xs
xsm
sm
md
lg

Dead lock, เกือบ dead lock, สุญญากาศทางการเมือง และทางออกของบ้านเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติ
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล (Citizen Data Sciences)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมได้เคยพยากรณ์ไว้ในบทความ คำพยากรณ์ 7 จุดเปลี่ยนผ่านบ้านเมืองของเรา https://mgronline.com/daily/detail/9630000116937 ว่าขบวนการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขจะทำให้มวลชนฝ่ายกษัตริย์นิยมอดรนทนไม่ได้ออกมาโต้ตอบฝ่ายปฏิกษัตริย์นิยมเกิดการด่าทอ และเกิดการปะทะรุนแรง ระหว่างมวลชนสองฝ่าย ทำไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลวและการรัฐประหาร

https://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/more_news.php?cid=87
อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นเรื่องดีมากที่ผมพยากรณ์ได้ไม่แม่นยำ เพราะเมื่อกะลาแตกหรือ echo chamber ที่กล่อมเยาวชนปฏิกษัตริย์นิยมด้วยข้อความอันเป็นเท็จใส่ร้ายป้ายสีสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกตีแผ่ด้วยความจริงออกมาโดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และภาษีกู ก็ทำให้ม็อบฝั่งที่เคลื่อนไหวล้มล้างระบอบการปกครองหมดความชอบธรรม ฝ่อลงไปเรื่อย ๆ จนแทบไม่มีคนมาเข้าร่วม ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนแปลงเป็นการใช้ความรุนแรง การวางระเบิด และเป็นการเคลื่อนไหวปลุกปั่นของพวกอันธพาลเกเร เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกยึดมอเตอร์ไซค์ก็ไปต่อไม่เป็น

นับได้ว่าบ้านเมืองยังแคล้วคลาด ผ่านพ้นวิกฤติมาได้ด้วยเหตุปัจจัยสารพัดประการ ทำให้ผมได้แต่ก้มลงกราบพระพุทธมณีรัตนปฏิมากร พระสยามเทวาธิราช พระหลักเมือง และดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ที่ทรงคุ้มครองปกปักรักษาชาติบ้านเมือง

แต่แล้วบ้านเมืองก็เข้าสู่ภาวะวิกฤติอีกครั้ง แต่คราวนี้ต้องบอกว่า สนิมเกิดแต่เนื้อในตน รัฐบาลมีความเน่าเฟะทะเลาะกันเละเทะเอง พรรคพลังประชารัฐก็แตกเป็นเสี่ยงๆ พรรคภูมิใจไทยก็วีโต้ไม่เข้าประชุมครม. หลังจากตกลงกันเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่ได้ เราจะได้เห็นสภาผู้แทนราษฎรล้มซ้ำซาก ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างนี้ไปเรื่อย ทั้งหมดมาจากความแตกแยกในรัฐบาลเอง หาได้เกิดจากฝ่ายค้านเขี้ยวลากดินไม่ แม้ว่า สส. ฝ่ายค้านจะจงใจไม่เข้าประชุมสภาเพื่อให้สภาล่มซ้ำซาก อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ปัญหาที่รัฐบาลร่อแร่นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ เรามาลองคาดการณ์กันว่าความไม่มั่นคงและจะเกิด dead lock ทางการเมืองจะเป็นเช่นไร และจะมีทางออกไปในทางใดได้บ้านสำหรับชาติบ้านเมือง

สถานการณ์ที่ 1. สภาล่มซ้ำซาก -->นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา--> พรป เลือกตั้งยังไม่เสร็จ แต่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว --> กกต จัดการเลือกตั้งไม่ได้ --> รัฐบาลรักษาการไปยาวๆ รอการ set zero

กรณีนี้เกิดสภาล่มซ้ำซากแล้ว เกิดจากความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ร่วมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่เข้าประชุมแต่เสนอให้นับองค์ประชุมสภา อันทำให้สภาล่มและกฎหมายต่างๆ ไม่อาจจะผ่านการพิจารณาได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการนิติบัญญัติ สร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นอย่างมาก

