การพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนนน้อยมากและผลคะแนนของทุกพรรคที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีคะแนนน้อยกว่าพรรคฝ่ายค้านจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ทำให้พรรคฝ่ายค้านโหมปี่กลองว่าหมดเวลาของพล.อ.ประยุทธ์แล้ว
ผมเคยเขียนมาหลายครั้งแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. ดังนั้นชะตากรรมของพรรคนี้ก็คงไม่แตกต่างกับพรรคของทหารทุกพรรคในอดีตก่อนหน้านี้ ที่เมื่อหมดอำนาจลงก็จะยุบสลายไปกับกาลเวลา
พรรคพลังประชารัฐใช้ทั้งพระเดชพระคุณและอำนาจรัฐกวาดต้อนนักการเมืองเข้ามาจำนวนมาก เปรียบเหมือนแม่น้ำร้อยสายคูคลองน้อยใหญ่ไหลมารวมกันเป็นมหานที เพื่อค้ำยันอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่แม้จะมีอำนาจรัฐในระหว่างเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐก็ไม่อาจได้รับชัยชนะเข้ามาเป็นอันดับ 1 พ่ายแพ้พรรคเพื่อไทยที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลง 200 กว่าเขตจาก 350 เขตเท่านั้นเอง
ต้องยอมรับว่า ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐหลายคนได้เข้าสภาฯ เพราะกระแสของพล.อ.ประยุทธ์และความกลัวว่าพรรคของทักษิณจะได้รับชัยชนะ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัด จนส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงเดียวกันแต่ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ
แต่แม้จะมี ส.ส.เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐก็สามารถรวบรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ นั่นก็เพราะมีเสียงของ 250 ส.ว.หนุนอยู่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่มีทางเลือก เพราะเห็นว่า 250 ส.ว.ที่ถูกพล.อ.ประยุทธ์และ คสช.ตั้งขึ้นมาและมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น จะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวเท่านั้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ถ้าไม่มีเสียง 250 ส.ว.ค้ำยันอยู่ พรรคเพื่อไทยที่ได้เสียงเลือกตั้งมากที่สุดก็คงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จไปแล้ว
แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเสนอชื่อของพรรคพลังประชารัฐ แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่เข้าไปเกลือกกลั้วกับพรรค และปล่อยให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คอยบริหารจัดการ และสุดท้ายเมื่อไล่ 4 กุมารออกไปสำเร็จพล.อ.ประวิตรก็ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเสียเอง
พรรคพลังประชารัฐในวันก่อตั้งจึงแตกต่างจากวันนี้ เดิมแกนนำก่อตั้งพรรคเป็น 4 กุมารที่มีภาพของนักวิชาการเทคโนแครต แต่วันนี้เมื่อ 4 กุมารถูกขับออกจากพรรคมันจึงกลายเป็นพรรคของทหารและนักการเมืองอย่างเต็มตัว
กล่าวกันว่าการพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อมใน 3 พื้นที่ทั้งที่ชุมพร สงขลา และเขต 9 กทม.ของพรรคพลังประชารัฐกำลังจะเป็นจุดแห่งความตกต่ำของพรรค แม้ว่าใน 2 จังหวัดใต้นั้นเป็นพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีความเจนจัดมากกว่า และเขต 9 นั้น เพราะความแข็งแกร่งของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยที่เป็นอดีต ส.ส.และแม้จะพ่ายแพ้ในครั้งที่แล้ว เขาก็เกาะติดในพื้นที่มาตลอด และทุกฝ่ายคาดการณ์มาตั้งแต่ต้นว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะและก็เป็นไปตามที่คาดหมายกัน
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าคะแนนที่ต่ำมากของผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐใน กทม.นั้น ไม่ใช่สัญญาณของความถดถอยที่กำลังจะเริ่มขึ้น แม้ว่าด้านหนึ่งมาจากบุคลิกของนายสิระ เจนจาคะเมื่อครั้งยังเป็น ส.ส.และเมื่อถูกถอดถอนแล้วก็ยังส่งภรรยามาลงก็ตาม นอกจากในหน่วยเลือกตั้งที่เป็นพื้นที่ทหารเสียงส่วนใหญ่ก็ยังเทให้พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลไม่ใช่พรรคที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ที่เชื่อกันว่าเป็นรัฐบาลที่มีหลังพิงเป็นกองทัพ
