xs
xsm
sm
md
lg

การเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ : บทพิสูจน์ความนิยม ปชป.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สามารถ มังสัง



ในขณะที่เขียนบทความนี้ (11 ม.ค.) การเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ ทั้งที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดชุมพร คึกคักเป็นพิเศษ จะเห็นได้จากการหาเสียงของผู้สมัคร โดยเฉพาะผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคในฝ่ายรัฐบาลด้วยกันทั้งสองพรรค แต่มีความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองของแต่ละพรรค ซึ่งอนุมานได้จากปัจจัยทางการเมืองดังต่อไปนี้

ในฐานะเป็นพรรคการเมือง

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเรื่อยๆ มา โดยไม่ขาดตอน จึงเรียกได้ว่าเป็นสถาบันทางการเมืองควบคู่กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งในอดีตเป็นพรรคที่มีนโยบายชัดเจน และเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 2 ประการคือ ต่อต้านระบอบเผด็จการ และต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน

นโยบาย 2 ประการนี้ เห็นได้ชัดเจนจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะในบทบาทของพรรคฝ่ายค้าน นี่คือจุดเด่นของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต

แต่ในระยะหลังโดยเฉพาะในบทบาทของการเป็นรัฐบาล นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ และสังคมไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เมื่อเทียบกับพรรคคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ จึงทำให้กลายเป็นจุดอ่อนในการแข่งขันทางการเมืองในด้านนโยบาย ประกอบกับนโยบายซึ่งเป็นจุดแข็งคือการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน และการต่อต้านระบอบเผด็จการ จะเห็นได้จากการตกเป็นข่าวการทุจริตเกิดขึ้นในส่วนราชการที่พรรคประชาธิปัตย์ควบคุม เช่น กรณีประมูลโรงพักสมัยสุเทพ เทือกสุบรรณ กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรณีการจัดซื้อถุงมือขององค์การคลังสินค้าในสมัยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รวมไปถึงการด้อยคุณภาพในด้านบริหาร เป็นเหตุให้สินค้าอุปโภคและบริโภคราคาแพง เช่น กรณีหน้ากากอนามัยขาดตลาด เนื่องจากการกักตุนและหมูราคาแพง เป็นต้น นี่คือข้อด้อยของพรรคประชาธิปัตย์

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะพรรคการเมืองเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นรองรับการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงพูดไม่ได้เต็มปากว่าเป็นสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เฉกเช่นประชาธิปัตย์ ประกอบกับกระบวนการสรรหาบุคลากรทางการเมืองของพรรคนี้ เริ่มด้วยการดึงเอานักการเมืองเก่าจากพรรคโน้นพรรคนี้ โดยเฉพาะจากพรรคการเมืองในระบอบทักษิณ จึงทำให้พรรคนี้มีการแบ่งเค้กแบ่งกลุ่มไม่มีเอกภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเห็นได้จากกรณีความขัดแย้งระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ ส.ส.ส่วนหนึ่งในพรรคพลังประชารัฐ ในกรณีของการลงคะแนนไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงทำให้พรรคนี้ไม่มีเอกภาพทางการเมือง และอยู่ในภาวะแตกแยกตลอดเวลา นี่คือข้อด้อยของพรรคพลังประชารัฐ

ส่วนข้อดีที่เอื้อต่อการได้รับเลือกตั้งก็คือ พรรคนี้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นผู้เสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ผลงานใด ที่เกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาล ไม่ว่าการจัดให้มีโครงการช่วยเหลือประชาชน อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ถึงแม้จะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบขายผ้าเอาหน้ารอด ก็พอจะอ้างเป็นจุดขายทางการเมืองกับคนในระดับรากหญ้าได้ ดังนั้น จุดขายนี้จะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เปรียบในการเลือกตั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า การเลือกตั้งซ่อมในภาคใต้ ซึ่งแข่งขันกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสแพ้ชนะพอๆ กัน แต่ถ้าดูจากคะแนนจัดตั้งเดิมๆ พรรคประชาธิปัตย์อาจเหนือกว่าพรรคพลังประชารัฐอยู่บ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะที่สงขลาจึงทำให้คาดการณ์ได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเฉือนพรรคพลังประชารัฐเข้าเส้นชัยได้แบบหืดขึ้นคอ


กำลังโหลดความคิดเห็น