ถ้าให้ผมอ่านใจนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงพยายามยื้อให้ได้มากที่สุด ตั้งเป้าและใฝ่ฝันว่าจะยื้อไปได้ยาวจนได้เป็นประธานการจัดประชุม APEC ให้สำเร็จจนได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ปัจจัยแทรกซ้อนคือได้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่กฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่แล้วเสร็จและยังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร กว่าจะผ่านสภาไปเสนอทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา

ถ้าเกิดอุบัติเหตุทำให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะผ่าน พรป. เลือกตั้ง สส. ก็จะเกิด dead lock เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ต้องมีกฎหมายเลือกตั้ง และกกต. ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างไร จะไปเอากฎหมายเลือกตั้งเก่ามาใช้ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขไปแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงมาก อย่าลืมว่าศาลเคยตัดสินให้กกต ติดคุกมาแล้วเพราะจัดการเลือกตั้งโดยไม่ชอบ กกต ก็คงไม่กล้าเสี่ยงจัดการเลือกตั้งไปแล้วสุดท้ายตัวเองต้องติดคุก

รัฐบาลจะรักษาการไปยาวก็จะเกิดม็อบลงถนน เกิดการจลาจลหรือแรงกดดันต่าง ๆ มามากมาย แต่สุดท้ายเมื่อจัดเลือกตั้งไม่ได้ก็ต้อง set zero อยู่ดี

สถานการณ์ที่ 2. อภิปรายไม่ไว้วางใจ/เอา พรบ. งบประมาณ/การเงินสำคัญเข้าสภา แพ้โหวตในสภา รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต้องลาออก โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่

สภาล่มซ้ำซากเกือบจะ 20 ครั้งแล้ว ต้องขนกล้วยกันเข้าไปแจกในสภาเป็นประจำ กระนั้นก็ยังเอาไม่อยู่ กล้วยไม่ได้ผลจริง ๆ หรือเพราะกล้วยไม่มากพอ แจกกล้วยไปแล้วแต่ไม่พอ อำนาจซื้อของกล้วยลดลง แต่ถ้าโหวตแพ้ในสภาและเป็นกฎหมายสำคัญ นายกรัฐมนตรีก็ต้องลาออกและคณะรัฐมนตรีก็พ้นสภาพไปด้วย ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ถึงเวลาต้องเปิดสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ดังนั้นจึงเป็นเงื่อนเวลาที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้ ถ้าโหวตแพ้ในสภาแบบนี้นายกรัฐมนตรีน่าจะเสียหน้ามาก ทั้งยังไม่มีอำนาจใด ๆ เหลือในมือเพื่อจะรักษาการหรือควบคุมการจัดเลือกตั้งได้อีก น่าจะถือว่าเป็นความเสียหายหนักมากของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเอง

ทั้งนี้กรณีนี้ยังไม่ถือว่า dead lock แต่ก็เกือบ dead lock และใครจะมีบารมีพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานี้แล้วเอาอยู่ คุมสิงสาราสัตว์ในสภาผู้แทนราษฎรได้ แล้วถ้าคุมไม่อยู่หรือเกิด buffet cabinet มากๆ ก็เกิดการ set zero ได้อีก อันนี้เรียกว่า near dead lock แล้วกัน แต่ก็สุ่มเสี่ยงมากที่จะเกิด dead lock ในที่สุด

สถานการณ์ที่ 3. สภาล่ม-->ยุบสภา--> พรป. เลือกตั้งยังไม่เสร็จ -->นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการ -->เกิดวิกฤติ/แรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ

กรณีนี้เป็น double dead lock หาทางออกได้ยากมาก เพราะยุบสภาแล้วนายกรัฐมนตรีรักษาการยังลาออก จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีลาออกหลังยุบสภาแล้ว จะไม่สามารถสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่มาบริหารประเทศ จะจัดเลือกตั้งก็จัดไม่ได้ เพราะพรป. เลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งน่าจะจำเป็นต้อง set zero เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้

