xs
xsm
sm
md
lg

“ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๑๒) : เครื่องยาลม ๓๐๐ จำพวกในพระไตรปิฎก / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ข้อความสุดท้ายของตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกได้เขียนเอาไว้ว่า :


“ถ้าได้พบให้ทำกินจำเริญอาหารด้วย” [๑]

การเขียนบันทึกเอาไว้เป็น “ข้อความสุดท้าย”ในยาลม ๓๐๐ จำพวกนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ามี”สรรพคุณปลายทาง” ทำให้จำเริญอาหาร ด้วยเพราะเป็นผลต่อเนื่องจากกลไกของสรรพคุณที่มาก่อนหน้านั้น ดังนี้

ประการแรก ขับลมในทางเดินอาหาร ขับลมในเส้น [๒]

เมื่อขับลมทางเดินอาหารระบายออกไปได้ จึงทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น มีช่องว่างทางเดินอาหารปลอดโปร่งขึ้น จึงมีศักยภาพที่จะเจริญอาหารได้

ประการที่สอง แก้พิษในโลหิต ลดน้ำตาลในกระแสเลือด ลดการติดเชื้อของจุลชีพก่อโรค บำรุงน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน [๒]

เมื่อย่อยอาหารได้ดีขึ้น เมื่อย่อยไขมันได้ดีขึ้น พิษในโลหิตน้อยลง น้ำตาลลดลง จึงทำให้พลังงานในการเผาผลาญและเอนไซม์ดีขึ้น จึงย่อมทำให้เจริญอาหารขึ้นได้

ประการที่สาม ระบายถ่ายพิษและเสมหะ[๒]

เมื่อของเสียอาหารเก่าที่ตกค้างอยู่ในลำไส้ได้ถูกถ่ายระบายออกมากขึ้น เสมหะในอกและในคอลดลง จึงย่อมส่งผลทำให้มีช่องว่างสำหรับอาหารใหม่ได้ มีความปลอดโปร่งโล่งสบาย เบากาย มีกำลังจึงทำให้เจริญอาหารขึ้นได้

ประการที่สี่ บำรุงสมอง [๒] เมื่อระบบการสั่งการของสมองและสารสื่อประสาทดีขึ้น มีความแจ่มใสขึ้น ย่อมมีส่วนทำให้เจริญอาหารขึ้น

ประการที่ห้า เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยเพราะออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงติดอันดับโลก [๒]

เมื่ออนุมูลอิสระในร่างกายลดลง ย่อมลดการอักเสบโดยรวมลงเนื่องด้วยความเสื่อมของเซลล์ต่างๆลดลง จึงย่อมส่งผลทำให้เจ็บป่วยทุเลาหรือชะลอตัวลง จึงทำให้เจริญอาหารได้มากขึ้น

ดังนั้นผู้ที่ความกังวลว่าจะทำให้อ้วนมากขึ้นนั้น อาจจะต้องตีความใหม่ว่าแท้ที่จริงตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ เป็นการจัดสมดุลร่างกายใหม่แล้วจึงเป็นผลทำให้รับประทานอาหารใหม่ได้ ด้วยลักษณะนี้จึงจะมีสถานภาพเป็น “ยาอายุวัฒนะ”ได้

ในขณะเดียวกันการนอนหลับ ขับถ่ายได้ ให้เจริญอาหาร ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีชี้วัดพื้นฐานในเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีในยามที่มีชีวิตอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นยาอายุวัฒนะหรือไม่ก็ตาม

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมุมมองของภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาแล้ว ย่อมพิจารณาการดำรงชีวิตเพื่อมุ่งไปสู่นิพพานมากกว่าที่จะแสวงหาอายุวัฒนะ

ดังนั้นต่อให้ครูบาอาจารย์จะค้นพบตำรับยาวิเศษที่จะชะลอวัยหรือขยายอายุขัยได้ แต่ก็ย่อมไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในชีวิตทีเกิดมา เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้ขยายอายุขัยไปได้มากเพียงใด ก็ไม่อาจที่จะหนีพ้นจากความตายอันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตามธรรมชาติได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมแม้จะมีตำรับยาวิเศษที่อาจจะขยายอายุขัยได้ ก็อาจจะไม่ได้ฉันเภสัชลักษณะนี้เพื่อเป็นยาอายุวัฒนะ แต่มียาเอาไว้เพื่อรักษาอาการอาพาธเท่าที่จำเป็นเพื่อมุ่งสู่นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด

ดังนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ “ขรัวฉิมเทวดา” แม้จะเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีอายุยืน และแม้เจ้าของตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก แต่อาจจะไม่ได้ฉันยานี้เพื่อใช้เป็นยาอายุวัฒนะ

คงมีแต่มีไว้เพื่อเป็นกุศลบายสำหรับผู้แสวงหายาอายุวัฒนะเพื่อนำไปสู่การศึกษาธรรม และธรรมชาติตามพระไตรปิฎกเพื่อให้เกิดความสว่างปัญญา

โดยคำว่า “เภสัช” ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนานั้น มิได้หมายถึงเฉพาะยารักษาโรคเท่านั้น แต่ยังหมายถึง อาหารและหลักธรรมอีกด้วย ดังหลักคำสอนที่พอจะนำมาพิจารณาในที่นี้ ดังนี้

เภสัช ตามหลักพระวินัยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ

๑. สัตตาหกาลิก หมายถึง เภสัชที่ภิกษุรับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดระยะเวลาเพียง ๗ วันเท่านั้น เภสัชที่เป็นสัตตาหกาลิก คือ เภสัชทั้ง ๕ มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย

๒. ยาวชีวิก หมายถึง เภสัชที่ภิกษุรับประเคนแล้วเก็บไว้ฉันได้ตลอดชีวิต แต่ต้องมีเหตุ จำเป็น คือ อาพาธจึงจะนามาใช้ได้ ถ้าไม่อาพาธนามาใช้ ต้องอาบัติทุกกฎ เภสัชที่เป็นยาวชีวิก คือ เภสัชที่ได้จากรากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น [๓]

นอกจากนั้นหนังสือ “สมุนไพรในพระไตรปิฎก”เขียนโดย ดร.อุษา กลิ่นหอม ซึ่งจัดพิมพ์โดยมูลนิธิสุขภาพเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพร ๓๒๑ ชนิดที่มีการบันทึกเอาไว้ในพระไตรปิฎก




โดยสมุนไพรยาหลักและยารองในยาลม ๓๐๐ จำพวก มีน้ำหนักถึงร้อยละ ๕๐.๒๒๓ ซึ่งเป็นเครื่องในยาลม ๓๐๐ จำพวกที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ได้แก่ สะเดา น้ำหนักตัวยาร้อยละ ๒๓.๖๓๔, ผลกระดอมน้ำหนักตัวยาร้อยละ ๘.๘๖๓, พริกไทยน้ำหนักตัวยา ร้อยละ ๘.๘๖๓, ดีปลีน้ำหนักตัวยาร้อยละ ๘.๘๖๓ และยังมียาอื่นๆอีก เช่น บอระเพ็ด น้ำหนักตัวยาร้อยละ ๒.๙๕

“สะเดา” มีน้ำหนักตัวยาร้อยละ ๒๓.๖๓๔ ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก ปรากฏในพระไตรปิฎกความว่า

“…สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ “ควงต้นสะเดา” อันเป็นที่อยู่ของนเฬุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เวรัญพรหมณ์ได้ฟังข่าวว่า ท่านพระสมณโคดม เป็นศากยบุตร เสด็จออกผนวจจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ ควงต้นสะเดาอันเป็นที่อยู่ของนเฬรุยักษ์ เขตเมืองเวรัญชา พร้อมกับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ท่านพระโคดมผู้เจริญนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุมีพระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ… (เล่มที่ ๑ หน้า ๑)”[๔]

