว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของความไม่ชอบธรรมหรือไม่
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan