xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งและความแตกแยกกับทางออกที่มองไม่เห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ

การเสียชีวิตของแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ นั้นทำให้สังคมแคลงใจต่อการเสียชีวิตว่าแท้จริงแล้วเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม แม้ตำรวจจะเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีความไว้วางใจตำรวจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อประสานกับกระแสโซเชียลมีเดียที่มีความเห็นที่หลากหลายจนกลายเป็นสงครามข่าวสารที่ไม่รู้เรื่องไหนจริงหรือเท็จ ก็ยิ่งทำให้การแสวงหาความจริงที่ต้องตอบคำถามของโซเชียลเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น

หลายคนถูกพิพากษาความผิดไปแล้วด้วยกระแสสังคมของศาลโซเชียล แม้ว่าความจริงแล้วจะผิดหรือไม่ก็ตาม วันนี้ความจริงกับความเชื่อเจือปนกันไปหมด ขึ้นอยู่กับว่าใครอยากเชื่อฝ่ายไหน ต่อให้อีกฝ่ายหนึ่งสามารถพิสูจน์ได้ คนๆ นั้นก็ยังปักใจเชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิด และปฏิเสธในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจตัวเอง

ทั้งที่ความถูกต้องจริงแท้ย่อมจะต้องมี แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกเอาความเชื่อของตัวเองเป็นที่ตั้ง

สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็เช่นกันมีทั้งคนที่เชื่อว่ายูเครนเป็นฝ่ายหาเรื่องและบางคนมองว่ารัสเซียเป็นฝ่ายถูกเพราะถูกยั่วยุ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสงครามข้อมูลข่าวสารมีทั้งคนเชื่อสื่อตะวันตกและไม่เชื่อสื่อตะวันตกที่ต่างฝ่ายต่างทำข้อมูลข่าวสารใส่กันทั้งเรื่องจริงและเรื่องเท็จเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตัวเอง แม้จะมีคนมองเรื่องนี้ด้วยเหตุและผลอยู่บ้าง แต่ก็พบได้ว่าคนที่เชียร์ฝ่ายไหนต่างมีทัศนคติและความเชื่อของตัวเองมากกว่าเหตุผล เลือกที่จะเชื่อข่าวในฝั่งที่ตัวเองอยากเชื่อ เชียร์ฝั่งไหนที่คิดว่ามีอุดมการณ์สอดคล้องกับตัวเอง

คนรุ่นใหม่หันไปเชียร์ยูเครนอเมริกานาโต้ ในขณะที่คนที่เชียร์รัฐบาลลุงตู่พากันไปเชียร์รัสเซียปูติน ต่างอธิบายเหตุผลความชอบธรรมของตัวเอง ฝ่ายที่เชียร์ยูเครนบอกว่าเป็นสิทธิ์ของยูเครนที่จะเข้านาโต้จะเลือกจุดยืนของประเทศตัวเอง ในขณะที่ฝ่ายเชียร์รัสเซียบอกว่า รัสเซียมีสิทธิ์ป้องกันภัยคุกคามประเทศตัวเอง เหมือนที่อเมริกาก็ไม่ยอมให้รัสเซียไปติดตั้งขีปนาวุธในคิวบา

คนรุ่นใหม่เชียร์ยูเครน อเมริกาที่ถือหางยูเครนเพราะเขาเห็นว่าอเมริกาชาติตะวันตกเป็นประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพเป็นประชาธิปไตย สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพวกเขา ประณามรัสเซียที่ใช้กองทัพบุกรุกยูเครน แต่คนเหล่านี้ก็ไม่เคยประณามอเมริกาที่บุกอิรัก ซีเรีย หรืออิสราเอลที่โจมตีปาเลสไตน์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเชียร์รัสเซีย เพราะเชื่อว่าอเมริกาที่สนับสนุนยูเครนชอบแทรกแซงชาติอื่นรวมถึงการเมืองในไทย อเมริกาเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดสงคราม ขยายแสนยานุภาพไปคุกคามประเทศต่างๆทั่วโลก

ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตัวเอง ไม่มีใครผิดใครถูก อยู่ที่มุมมองและการอธิบายเหตุผลของแต่ละฝ่าย อยู่ที่ใครเชื่อสงครามไอโอของฝ่ายไหน แม้ว่าถ้ามองชั้นเดียวจะเห็นว่ารัสเซียเป็นฝ่ายผิดเพราะยกกองทัพเขาไปรุกรานยูเครนเข่นฆ่าและทำลาย แต่รัสเซียก็อ้างความจำเป็นเพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้นประเทศของเขาก็จะไม่ปลอดภัยหากกองทัพนาโต้มาตั้งกองกำลังในยูเครน

เมื่อสดับเสียงในสังคมก็พบว่าต่างฝ่ายต่างเอาความเชื่อของตัวเองเป็นที่ตั้ง

เช่นเดียวกับความขัดแย้งในบ้านเราที่เป็นสงครามระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาในช่วงสองสามปีนี้นั้น ก็เป็นสงครามที่ไม่มีใครผิดใครถูก อยู่ที่มุมมองจุดยืนของตัวเองต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าฝ่ายตัวเองถูก และต่างฝ่ายต่างพร้อมที่จะห้ำหั่นฝ่ายตรงข้ามให้แหลกสลาย

และแม้สองฝั่งจะมีมวลชนที่ไม่แตกต่างกันนัก แต่ต้องยอมรับว่าด้วยความจัดเจนในการใช้โซเชียลมีเดียมากกว่าของคนรุ่นใหม่ ทำให้พื้นที่โซเชียลมีเดียถูกยึดครองด้วยความคิดของคนรุ่นใหม่จนดูเหมือนการเคลื่อนไหวของพวกเขาจะกลายเป็นกระแสหลักของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกวันนี้พวกเขามีสื่ออาชีพหลายค่ายที่เกิดขึ้นใหม่พร้อมจะเป็นกระบอกเสียงของพวกเขาก็ยิ่งเพิ่มความหนักแน่นให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขานั้นมีความถูกต้องและชอบธรรม

ในอดีตนั้นรัฐเป็นฝ่ายคุมกระบอกเสียงและควบคุมสื่อด้วยมาตรการทางกฎหมาย แต่ทุกวันนี้ยากที่จะควบคุมโซเชียลมีเดียที่ทุกคนต่างมีเครื่องมือนี้ในการเคลื่อนไหวและสร้างกระแสขึ้นในสังคม จนดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยทางตรงที่ทำให้ทุกคนในประเทศมีสิทธิเสรีและมีปากเสียงที่เท่าเทียมกัน และมีหลายคนเป็นผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่สามารถชี้นำสังคมได้

ยิ่งเมื่อพวกเขาขีดเส้นว่าพวกเขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอีกฝ่ายเป็นเผด็จการหรือพวกต่อต้านประชาธิปไตยด้วยแล้ว พวกเขายิ่งมีความชอบธรรมมากกว่า เพราะประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากลในความหมายของตะวันตก ดังนั้นพวกเขาจึงมักจะได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องต่างๆ แม้สิ่งนั้นจะกระทบต่อรูปแบบของรัฐเราก็ตาม

คนรุ่นใหม่วันนี้มองรัฐไทยว่าเป็นรัฐอำนาจนิยมเช่นเดียวกับรัสเซีย ไม่เป็นประชาธิปไตยและทำลายและขัดขวางสิทธิเสรีภาพของพวกเขา ในขณะที่อเมริกาและชาติตะวันตกนั้นสนับสนุนและให้ท้ายการเคลื่อนไหวของพวกเขาอย่างเปิดเผย ในขณะที่คนรุ่นเก่ามองว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นทาสของค่านิยมตะวันตกทำลายรากเหง้าของตัวเอง

ขณะที่รัฐไทยเชื่อว่าตัวเองมีความจำเป็นต้องปกป้องความมั่นคงของชาติ การเคลื่อนไหวไหนที่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ ระบอบของรัฐ การเคลื่อนไหวที่กระทบต่อประมุขของรัฐก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการจัดการ ฝ่ายที่ถืออำนาจรัฐก็มองว่ารัฐไทยเป็นประชาธิปไตย และให้สิทธิเสรีภาพของทุกคนอยู่แล้ว รัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถูกใจคนรุ่นใหม่เพราะพรรคที่ตัวเองสนับสนุนถูกยุบและไม่ได้อำนาจในการปกครอง

แต่ไม่ว่าฝ่ายรัฐจะอธิบายอย่างไรก็ไม่สามารถเปลี่ยนความเชื่อของคนรุ่นใหม่ได้ เพราะพวกเขามองว่ารัฐบาลชุดนี้มีที่มาจากการสืบทอดอำนาจของเผด็จการและเขียนรัฐธรรมนูญให้ตัวเองได้เปรียบ แม้จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาจากการทำประชามติของประชาชน แต่ก็มองว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่ชอบธรรม เพราะรัฐสามารถรณรงค์ให้คนรับร่างได้ฝ่ายเดียว ในขณะที่ฝ่ายที่รณรงค์คัดค้านถูกดำเนินคดีจับกุม

ฝ่ายรัฐบาลก็มองว่า การที่รัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้เกินกึ่งหนึ่งต่างหากที่เป็นจุดขี้ขาดไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้ฝ่ายไหนได้เปรียบ แม้ส.ว.จะมีอำนาจเลือกนายกฯก็ต้องมองว่าฝ่ายไหนได้เสียงข้างมาก ถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคฝ่ายค้านสามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็เชื่อว่าส.ว.ชุดนี้ก็คงจะไม่ขัดขืน


แต่การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ไม่ได้อยู่ที่อำนาจรัฐเพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่ต้องการให้พรรคที่ตัวเองสนับสนุนเข้ามามีอำนาจรัฐเท่านั้น แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่กระทบต่อรูปแบบของรัฐ โครงสร้างของรัฐ และกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นี่ต่างหากที่เป็นประเด็นที่ไม่มีวันที่รัฐไทยจะยอมได้ ไม่ว่าอำนาจรัฐอย่างเป็นทางการหรืออำนาจของ Deep State ก็ตาม

ความเคลื่อนไหวแบบนี้นี่เองที่ทำให้รัฐต้องใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเข็มแข็ง องคาพยพของรัฐต้องประสานมือกันเพื่อปกป้องรูปแบบของรัฐอย่างแข็งขัน จนกระทั่งถูกมองว่าเป็นรัฐอำนาจนิยม และถูกมองว่ากำลังจะพาประเทศไทยกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั้งที่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในปัจจุบัน แต่ก็ถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนำเคลื่อนไหวปลุกเร้าเพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่ลุกฮือ

หลายคนมองว่า หากการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐขีดวงอยู่แค่เรื่องประชาธิปไตยเผด็จการไม่ก้าวล่วงไปกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การที่ทุกวันนี้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งจากโรคระบาดและสงคราม และศักยภาพของรัฐบาลที่ไม่ได้แสดงวิสัยทัศน์และความสามารถที่จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจจะทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นแนวร่วมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ แต่เมื่อเรื่องนี้ถูกเอาไปผูกกับบทบาทและสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ทำให้คนจำนวนมากไม่เห็นด้วย เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีความผูกพันกับชาติไทยมานานและเป็นที่พึ่งของคนในชาติในยามวิกฤต

ทั้งสองฝ่ายมีมวลชนใกล้เคียงกัน ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่ามีความชอบธรรม ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าฝ่ายตัวเองถูกและฝ่ายตรงข้ามผิด ทั้งที่จริงแล้วต่างมีความปรารถนาดีต่อชาติเช่นเดียวกัน

เราจึงยากจะหาทางออกให้เกิดขึ้นในชาติได้ เพราะต่างฝ่ายต่างเอาความเชื่อของตัวเองเป็นที่ตั้งนั่นเอง


ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น