xs
xsm
sm
md
lg

“ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๙):ทำไมจึงเขียนไว้ว่าใครได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกิน เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดเลยทีเดียว?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

คุณค่าของยาลม ๓๐๐ จำพวก ที่มีหลายสรรพคุณ แม้จะมีสถานภาพเป็น “ยาอายุวัฒนะ” แต่ยังได้ซ่อนปริศนาธรรมของพระพุทธศาสนาถึงเรื่องเป้าหมายสูงสุดในการเกิดมามีชีวิตเอาไว้อย่างแยบคายยิ่ง ดังที่ได้กล่าวถึงการถอดปริศนาทางธรรมเอาไว้ในตอนที่แล้ว[๑]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้อยู่ในฐานะ “ตำรับยาแผนไทยของชาติ” มีความหมายว่า เป็นตำรับยาแผนไทยที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษ [๒] โดยเป็นการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นตำรับยา “สุดท้าย” หรือ “ปิดท้าย” ในพระคัมภีร์ไกษย ในตำราแผนไทยของชาติ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม ๒ ร.ศ. ๑๒๖ ซึ่งประกอบด้วย ๑๐ พระคัมภีร์ รวมทั้งสิ้น ๖๗๒ ตำรับ [๓]

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พระคัมภีร์ไกษย” ถูกจัดลำดับเป็น “พระคัมภีร์สุดท้าย” ของ ๑๐ พระคัมภีร์ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่มที่ ๒ ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดย พระยาพิศณุประสาทเวช โดยคัมภีร์ว่าด้วยโรคไกษย ๒๖ จำพวก ซึ่งกล่าวด้วยยาแก้โรคไกษย โดยยาลม ๓๐๐ จำพวก เป็น ๑ ตำรับจาก จำนวนทั้งหมด ๑๑๑ ตำรับในพระคัมภีร์ไกษย [๓]

ดังนั้นความสำคัญของยาลม ๓๐๐ จำพวก จึงมีสถานภาพของ “ตำรับยาสุดท้าย” ของ “พระคัมภีร์สุดท้าย” ของตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่มที่ ๒ จึงย่อมถือว่าพระยาพิศณุประสาทเวชย่อมให้ความสำคัญของตำรับยานี้อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามในตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ ความจริงแล้วไม่ได้มีชื่อตำรับยาเป็นการเฉพาะ เพียงแต่เป็นชื่อเรียกในวงการแพทย์แผนไทยว่าหมายถึงตำรับยาสุดท้ายในพระคัมภีร์ไกษย เนื่องด้วยเพราะมีการกล่าวถึงโรคธาตุลมว่า

“ให้รับประทานเท่าผลสมอแก้ลม ๓๐๐ จำพวกก็หายแล”[๔]

อย่างไรก็ตามมีข้อที่น่าพิจารณาในคำบรรยายสรรพคุณของตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวก ที่จะต้องถอดรหัสกันต่อไปที่เขียนเอาไว้ความว่า

“ให้ทำยานี้กินเถิด ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกิน เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดทีเดียวแล”[๔]

ตำรับยานี้ได้ถูกเขียนบันทึกเอาไว้ว่าเมื่อได้รับทราบตำรับยานี้แล้วไม่ทำกิน ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเหมือนเหยียบแผ่นดินผิด วิเคราะห์แล้วก็น่าจะด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก ผู้ที่จะได้มีโอกาสรับรู้และรับประทานตำรับยานี้ ย่อมต้องเป็นผู้ที่ได้เกิดมาแผ่นดินในประเทศสยามนี้

ประการที่สอง ต้องเป็นผู้ที่อ่านหนังสือภาษาไทยได้

ประการที่สาม จากบรรดาหนังสือมากมายมหาศาลทั่วแผ่นดิน และชีวิตมนุษย์นั้นมีเวลาจำกัดที่จะอ่านหนังสือทุกเล่ม ยังจะต้องมีผู้เลือกที่จะหยิบตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ขึ้นมาอ่าน ซึ่งสำหรับคนทั่วไปก็ไม่ได้อ่านให้เข้าใจง่ายๆด้วย

ประการที่สี่ ต้องเพียรอ่านไปหรือโชคดีได้เลือกอ่านต่อเนื่องจนถึงพระคัมภีร์สุดท้ายในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ คือ “พระคัมภีร์ไกษย” ซึ่งเป็นพระคัมภีร์สุดท้ายในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ซึ่งเป็นหนังสือที่มีความหนามากถึง ๑,๐๑๒ หน้า

ประการที่ห้า ต้องเพียรหรือโชคดีได้เลือกอ่านไปถึงตำรับยา “สุดท้าย” ของพระคัมภีร์ไกษย

ประการที่หก ยังต้องเชื่อหรือวิเคราะห์จนเชื่อในสรรพคุณยาลม ๓๐๐ จำพวกที่ปรากฏในตำรับยา

ประการที่เจ็ด จะต้องลงมือหาเครื่องยาที่ “ได้คุณภาพดีจริง” แล้วตัดสินใจปรุงยาให้ได้คุณภาพจริง

ประการที่แปด ต้องทำให้ผู้ที่จะกินยามีความเข้าใจและเชื่อได้ว่าจะกินยาลม ๓๐๐ จำพวกแล้วจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพจริง จึงจะพร้อมรับประทาน

และแปดประการแรกนี้ ได้ถูกรวบรวมเอาไว้ในบทความชุดนี้ ดังนั้นผู้ที่จะได้เข้าถึงได้ก็ต้องได้เคยอ่านบทความชุดนี้มาก่อนหรือมาถึงบทความนี้เป็นตอนที่ ๙ แล้ว

ประการที่เก้า ยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้มีรสขมร้อน สำหรับบางคนอาจะรับประทานไม่ได้ และหากจะรับประทานให้ได้มีสรรพคุณเป็น “ยาอายุวัฒนะ” จะต้องรับประทานต่อเนื่องนานถึง ๙ เดือน โดยไม่เว้นเลยแม้แต่วันเดียว

ซึ่งอาจทำให้หลายคนไม่สามารถรับประทาน “รสยา”แบบนี้ได้ หรืออาจจะมีเหตุอุปสรรคที่จะทำให้ไม่สามารถรับประทานได้ต่อเนื่อง เพราะตำรับยานี้ไม่ใช่คนเลือกยาเท่านั้น แต่ยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้จะเลือกคนรับประทานด้วย

ประการที่สิบ ผู้ที่กินยาจะต้องมีความเข้าใจอาการเปลี่ยนแปลงไปตามธาตุของร่างกายหลังการรับประทานยาโดยไม่ตื่นตระหนก ซึ่งแน่นอนว่าบางคนจะไม่สามารถผ่านไปได้ บางคนจะผ่านได้ และบางคนจะปรับให้เข้ากับตัวเองจึงผ่านไปได้

ประการที่สิบเอ็ด ตำรับยานี้มีความมุ่งหวังไปไกลเกินสรรพคุณยา แต่มีเป้าหมายในการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนา[๑] ซึ่งแผ่นดินสยามนี้มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติด้วย

อย่างไรก็ตามในการแพทย์แผนไทยซึ่งนอกจากได้รับอิทธิพลในเรื่องธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ตามแนวทางของพระไตรปิฎกในพระพุทธศาสนาแล้ว พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยยังได้พิจารณาในเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุใหญ่ของการเจ็บป่วยรวม ๖ ประการอีกด้วย ได้แก่ มูลเหตุธาตุทั้ง ๔, อิทธิพลของฤดูกาล, อายุที่เปลี่ยนไปตามวัย, ถิ่นที่อยู่อาศัย, อิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล และพฤติกรรมเป็นมูลเหตุที่ก่อโรค [๕]

ดังนั้น “แผ่นดิน” ของแต่ละประเทศ ก็อาจจะมีความเหมาะสมต่อสมุนไพรและรสยาที่ไม่เหมือนกัน ดังความปรากฏในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่พระยาพิษณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ได้เขียน “คำนำ” เอาไว้ เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ความในช่วงท้ายของวรรคแรกความตอนหนึ่งว่า

“นักปราชญ์ผู้ชำนาญในวิชาแพทย์ได้เรียบเรียงร้อยกรองอาการโรคแลสรรพคุณยาที่แก้ไขให้หายได้นั้น ขึ้นไว้เปนพระคัมภีร์ มีอยู่แทบทุกประเทศ ตามส่วนที่ได้เคยทดลองเห็นคุณประโยชน์มาแล้ว ในประเทศของตนนั้น แต่พึงเข้าใจว่ามีโรคบางอย่างที่ใช้ยาประเทศอื่นไม่เหมาะดีเท่ายาในประเทศนั้นเอง เหตุด้วยดินฟ้าอากาศต่างกัน เพราะฉนั้นภูมิ์ประเทศจึงเปนข้อสำคัญในการรักษาไข้เจ็บอย่างหนึ่ง”[๖]

เกี่ยวกับ “ประเทศสมุฏฐาน” นี้ พระยาพิศณุประสาทเวช ได้เขียนกล่าวเอาไว้เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ความตอนหนึ่งว่า

“อนึ่ง ประเทศสมุฏฐานจัดเปน ๔ ประการ เพื่อให้เป็นที่สังเกตว่าที่อยู่กับธาตุในร่างกายย่อมเปนสิ่งที่ซึ่งแอบอิงอาศัยแก่กัน คนที่เกิดในประเทศหนึ่งๆ มีสมุฏฐานโรคต่างกันอย่างไร ให้กำหนดไว้ดังนี้

๑.คนที่เกิดในประเทศที่สูงเช่น ชาวเขา เรียกประเทศร้อนที่ตั้งแแห่งโรคของคนประเทศนั้น เปนสมุฏฐานเตโช (ธาตุไฟ)

๒.คนที่เกิดในประเทศที่เป็นน้ำกรวดทราย เรียกประเทศอุ่น ที่ตั้งแห่งโรคของคนประเทศนั้นเปนสมุฏฐานอาโป(ธาตุน้ำ) ดีโลหิต

๓.คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำฝนเปือกตม เรียกประเทศเย็น ที่ตั้งแห่งโรคของคนประเทศนั้นเปนสมุฏฐานวาโย (ธาตุลม)

๔.คนที่เกิดในประเทศที่เป็นน้ำเค็มเปือกตม เรียกประเทศหนาว ที่ตั้งแต่งโรคของคนประเทศนั้นเปนสมุฏฐานปถวี (ธาตุดิน)”[๗]


นอกจากลักษณะประเทศแล้ว ยังปรากฏตัวอย่างในพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ (พระคัมภีร์ว่าด้วยการรอธิบายธาตุทั้ง ๔) ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เกี่ยวกับสถานที่เกิดความบางตอนว่า บุคคลที่เกิดในที่มีน้ำจืดหรือน้ำเค็มเป็นเปือกตม จะเกิดโรคเพราะ “เสมหะและธาตุลม” แรงกล้ากว่ากำเดาดีและโลหิต ความว่า

“บุคคลที่เกิด ๑ ที่น้ำจืดน้ำเค็มหมาย เปือกตมเปนมากมาย ชื่อว่ากัณห์ประเทศมี เกิดโรคเพราะเสมหะแลลมแล่นล่วงวิถี กล้ากว่ากำเดาดี แลโลหิตสิ้นทั้งปวง ผู้แพทย์พึงแต่งยา แก้วาตาเสมหะร่วงโทษเป็นอันใหญ่หลวง ก็จะดับไปพลันสูญ” [๘]

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อพิจารณาลักษณะประเทศไทยที่มีความร้อนชื้น มีแผ่นดินส่วนใหญ่เป็นเปือกตม สรรพคุณของตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนั้น มีสรรพคุณแก้โรคทางเสมหะและธาตุลมกองหยาบที่มีความโดดเด่น ย่อมสอดคล้องกับไปกับประเทศสมุฏฐานของประเทศไทยโดยภาพรวม ในการพิจารณาฐานะเป็นยาอายุวัฒนะสำหรับแผ่นดินไทยได้

โดยตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้ ช่วยขับลมในทางเดินอาหาร ขับลมในเส้น, แก้พิษในโลหิต ลดน้ำตาลในกระแสเลือด ลดการติดเชื้อของจุลชีพก่อโรค บำรุงน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร ย่อยไขมัน, ระบายถ่ายพิษและเสมหะ, บำรุงสมอง และ เป็นยาอายุวัฒนะ ด้วยเพราะต้านอนุมูลอิสระสูงติดอันดับโลก ฯลฯ [๙]

ธรรมชาติธาตุลมเด่นทั้งประเทศสมุฏฐาน อายุสมุฏฐานของผู้สูงวัย และฤดูสมุฏฐาน ได้ทำให้ประเทศไทยมี “การนวด” และ “การกดจุด” ของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่มีความโดดเด่นซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหา “เลือดลม” ได้ดีมีชื่อเสียงไปในระดับโลก

ในขณะที่ “อาหารไทย” ที่เน้นรสเผ็ดร้อนตามธรรมชาติก็สามารถนำมาใช้สำหรับผู้สูงวัยที่มีปัญหาธาตุลมได้ดี บัดนี้มีตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกที่แก้โรคทางเสมหะและธาตุลมกองหยาบได้ดีอีกด้วย

ตำรับยาลม ๓๐๐ จำพวกนี้จึงมีความสอดคล้องกับความเป็นไปใน “แผ่นดิน”ประเทศไทย ทั้งมิติ ตำรับยา รวมถึงการบูรณาการภูมิปัญญาอื่นๆ ตลอดจนการบรรลุเป้าหมายไปสู่นิพพานตามแนวทางพระพุทธศาสนา ในประเทศที่มพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยเหตุผลได้กล่าวข้างต้น ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ชอบด้วยเหตุผลแล้วที่ท่านได้กล่าวเอาไว้ว่าในพระคัมภีร์ไกษยว่า

“ให้ทำยานี้กินเถิด ถ้าผู้ใดได้ตำรานี้แล้วไม่ทำกิน เหมือนเหยียบแผ่นดินผิดทีเดียวแล”[๔]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[๑] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๘) : ปริศนาสรรพคุณยาหรือปริศนาธรรม “รับประทานยา ๙ เดือน อายุยืนได้ถึง ๒๐๐ ปี”, แฟนเพจปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕, MgrOnline ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/5020155394711056/
https://mgronline.com/daily/detail/9650000016413

[๒] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. ๒๕๔๒, วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒, เล่ม ๑๑๖, ตอนที่ ๑๒๐ ก, หน้า ๔๙ - ๖๙, (หน้า ๕๔)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF

[๓] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การประกาศกําหนดตําราการแพทย์แผนไทยของชาติและตํารับยาแผนไทยของชาติ (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๕๖๐, วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เล่ม ๑๓๔ ตอนพิเศษ ๒๗๑ ง หน้า ๙
https://www.dtam.moph.go.th/images/document/law/National_Texts_2560-13.PDF

[๔] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๗๕๐-๗๕๑

[๕] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๒๐

[๖] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๕

[๗] พระยาพิศณุประสาทเวช, เวชศึกษาแพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑, ๒, ๓, ร.ศ. ๑๒๗, โรงเรียนแพทย์แผนโบราณในประเทศไทย สำนักวัดพระเชตุพนฯ พระนคร, หน้า ๙-๑๐

[๘] สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรม หายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, ๑,๐๒๕ หน้า องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔, จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม, ISBN: ๙๗๘-๙๗๔-๐๑-๙๗๔๒-๓, หน้า ๖๓๓

[๙] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, “ยาลม ๓๐๐ จำพวก” ยาอายุวัฒนะ ในตำรายาหลวงสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้านอนุมูลอิสระระดับโลก (ตอนที่ ๖) :เปิดงานวิจัยเครื่องยา ภาค ๒ : บำรุงสมอง ถ่ายระบายพิษและเสมหะ, แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ และ เว็บไซต์ MGR Online วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/4973604716032791/

https://mgronline.com/daily/detail/9650000011644


กำลังโหลดความคิดเห็น