ผมวิเคราะห์ว่าเส้นทางสู่การเลือกตั้งแบบราบรื่นและรัฐบาลอยู่ได้ลากยาวนั้น ผมประเมินว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก ดีไม่ดีการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม

เมื่อบ้านเมืองถึงทางตันก็จำเป็นต้องมีทางออก แต่ว่าในแต่ละสถานการณ์จะต้องมีทางออกที่แตกต่างกัน

ทางออกสำหรับสถานการณ์ที่1. สภาล่มซ้ำซาก -->นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา--> พรป เลือกตั้งยังไม่เสร็จ แต่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว --> กกต จัดการเลือกตั้งไม่ได้ --> รัฐบาลรักษาการไปยาวๆ รอการ set zero

ในกรณีนี้จำเป็นต้องมี พรป. เลือกตั้ง แต่สภาผู้แทนราษฎรยุบไปแล้ว จำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงจำเป็นต้องยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2560 และผู้กุมอำนาจรัฐอาจจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมือง อาจจะมีการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาประชาชนก็แล้วแต่เพื่อทำหน้าที่พิจารณา พรป. เลือกตั้ง แล้วค่อยดำเนินการจัดการเลือกตั้ง

ทางออกสำหรับสถานการณ์ที่ 2. อภิปรายไม่ไว้วางใจ/เอา พรบ. งบประมาณ/การเงินสำคัญเข้าสภา แพ้โหวตในสภา รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต้องลาออก โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่

ต้องดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนคนเก่า อาจจะจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่หกคน 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ) 2.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย) 3.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย) 4.ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ (แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย) 5.นายอนุทิน ชาญวีรกูล (แคนดิเดตจากพรรคภูมิใจไทย) และ 6.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (แคนดิเดตจากพรรคประชาธิปัตย์) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนนอก เป็นไปได้ยากมาก และแม้จะสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแล้วก็ใช่ว่าจะมีบารมีเพียงพอที่จะประคองรัฐนาวาอันกระล่อมกระแล่มให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ทางออกสำหรับสถานการณ์ที่ 3. สภาล่ม-->ยุบสภา--> พรป. เลือกตั้งยังไม่เสร็จ -->นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการ -->เกิดวิกฤติ/แรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ

ในสถานการณ์นี้ไม่มีทั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการเพราะลาออกไปแล้ว และไม่มีสภาผู้แทนราษฎรด้วย อีกทั้งไม่มี พรป. เลือกตั้งด้วย จัดการเลือกตั้งก็ไม่ได้ เกิดกรณี double deadlock วิธีการแก้ไขอาจจะยุ่งยาก หาทางออกได้ยาก

ทางออกหนึ่งก็คือการใช้รัฐธรรมนูญ พศ.2560 มาตรา 5 วรรคสอง

มาตรา ๕ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งนี้ในหนังสือความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้อธิบายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 5 เอาไว้ดังนี้

ความมุ่งหมาย
กำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และเป็นบทบัญญัติที่เป็นทางออกในกรณีที่ไม่มีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

คำอธิบายประกอบ
บทบัญญัติวรรคหนึ่งได้มีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามพุทธศักราช ๒๔๗๕ (มาตรา ๖๑) โดยได้บัญญัติขึ้นเพื่อแสดงหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ (supremacy of the constitution) ซึ่งตามความในวรรคหนึ่งดังกล่าวนี้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ (มาตรา ๖) ถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ (มาตรา ๕) จะใช้ความว่า “บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”จนกระทั่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ (มาตรา ๖) ได้มีการเพิ่มเติมหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ จึงใช้ความว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ซึ่งการเรียนการสอนวิชารัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะมีการสอนว่า ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้นจะพิจารณาได้จากความในมาตรานี้ เพราะกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้

ส่วนบทบัญญัติวรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่คงหลักการตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ อันที่จริงบทบัญญัติในลักษณะนี้แต่เดิมจะปรากฏอยู่แต่เฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งมีบทบัญญัติสั้น ๆเฉพาะที่จำเป็นไม่ครอบคลุมทุกกรณี จึงได้บัญญัติทางออกไว้โดยให้ใช้ประเพณีการปกครอง ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ (มาตรา ๗) ซึ่งเป็นฉบับถาวร ได้บัญญัติบทบัญญัตินี้ไว้เป็นครั้งแรกและในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ (มาตรา ๗) ได้บัญญัติตามมาจนยากจะตัดออกได้ ที่ผ่านมาในยามที่เกิด