“…สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการน้ำฝาดที่เป็นยาภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นยา คือ “น้ำฝาดสะเดา” น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมานหรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ” (เล่มที่ ๕ หน้า ๔๗) [๔]

“กระดอม” มีน้ำหนักตัวยาร้อยละ ๘.๘๖๓ ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก ปรากฏในพระไตรปิฎกความว่า

“….เรื่องน้ำฝาดที่เป็นยาสมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นไข้ ต้องการน้ำฝาดที่เป็นยาภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำฝาดที่เป็นยา คือ น้ำฝาดสะเดา น้ำฝาดโมกมัน น้ำฝาดขี้กา น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมานหรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน รับประเคนแล้วเก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็น ภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉันต้องอาบัติทุกกฎ”(เล่มที่ ๕ หน้า ๔๗) [๕]

แม้ข้อความดังกล่าวข้างต้นจะไม่ปรากฏคำว่า “กระดอม“เลย แต่เนื่องจากเอกสารพระตรีปิฎก ฉบับ ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์มีความแตกต่าง คือ ใช้คำว่า น้ำฝาด “ต้นกระดอม” น้ำฝาดบอระเพ็ด น้ำฝาดกระถินพิมานหรือน้ำฝาดที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่” [๕] จึงควรพิจารณากระดอมด้วยเช่นกัน

แต่ไม่ว่าน้ำฝาดจากสะเดา กระดอม และบอระเพ็ดจะปราฏความเป็น แต่ก็มีการกำหนดเอาไว้ในพระไตรปิฎกเหมือนกันสำหรับภิกษุสงฆ์คือฉันเมื่อจำเป็น ฉันเมื่อไม่มีเหตุจำเป็นภิกษุฉันต้องอาบัติทุกกฎ

“พริกไทย” มีน้ำหนักตัวยาร้อยละ ๘.๘๖๓ และ ดีปลีมีน้ำหนักตัวยาร้อยละ ๘.๘๖๓ ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก ปรากฏในพระไตรปิฎกความว่า

…พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผลไม้ที่เป็นยา คือ ลูกพิลังคะ ดีปลี พริก สมอไทย สมอพิเภก ผลโฏฐ หรือผลไม้ที่เป็นยาชนิดอื่นที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่ของเคี่ยวของฉัน รับประทานแล้วก็เก็บไว้ได้จนตลอดชีพ เมื่อมีเหตุจำเป็นภิกษุจึงฉันได้ เมื่อไม่มีเหตุจำเป็น ภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ” (เล่มที่ ๕ หน้า ๔๗) [๖]

ทั้งนี้ พริกไทย ดีปลี และพริกหางที่ปรากฏในพระไตรปิฎกยังมีข้อมูลที่สับสน โดย ดร.อุษา กลิ่นหอม ให้ความเห็นว่าคำว่า “พริก” น่าจะหมายถึง “พริกไทย” ส่วนคำว่า “ดีปลี” ในฐานข้อมูลต่างๆ มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างสับสน แต่เมื่อศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสารของอินเดียพบว่า ดีปลีที่ปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย มาจากพืช ๒ ชนิด คือ ดีปลีที่มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Piper retrofractum Vahl และพริกหางที่มีชื่อวิทยาศาตร์ว่า Piper longum L. ส่วน พริกไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper nigrum L. [๖]

และไม่ว่าจะเป็นพริกไทย ดีปลี แม้จะเป็นสมุนไพรที่ภิกษุรับประทานแล้วเก็บได้จนตลอดชีพ แต่ต้องมีเหตุจำเป็นภิกษุจึงฉันเท่านั้น ไม่จำเป็นฉันไม่ได้ต้องอาบัติ

