xs
xsm
sm
md
lg

การกลั่นกรอง 4 ชั้นสำหรับการพิจารณาคุณสมบัติผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์



ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

ในช่วงที่การเมืองกำลังร้อนแรงและเข้มข้น ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การคัดสรรคนที่มีศักยภาพสูงและมีเจตนาดีเข้ามาบริหารพัฒนาหัวเมืองหลักของประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและควรค่าต่อการไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วน โพสต์นี้ผมจะไม่เชียร์หรือตำหนิใครเป็นพิเศษเหมือนกับโพสต์การเมืองอื่นๆที่หลายท่านมีทั้งเขียนเชียร์แต่ข้อดีของคุณสมบัติผู้ว่าในดวงใจ และเขียนด่าผู้สมัครที่ตนไม่ถูกชะตา ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของปุถุชนที่ย่อมมีรัก โลภ โกรธ หลงเป็นเรื่องปกติ สำหรับกระทู้นี้ผมอยากจะนำเสนอการกลั่นกรอง 4 ชั้นสำหรับการคัดออก ผู้ลงสมัครที่น่าจะสร้างผลเสียให้กับประเทศชาติมากกว่าผลดี เพื่อเป็นการตัดตัวเลือกสำหรับการพิจารณาให้เหลือน้อยลง ซึ่งมีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้

การกลั่นกรองขั้นที่ 1 - ต้องไม่มีพฤติกรรมการหลงตัวเอง (Narcissism)
ในทางการแพทย์ถือว่าพฤติกรรมการหลงตัวเองในระดับที่มากเกินไปอาจเข้าข่ายการเป็น โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder: NPD) ซึ่งเป็น โรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดหนึ่ง โดยพฤติกรรมของผู้ป่วยโรค NPD นี้จะมีลักษณะคลั่งไคล้ในความสำเร็จของตนเอง ในบทสนทนาส่วนใหญ่มักยึดตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล มักหมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตัวเอง

วิธีการสังเกตไม่ยากเลย หากเราเห็นผู้สมัครท่านใด มีพฤติกรรมที่ชอบ คุยโวโอ้อวดถึงสถาบันการศึกษาที่ตนจบมาเป็นระดับ world class มีอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีความเกี่ยวพันกับนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก เคยได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย มีตำแหน่งเป็นโน้นนี้นั้น เคยนั่งเป็นบอร์ดโน้นนี้ ฯลฯ ถ้าเราได้ยินได้ฟังลักษณะการคุยโวโอ้อวดเช่นนี้ ให้ตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า คน ๆ นี้อาจเข้าข่ายเป็นโรค NPD ได้ ซึ่งเมื่ออาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ อาจพัฒนาไปสู่การเป็น ไซโคพาธ (Psychopaths) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) โดยจุดเด่นของพวกไซโคพาธคือขาดการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความอำมหิตเลือดเย็น และในสมองมีแต่เรื่องของตัวเองเป็นศูนย์กลางซึ่งมักเป็นคุณสมบัติของพวกฆาตกรต่อเนื่อง ตัวอย่างของ ไซโคพาธ ที่เป็นข่าวหน้าหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้คือ สมคิด พุ่งพวง ซึ่งเป็นฆาตกรต่อเนื่อง 6 ศพ เป็นต้น

มีงานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างระดับความหลงตัวเองของผู้นำองค์กรและแนวโน้มในการประพฤติผิดศีลธรรม โดยงานวิจัยพบว่าผู้นำที่มีแนวโน้มหลงตัวเองยิ่งมากเท่าไหร่ ยิ่งมีพฤติกรรมในการผิดศีลธรรมมากขึ้นเท่านั้น [1]

การกลั่นกรองขั้นที่ 2: ขาดความซื่อตรง (Lack of integrity)
หากจะหยิบยกเอาคุณสมบัติของผู้นำที่เลวหรือผู้นำที่สร้างมลพิษให้กับองค์กร (Toxic Leader) มีอยู่หลากหลายเช่น ขาดความยืดหยุ่นในการปรับตัว (Lack of adaptability) ขาดความเห็นอกเห็นใจ (Lack of empathy) ขาดทักษะในการสื่อสารที่ดี (Poor Communication Skill) จัดการแบบจู้จี้จุกจิก (Micro-Management) ใจแคบ (Closed Mindedness) ขาดการพัฒนาตนเอง (Lack of Self Development) ขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน (Lack of Humility) ขาดหรือไม่ค่อยมีวิสัยทัศน์ (No or Little Vision) ขาดความกระตือรือร้น (Lack of Enthusiasm) และไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาด (Never Learned from Mistakes) ในบรรดาคุณสมบัติอันเลวร้ายของผู้นำ ได้มีการวิจัยเพื่อค้นหา Key Characteristics of Bad Leaders หรือคุณสมบัติหลักของการเป็นผู้นำที่เลว ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่พบก็คือการขาดความซื่อตรง (Lack of integrity) [2-4]

พูดง่าย ๆ คือระหว่าง
1. ผู้นำที่ขาดความกระตือรือร้น ขาดวิสัยทัศน์ แต่มีความซื่อสัตย์ กับ
2. ผู้นำที่เปี่ยมล้นไปด้วยไฟแห่งพลังในการทำงาน วิสัยทัศน์ดีเยี่ยม แต่มีพฤติกรรมฉ้อฉลหรือ ฉ้อราษฎร์บังหลวง

