xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยที่เราอาจได้เห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ช่วงเวลานี้เจอใครก็มักจะตั้งคำถามว่า รัฐบาลจะไปต่อได้ไหมจะยุบสภาฯ ไหม จะได้เลือกตั้งในปีนี้ไหม หลังจากรัฐบาลอยู่ในภาวะสะบักสะบอมทั้งในสภาฯ และพรรคร่วมรัฐบาลที่ขัดแย้งกันในคณะรัฐมนตรี

แต่ถ้าสดับทิศทางลมดูเหมือนจนถึงตอนนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเชื่อมั่นมากขึ้นว่า รัฐนาวาของเขายังคงลอยลำต่อไปได้ แม้ธรรมนัส พรหมเผ่า จะพา ส.ส.ออกไปส่วนหนึ่งและยังไม่มั่นใจว่าจะพึ่งพามือของ ส.ส.กลุ่มนี้ได้ไหม แต่เมื่อคำนวณแล้วแม้จะตัดกลุ่มธรรมนัสออกไปหรือต่อให้ไปรวมกับฝ่ายค้าน ส.ส.ของรัฐบาลก็ยังมีมือที่มากกว่าอยู่ดี

แถมตอนนี้ทุกพรรคทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ต่างส่งเสียงว่ายังสนับสนุนรัฐบาลแบบมาด้วยกันไปด้วยกัน เชื่อว่านับแต่นี้การประชุมสภาฯ น่าจะล่มน้อยลง แม้ว่าฝ่ายค้านจะคอยจ้องนับองค์ประชุมแล้วไม่ยอมแสดงตนแม้จะอยู่ในที่ประชุมก็ตาม

เราจึงเห็นพล.อ.ประยุทธ์ออกถ้อยแถลงผ่านเว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาลว่า พร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกในปลายปีนี้ นั่นเท่ากับมองข้ามช็อตแล้วว่าจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติในเดือนพฤษภาคมไปได้ รวมไปถึงเชื่อมั่นว่า จะผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติ มาตรา 258 วรรค 4 ที่ระบุว่า อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันไม่เกิน 8 ปีไปได้

รวมถึงประเด็นสำคัญก็คือต้องรอกฎหมายลูก 2 ฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ไปแล้วนั้น ดูแล้วกว่าจะเสร็จพร้อมประกาศใช้ก็น่าจะเสร็จอย่างเร็วในเดือนกรกฎาคม

ถ้าเกิดพล.อ.ประยุทธ์ประกาศยุบสภาฯ ในตอนนี้หรือก่อนกฎหมายลูก 2 ฉบับเสร็จ ความวุ่นวายก็จะตามมา เพราะกติกาในการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แม้จะมีช่องว่างของกฎหมายให้พอจะเล็ดลอดไปได้ แต่ปัญหาก็จะตามมามาก

ดังนั้นแม้พรรคเพื่อไทยจะท้าทายเรียกร้องให้ยุบสภาฯ อยู่ในช่วงนี้ก็เชื่อว่า ใจจริงแล้วก็ไม่อยากจะให้ยุบ เพราะเชื่อว่า พรรคของตัวเองจะได้เปรียบเมื่อเลือกตั้งแบบสองใบ อย่างไรเสียก็ต้องอดทนรอคอยให้ถึงวันนั้นไม่อยากให้ล่มกลางคัน

หากพล.อ.ประยุทธ์ สามารถอยู่ได้จนเป็นประธานประชุมเอเปกหลังจากนั้นก็เชื่อว่า สถานการณ์ทั้งหมดน่าจะอยู่ในมือของรัฐบาล ส่วนจะยุบสภาฯ ก่อนหมดวาระหรืออยู่จนจบวาระก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่รัฐบาลจะตัดสินใจว่า สถานการณ์ไหนที่เป็นคุณต่อตัวเอง

หลังจากนั้นก็มารอดูว่าพล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจไปต่อไหม ณ สมมติฐานว่าพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ก็ยังต้องดูว่าพล.อ.ประยุทธ์ผ่านศาลรัฐธรรมนูญมาแบบไหน ถ้าศาลบอกว่าให้เริ่มนับอายุตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้คือปี 2560 ก็จะอยู่ได้อีกจนถึงปี 2568 แต่ถ้าศาลบอกว่านับตั้งแต่เลือกตั้งครั้งแรกของรัฐธรรมนูญ 2560 คือปี 2562 ก็อยู่ต่อไปได้จนครบอีกสมัย

แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือพล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่ออีกไหม หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปีกว่า เราจะได้ยินจากปากของพล.อ.ประยุทธ์ไหมว่า พอแล้ว แบบที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เคยพูด แล้วถ้าพล.อ.ประยุทธ์บอกว่าพอแล้วฝั่งนี้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ต้องยอมรับนะครับว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จมาแล้ว 5 ปีและมีอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนั้นอีกสมัย ทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มเบื่อหน่ายและมองเห็นศักยภาพอันจำกัดของพล.อ.ประยุทธ์ ก็อยู่ที่ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะรับรู้ถึงสภาวะนี้ไหม ถ้ารู้ก็อาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจได้ว่าพอแล้วหรือจะไปต่อ

อีกอย่างคือพล.อ.ประยุทธ์จะต้องชั่งใจว่าการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นจะแพ้หรือชนะ ถ้ารู้ว่าจะแพ้แน่ๆ ก็เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์น่าจะตัดสินใจเลือกที่จะวางมือ ดีกว่าจะไปพ่ายแพ้ในสมรภูมิรบ

หลายคนเชื่อว่าจากวิธีการเลือกตั้งพรรคที่จะมีคะแนนมากที่สุดก็คือพรรคเพื่อไทย คำพูดนี้ไม่ใช่คำพูดที่เหนือการคาดการณ์แน่ เพราะแม้แต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคเพื่อไทยก็มีคะแนนมากเป็นอันดับ 1 แต่วิธีคิดคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนจากบัตรใบเดียวทำให้พรรคเพื่อไทยไม่มีที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว แต่การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะกลับไปใช้แบบบัตรสองใบ พรรคเพื่อไทยก็มีโอกาสสูงมากที่จะได้รับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเข้ามาจำนวนมาก

แต่ผมก็ไม่เชื่อนะครับว่า จะเกิดการแลนด์สไลด์อย่างที่พรรคเพื่อไทยคาดหมายว่าจะได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่ามากพอที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นแรงกดดันให้ 250 ส.ว.ที่ยังมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจว่าจะคล้อยไปกับการตัดสินใจของประชาชนหรือตอบแทนคนที่ตั้งมาเป็น ส.ว. แต่ผมเชื่อว่า ส.ว.จะไม่แข็งขืน

แม้เมื่อเราดูตัวเลขการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เมื่อบวกรวมๆ กันแล้วมวลชนของสองฟากจะมีปริมาณที่เท่ากันคือประมาณฝั่งละ 15 ล้านเสียง แต่ต้องยอมรับนะครับว่า ฝ่ายที่เขาอ้างตัวว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยนั้นมีเอกภาพมากกว่า ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นฝั่งรัฐบาลตอนนี้นั้นแตกออกไปหลายพรรค

ที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐผมเชื่อว่าน่าจะแตกฉานซ่านเซ็นหลายคนน่าจะกลับไปซบพรรคเพื่อไทยหรือไปหาพรรคอื่น จำนวน ส.ส.ก็น่าจะลดน้อยถอยลง แถมพรรคในฝ่ายเดียวกันไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกล้า พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคของหมอวรงค์ ฯลฯ จะแย่งชิงคะแนนกันเองจนไม่มีพรรคไหนที่มีเสียงมากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย พรรคที่อาจจะกลายเป็นฝ่ายค้านก็คือ พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคหลังนี้ไม่มีวันจะได้เป็นพรรครัฐบาลแน่ๆ

เพราะเห็นแล้วว่า แนวทางของพรรคก้าวไกลนั้นเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะพวกเขายึดมั่นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีคำต่อท้าย

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องบอกว่า ใครที่เป็นติ่งของใครเป็นคอการเมืองฝั่งไหนก็ต้องทำใจให้ดี เพราะถึงเวลานั้นสิ่งที่เราไม่คาดฝันก็อาจจะเกิดขึ้นก็ได้ การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรนั้นใช้ได้เสมอ มีแต่ประชาชนนี่แหละที่แบ่งฝ่ายจ้องจะห้ำหั่นโจมตีกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

มีคนถามว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นคนของพรรคเพื่อไทยไหม อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ไหม

ผมคิดว่า คำตอบน่าจะอยู่ที่ทักษิณต้องการอะไร ถ้าเขาต้องการจะกลับบ้าน นายกรัฐมนตรีก็อาจจะเป็นคนอื่นที่จะมีมือที่มองไม่เห็นเป็นผู้กำหนด อย่าลืมว่าเลือกตั้งครั้งหน้าบทเฉพาะกาลที่สามารถใช้เสียงของสองสภาเพื่อเลือกคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ ถึงตอนนั้นทักษิณอาจจะยอมพบกันครึ่งทางเพื่อขอเพียงให้ตัวเองได้กลับบ้านก็เป็นได้

ทั้งหมดนี้ว่ากันไปในสถานการณ์ที่พล.อ.ประยุทธ์รอดศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเดือนสิงหาคมนี้ไม่รอด ฝ่ายที่อ้างตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็ยิ่งมีโอกาสมากที่จะยึดครองประเทศนี้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น