สำหรับสมุนไพรที่มีสรรพคุณทำให้ถ่าย เช่น ยาดำ (น้ำหนักยาร้อยละ ๕.๙๑๓ ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก), รากตองแตก (น้ำหนักยาร้อยละ ๕.๙๑๓ ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก) แม้จะไม่ได้ระบุเอาไว้ในพระไตรปิฎกโดยตรง อย่างไรก็ตามการใช้สมุนไพรตามพุทธานุญาตรวบรวมโดยพระครูอินทสารวิจักษ์ อินทสโร (กิจไร่)ระบุว่า

“ยาถ่าย” ทรงอนุญาตใช้สาหรับแก้โรคท้องผูก สรรพคุณ แก้โรคท้องผูก [๗]-[๘]

ส่วนเกลือสินเธาว์ (น้ำหนักยาร้อยละ ๒.๙๕ ในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก) ระบุว่า

“เกลือชนิดต่าง ๆ” ได้แก่ เกลือสมุทร เกลือดำ เกลือสินเธาว์ เกลือดินโปร่ง เกลือหุง หรือ เกลือที่เป็นยาชนิดอื่น ๆ ที่มีอยู่ ที่ไม่ใช่ของเคี้ยวของฉัน ทรงอนุญาตให้ภิกษุอาพาธรับประเคนแล้ว เก็บไว้ได้ ฉันได้เฉพาะที่จำเป็น” [๗]-[๘]

ส่วน“กระเทียม” นั้นมีน้ำหนักในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกจำนวนร้อยละ ๒.๙๕ ระบุว่า

“ตามปกติพระองค์ทรงห้ามฉันกระเทียม เพราะส่งกลิ่นรบกวนผู้มาฟังธรรม ครั้งทรงทราบว่าภิกษุอาพาธด้วยโรคลมเสียดท้อง ฉันกระเทียมแล้วหาย จึงทรงอนุญาตให้ฉันเฉพาะยามอาพาธ” [๗]-[๙]

เมื่อปรากฏข้อมูลข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าตัวยาหลักและยารองในยาลม ๓๐๐ จำพวก ได้มีการกล่าวถึงในพระไตรปิฎก และแม้จะให้ภิกษุสงฆ์สามารถที่จะเก็บไว้ได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาติให้ฉันในยามจำเป็นเฉพาะยามอาพาธเท่านั้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


อ้างอิง :
[๑] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๗๕๐-๗๕๑

[๒] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๖) :เปิดงานวิจัยเครื่องยา ภาค ๒ : บำรุงสมอง ถ่ายระบายพิษและเสมหะ, แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ และ เว็บไซต์ MGR Online วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4973604716032791/

https://mgronline.com/daily/detail/9650000011644

[๓] เสนาะ ขาวขำ, การใช้สมุนไพรตามพุทธานุญาตเพื่องานสาธารณสุขมูลฐาน, วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๘, หน้า ๒๕
http://pt.mcu.ac.th/userfiles/file/thesis/Doctor-of-Philosophy/Buddhist-Studies/58Buddhist-Studies/46.pdf

[๔] อุษา กลิ่นหอม, สมุนไพรในพระไตรปิฎก, มูลนิธิสุขาภาพไทย, ๒๕๖๑, ๒๔๐ หน้า, พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๑, ISBN 978-616-786-107-4, หน้า ๑๒๑-๑๒๒

[๕] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗

[๖] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๐

[๗] เสนาะ ขาวขำ, การใช้สมุนไพรตามพุทธานุญาตเพื่องานสาธารณสุขมูลฐาน, วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๕๘, หน้า ๓๔-๓๕
http://pt.mcu.ac.th/userfiles/file/thesis/Doctor-of-Philosophy/Buddhist-Studies/58Buddhist-Studies/46.pdf

[๘] พระครูอินทสารวิจักษ์อินฺทสโร(กิจไร่), “ศึกษาการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรและธรรมโอสถที่ ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา”,วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑติ,(บัณฑิตวิทยาลัย:มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑), หน้า ๔๕-๕๖

[๙] วิ.จู (ไทย) ๗/๒๘๙/๗๔




กำลังโหลดความคิดเห็น