ถามว่าระหว่างผู้นำประเภทที่หนึ่งกับประเภทที่สอง ใครมีโอกาสที่จะสร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานหรือองค์กรมากกว่ากัน? คำตอบคือผู้นำประเภทที่สองกลับมีความสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้กับองค์กรในระดับที่รุนแรงกว่าผู้นำประเภทแรกหลายเท่าตัว ดังนั้นผู้สมัครท่านไหนที่มีประวัติไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะความร่ำรวยแบบผิดปกติ หาที่มาที่ไปไม่ค่อยได้ ต่อให้มีวิสัยทัศน์ดีเยี่ยม มีความกระตือรือร้นในการทำงานมากเพียงใด แทนที่จะเป็นคุณแต่อาจกลับให้โทษต่อกับ กรุงเทพมหานคร ก็เป็นได้

การกลั่นกรองขั้นที่ 3: นโยบายหาเสียงส่วนใหญ่มักเกี่ยวพันกับเมกะโปรเจ็กต์
มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองการลงสมัครเล่นการเมืองเหมือนกับการลงทุนทำธุรกิจ อะไรสักอย่าง หลายคนที่เข้ามาเล่นการเมือง ภายนอกก็พูดว่าเข้ามาอาสาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือง แต่แท้ที่จริงแล้วมีวาระซ่อนเร้นเป็นนอมินีของกลุ่มทุนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ เราจึงมักพบเห็นป้ายหาเสียง รวมทั้งผู้สมัครที่เข้าข่ายเป็นนอมินีให้กับกลุ่มทุนตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่นตามสถานีรถไฟฟ้า ตามรถเมล์ แบบเด่นชัดมากเป็นพิเศษ คำถามที่ประชาชนควรตั้งคือ

ผู้สมัครท่านนี้ไปเอาเงินหาเสียงมาจากไหน? เงินส่วนตัวหรือของพรรคการเมือง? ใครเป็นคนจ่าย? ถ้าพรรคการเมืองจ่ายให้ แล้วใครจ่ายให้พรรคการเมืองต่ออีกที? แล้วคนที่จ่ายให้พรรคการเมืองจะมีการเอาคืนในรูปแบบการประมูลงาน เมกะโปรเจ็กต์ หรือไม่?

แปลกแต่จริงการแก้ไขปัญหาหลายอย่างใน กทม. สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน เช่นการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการบูรณาการกับ กระทรวง กรม กอง อื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับพันธกิจของตนเอง ลดความซ้ำซ้อนของงาน แค่ปรับโครงสร้างการบริหารงานก็สามารถแก้ปัญหาหลายส่วนที่ คาราคาซัง มานานของ กทม. ให้ดียิ่งขึ้นได้อีกหลายเท่า

ดังนั้นหากผู้สมัครคนไหนที่เสนอนโยบายแนวใช้เงินมหาศาลก็ให้ตั้งการ์ดสูงไว้ก่อนได้เลย แล้วตั้งคำถามในใจว่าในยุคที่เศรษฐกิจของประเทศและทั้งโลกเจอพิษโควิดจนตกต่ำแบบนี้ ยังกล้าที่จะผลาญเงินประเทศชาติด้วยเมกะโปรเจคอีกหรือ?

การกลั่นกรองขั้นที่ 4: ไม่ทำตัวเป็นพหูสูตทำตนเป็นผู้เชี่ยวชาญรู้ไปหมดเสียทุกเรื่อง
คนที่จะมาเป็นผู้ว่า กทม. ไม่จำเป็นต้องเอาอัจฉริยะไอคิว 180 มาเป็นผู้ว่าก็ได้ ก่อนอื่นต้องเข้าใจในขอบเขตและอำนาจของการเป็นผู้ว่าให้ดีเสียก่อนว่า สิ่งไหนที่สามารถทำได้ และสิ่งไหนที่ไม่สามารถทำได้ การหาเสียงแบบเสนอแนวคิดบรรเจิดหลุดโลกนำเสนอสิ่งที่ฟังดูดี แต่พอเอาเข้าจริงไม่สามารถทำได้เลย เพราะมันไม่ได้อยู่ในขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของผู้ว่า กทม. ที่จะสามารถทำได้ การหาเสียงแบบนี้เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน คนที่ฟังแบบไม่ได้ตั้งสติหรือขาดความรู้พื้นฐานอาจจะเคลิ้มและคล้อยตามไปโดยไม่รู้ตัว พอมารู้ตัวอีกทีก็เผลอกาให้คนลวงโลก หลอกเอาสิทธิ์ตนเองไปเป็นผู้ว่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลานั้น นโยบายต่างๆที่หาเสียงไว้พอได้รับเลือกก็ไม่สามารถทำได้ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ พอถูกทวงถามก็จะมีการสรรหาและประดิษฐ์วาทกรรมอื่นขึ้นมาแก้ตัว วนเวียนอยู่ในวังวนแบบไม่รู้จบเช่นนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิ์ในการเลือกผู้ว่า กทม. จึงควรพึงระวังและระลึกถึงการกลั่นกรอง 4 ชั้นนี้ให้ดีก่อนตัดสินใจเลือกใครมาเป็นผู้นำหัวเมืองหลักของประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง
[1] Blair, C. A., Helland, K., & Walton, B. (2017). Leaders behaving badly: The relationship between narcissism and unethical leadership. Leadership & Organization Development Journal.
[2] Promsri, C. WHEN A LEADER BECOME ANALIEN: AN ANALYSIS OF BAD LEADER CHARACTERISTICS.
[3] Ogunlana, S. (2009). Ineffective leadership: Investigating the negative attributes of leaders and organizational neutralizers. Engineering, Construction and Architectural Management.
[4] Aravena, F. (2019). Destructive leadership behavior: An exploratory study in Chile. Leadership and policy in schools, 18(1), 83-96.



กำลังโหลดความคิดเห็น