ปัญหาขึ้นในประเทศ มักจะมีผู้เรียกร้องให้ดาเนินการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา แต่ยังไม่ปรากฏข้อยุติว่าวิธีการที่เรียกร้องนั้นถูกต้องหรือตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวมทั้งผู้ใดเป็นผู้มีอานาจวินิจฉัยว่าประเพณีการปกครองเป็นประการใด ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ (มาตรา ๕) จึงมีบทบัญญัติวางหลักให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยในยามที่เกิดกรณีตามวรรคสองขึ้นในชั้นร่างรัฐธรรมนูญและนาไปลงประชามติจึงได้กำหนดไว้ในร่างดังกล่าวเพื่อให้มีกลไกและขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น แต่ต่อมาได้มีการปรับแก้ใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๓๙/๑ วรรคสิบเอ็ด คงเหลือความตามที่ปรากฏอยู่

หมายเหตุ บทบัญญัติมาตรา ๕ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้บัญญัติว่า
“มาตรา ๕ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัย

ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่

การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

สิ่งที่น่าสังเกตคือรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 ฉบับที่ผ่านการลงประชามติมีทั้งสิ้น 6 วรรค แต่ฉบับที่ลงพระปรมาภิไธยมี 2 วรรค เฉพาะวรรค 1 และ 2 อย่างไรก็ตาม มาตรา 5 วรรค 3-6 กลับนำมาบรรจุในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งหากเกิดวิกฤติของประเทศจำเป็นต้องให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ก็ต้องดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรค 3-6 เพราะการบังคับใช้กฎหมายต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ

ดังนั้นเมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัยเท่าที่มีองค์คณะของที่ประชุมเหลืออยู่แล้ว สามารถพิจารณาสรรหานายกรัฐมนตรีขึ้นไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้ทรงพิจารณาวินิจฉัยลงพระปรมาภิไธยได้ ซึ่งเหตุการณ์ในทำนองนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากที่จอมพลถนอม กิตติขจรกราบบังคมทูลลาออก




อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่ 3 นี้มีความซับซ้อนมากยิ่งกว่านั้น เพราะสภาผู้แทนราษฎรยุบไปแล้ว จำเป็นต้องมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาประชาชนก็แล้วแต่เพื่อพิจารณาออกพรป. เลือกตั้ง ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องใช้กฎหมายเก่าแก่อันเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติที่เรียกว่า พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ทั้งนี้เมื่อผมได้โพสต์บทความนี้บางส่วนบนโลกออนไลน์ อาจารย์ตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุดได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นดังนี้

“ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองได้เกิดปรากฏการณ์อันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มีขบวนการจัดตั้งขึ้นเพื่อล้มล้างและเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สถาบันหลักในการใช้อำนาจการปกครองประเทศ อันได้แก่สถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป

อีกทั้งมีขบวนการที่จ้องทำลายบั่นทอน ก้าวล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐบาลไม่สามารถรักษาพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ตลอดจนจัดการขบวนการที่จ้องล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศดังกล่าวได้

เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับสู่สภาวะปกติ....”

ทั้งนี้สถานการณ์บ้านเมืองจะพัฒนาไปสู่วิกฤติในทิศทางใดก็ตาม ขอให้ทุกฝ่ายใช้สติและความรักในชาติบ้านเมืองในการทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งซื่อตรงและนำพาชาติบ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤติจะเป็นการดีที่สุด ส่วนตัวมิได้อยากเห็นวิกฤติบ้านเมืองในรูปแบบใดหรือสถานการณ์ใดรวมถึงสถานการณ์ทั้งสามที่ได้พยากรณ์ในบทความนี้ด้วย ขอฝากบ้านเมืองไว้ในมือของทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น