กระแสเบื่อหน่ายพรรครัฐบาล อาจจะไม่ใช่เพราะปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น แต่อาจจะมาจากการบริหารรัฐบาลประยุทธ์ที่มีอำนาจมากว่า 7 ปี ที่ประชาชนเริ่มตั้งคำถามศักยภาพในการบริหารประเทศ การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ การเกิดข้าวยากหมากแพง และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบในทุกๆ ด้านแม้ว่าจะเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำรัฐบาลในห้วงเวลานี้ก็ช่วยไม่ได้ที่จะได้รับผลพวงจากผลกระทบนี้ไป
แม้ตอนนี้จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์อยู่ มีคนจำนวนหนึ่งที่คอยออกมาแก้ต่างและเป็นองครักษ์พิทักษ์พล.อ.ประยุทธ์ในทุกด้าน แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่เคยสนับสนุนเริ่มเบื่อกับระยะเวลา 7 ปีกว่าที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำประเทศ และมีความต้องการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ด้านหนึ่งก็เป็นความจำเป็นของยุคสมัยการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์ และการเคลื่อนไหวที่ท้าทายต่อความมั่นคงของระบอบรัฐที่ต้องการผู้นำแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันท่ามกลางวิกฤตของปัญหาที่รุมล้อมก็ต้องการผู้นำที่มีความรู้และสติปัญญานำชาติให้รอดด้วย
มีคนจำนวนไม่น้อยเอายุคสมัยที่ยืนยาวของพล.อ.ประยุทธ์ไปเปรียบเทียบกับสมัยของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ในสมัยของพล.อ.เปรม เมื่อพล.อ.เปรมบริหารประเทศมายาวนานถึง 8 ปี แม้คุณสมบัติและสภาวการณ์ในขณะนั้นจะเหนือกว่าพล.อ.ประยุทธ์ในขณะนี้ทุกด้าน ก็ยังเกิดกระแสเบื่อหน่ายของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง พล.อ.เปรมก็รู้ตัวดี เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลที่รวมกันได้เสียงข้างมากเชิญให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก พล.อ.เปรมก็บอกว่าพอแล้ว แม้จะไม่ได้เกิดวิกฤตรุมล้อมและความขัดแย้งในพรรคอย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ประสบเลย
แต่ที่ต่างกันคือในยุคสมัยของพล.อ.เปรม ไม่มีความแตกแยกของคนไทยในชาติและไม่มีความเคลื่อนไหวที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
เราไม่รู้หรอกว่า พล.อ.ประยุทธ์คิดไหมว่า เขาควรจะถึงเวลาลงจากตำแหน่งหรือยัง หรือเขาอยากจะไปต่อหากสามารถฝ่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านในเดือนพฤษภาคมไปได้ แล้วสามารถก้าวข้ามเงื่อนไขการดำรงตำแหน่ง 8 ปีจากศาลรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมไปได้
แต่หากผ่านไปถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้และมีพรรคเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีก ถามว่าจะยังคงมีกระแสของพล.อ.ประยุทธ์อีกไหม กระแสกลัวทักษิณจนต้องทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐเพราะอยากให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ จะยังคงมีอีกไหม เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในเขต 9 ที่เป็นสัญญาณบอกเหตุ
นอกจากนั้นจะมีสัญญาณเตือนอีกครั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งเป็นคนของทักษิณและอยู่ในร่มเงาของพรรคเพื่อไทย กำลังมาแรง ถ้าชัชชาติชนะตามคาดหมายและมีคะแนนเสียงท่วมท้นก็จะเป็นการตอกย้ำว่า กรุงเทพมหานครนั้นถูกยึดครองโดยฝ่ายที่อ้างตัวว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว และชัยชนะของฝ่ายนี้ในกรุงเทพมหานครไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย
ถึงเวลานั้นพล.อ.ประยุทธ์และคนรอบข้างที่รายล้อมก็อาจจะตัดสินใจได้ว่าจะกำหนดอนาคตของตัวเองอย่างไร
พูดง่ายๆ ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะหาทางลงของตัวเองแบบไหน ณ ขณะนี้มีแต่ตัวของพล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นที่รู้คำตอบนี้ จะพอแล้วหรือไปต่อก็อยู่ที่การตัดสินใจของตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan