อย่างที่เคยว่าเอาไว้แล้วนั่นแหละว่า...ในบรรดาแนวรบสำคัญๆ ต่างๆ ไม่ว่า “แนวรบยุโรปตะวันออก” ที่กำลังฮึ่มๆ กันระหว่างหมีขาวรัสเซียกับอเมริกาและนาโต หรือ “แนวรบทะเลจีนใต้” ที่ญี่ปุ่นกับอเมริกากำลังร่างแผนช่วยปกป้องไต้หวันจากการบุกของพญามังกรจีนอย่างขมักเขม้น แต่ยังไม่น่าจะถึงกับร้อนฉ่า ร้อนแรง เมื่อเทียบกับ “แนวรบตะวันออกกลาง” ที่คุณทวดอิสราเอลได้ออกมาป่าวประกาศแบบเสียงดัง-ฟังชัด ว่าพร้อมแล้วที่จะ “บึ้มม์ม์ม์” อิหร่าน ชนิดถึงกับแจ้งตารางการโจมตีให้กับคุณพ่ออเมริกาเอาไว้ก่อนล่วงหน้า...
ด้วยเหตุนี้...วันนี้คงต้องขออนุญาตแวบไปดูความเป็ง-ปาย-ล่าย-เป็ง-ปาย-ม่าย-ล่าย ของแนวรบในด้านนี้ให้ชัดๆ กันอีกที โดยเฉพาะหลังจากเผอิญได้มีโอกาสอ่านข้อเขียน บทความ ของนักเขียนอิสราเอลอย่าง “นายYaakov Katz” ผู้เคยร่วมเขียนหนังสือเรื่อง “Israel vs Iran-The Shadow War” หรือว่าด้วยเรื่อง “สงครามเงา” ระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมทั้งความเป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้ ในการบุกโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านร่วมกับ “นายYoaz Hendel” ซึ่งได้ตีพิมพ์ เผยแพร่ เอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยคราวนี้ได้ออกมาอรรถาธิบายรายละเอียดต่างๆ ซ้ำเอาไว้อีกครั้ง ในข้อเขียนเรื่อง “Israel’s Iran question : To strike or not to strike” ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ “Jerusalem Post” เมื่อช่วงวันศุกร์ (24 ธ.ค.) ที่ผ่านมา อันเป็นอะไรที่น่าคิด น่าสะกิดใจ เอามากๆ...
คือโดยสรุปรวมความแบบสั้นๆ-ง่ายๆ...คงต้องบอกว่า ออกจะเป็นเรื่อง “ไม่ง่าย” หรือเผลอๆ อาจถึงขั้น “ยากส์ส์ส์ฉิบหาย” ในสายตาหรือในทัศนะของนักเขียนอิสราเอลรายนี้ ดังที่เจ้าตัวได้ไล่เรียงรายละเอียดให้เห็นเป็นขั้นๆ ว่านอกจากบรรดาโรงงานนิวเคลียร์อิหร่าน ที่อาจถือเป็น “เป้าหมาย” ในแต่ละแห่ง แต่ละที่ เช่น โรงงาน “Natanz” ที่กินอาณาบริเวณพื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางฟุต แถมยังขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินประมาณ 8-23 ฟุต วางโครงเหล็กและแท่งคอนกรีตหนาเปอะปะเอาไว้รายรอบ โดยกำแพงแต่ละด้านหนาไม่ต่ำกว่า 2 ฟุต อีกทั้งยังเต็มไปด้วยการวางจรวดขีปนาวุธชนิดภาคพื้นสู่อากาศเอาไว้คอยปกป้อง คุ้มกัน ชนิดหาทางเจาะ หาทางไช หาทางทะลวงเข้าไปเล่นงานได้ลำบากเอามากๆ...
หรือโรงงานอีกโรงที่เมือง “Arak” ที่คุณปู่อิหร่านท่านอ้างว่าเอาไว้ผลิตยา แต่ฝ่ายอิสราเอลคาดว่าคือแหล่งผลิตพลูโตเนียมที่สำคัญเอามากๆ ก็มีระบบโครงสร้างและการป้องกันไม่น้อยไปกว่ากัน ยิ่งเป็นโรงงานที่ “Isfahan” ด้วยแล้ว เชื่อว่าเต็มไปด้วย “อุโมงค์” อันสุดแสนสลับซับซ้อน จนแทบไม่รู้ว่าจะ “บอมม์ม์ม์” กันตรงไหน อย่างไร มันถึงจะมีผลให้การเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์ของอิหร่าน เกิดอุปสรรค ชะงักงัน หรือสูญหายไปต่อหน้าต่อตา ส่วนอีกโรงที่อยู่แถวเมือง “Qom” ห่างจากทะเลสาบแคสเปียนไปไม่เท่าไหร่ และเป็นจุดที่คณะกรรมการตรวจสอบอย่าง “IAEA” เคยสรุปเอาไว้เมื่อปี ค.ศ. 2009 ว่าน่าจะมีเครื่องเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์แบบเหวี่ยงนับเป็นพันๆ ตัว แต่ก็ดันสร้างเอาไว้ในภูเขา ชนิดที่แม้แต่อดีตรัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล อย่าง “นายEhud Barak” ยังต้องออกปากเอาไว้ในช่วงนั้นว่า เป็นโรงงานที่มีระบบป้องกันการโจมตีด้วยระเบิดที่แข็งแกร่งเอามากๆ...
แต่ที่ “ยากส์ส์ส์” ยิ่งไปกว่านั้นขึ้นไปอีก...ก็คือถ้าอิสราเอลคิดจะโจมตีโรงงานนิวเคลียร์อิหร่านตามคำประกาศเอาไว้จริงๆ แล้วล่ะก็ สิ่งเริ่มแรกก็คงหนีไม่พ้นต้องหาทางโจมตีสถานีเรดาร์ในจุดต่างๆ ของอิหร่านให้เป็นอัมพาตซะก่อน รวมทั้งฐานยิงจรวด ไปจนคลังเก็บอาวุธ ฯลฯ เพื่อทำให้อิหร่านหมดสภาพที่จะตอบโต้เอาคืน หรือทำให้อดีตนายพลแห่งกองทัพอิสราเอล (IDF) ถึงกับเคยประมาณการเอาไว้ว่า อาจต้องกำหนด “เป้าหมาย” ไว้ไม่ต่ำกว่า 100 เป้าหมายเป็นอย่างน้อย โดยต้องใช้เวลาสั้นที่สุด อย่างมากก็ไม่เกิน 2 วันเท่านั้น ถึงจะสามารถเรียบโร้ยย์ย์ย์โรงเรียนอิสราเอล โรงเรียนกษัตริย์ดาวิดและโซโลมอน ได้แบบจริงๆ จังๆ...
และที่ออกจะน่าปวดหัวยิ่งไปกว่านั้น...ก็คือโดยระยะห่างระหว่างประเทศอิสราเอลกับพรมแดนอิหร่าน มันออกจะไกลกว่าเพลง “Five Hundred Niels” ไปอีกเกือบ 200 ไมล์ หรือห่างไปถึง 700 ไมล์เป็นอย่างต่ำ ยิ่งเป้าหมายบางเป้าหมายเช่นตามโรงงานที่เชื่อว่าเป็นแหล่งผลิต แหล่งเสริมสมรรถนะยูเรเนียม มันอาจไกลไปถึง 1,000-1,5000 ไมล์เอาเลยก็ยังมี ด้วยเหตุนี้สมรรถนะของเครื่องบินโจมตีอิสราเอล ที่ค่อนข้างจะเก่าแก่ลงไปทุกที แม้แต่เครื่องล่าสุดอย่าง “F-35” ก็เถอะยังคงหนีไม่พ้นต้องหาทาง “เติมน้ำมันกลางอากาศ” เอาไว้ให้พร้อมสรรพ หรือคงต้องขึ้นอยู่กับคุณพ่ออเมริกาว่าจะส่งมอบเครื่องบิน “KC-46 A Pegasus” ไว้ให้ตอนไหน เมื่อไหร่ อีกทั้งโดย “เส้นทาง” ที่จะส่งเครื่องบินเข้าโจมตี ก็มีอยู่แค่ประมาณ 3 เส้นทางด้วยกัน คือด้านเหนือ ด้านกลาง และด้านใต้ โดยด้านเหนือนั้น...หนีไม่พ้นต้องหาทางแอบเลาะเลียบเข้าไปในน่านฟ้าตุรกีและซีเรีย ซึ่งต่างก็ได้รับการยกระดับพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศจากรัสเซียไปแล้วด้วยกันทั้งคู่ หรือทำให้ยิ่งยากเอามากๆ ที่จะฝ่าการตรวจจับด้วยเรดาร์ ไม่ว่าจะโดยระบบ “S-300” หรือ “S-400” ก็แล้วแต่...
ส่วนในด้านกลาง...ที่แม้จะสามารถบินตัดตรงไปยังดินแดนอิหร่านได้แบบฉับพลัน-ทันที แต่หนีไม่พ้นต้องล่วงละเมิดน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านอีกไม่รู้กี่ต่อกี่ประเทศ หรืออาจนำมาซึ่งปัญหาทางการทูตชนิดร้ายกาจ ร้ายแรง มิใช่น้อย แต่ถ้าหากตัดสินใจมุดลงใต้ หรือหันไปใช้เส้นทางด้านใต้ ก็คงต้องหาทางจับเข่าเจรจากับเจ้าชาย “MbS” มกุฎราชกุมารซาอุฯ ที่กำลังมีข่าวว่าคิดจะเปิดโต๊ะเจรจากับอิหร่านในอีกไม่นานนับจากนี้ ว่าจะยอมให้มุด ยอมให้บินผ่านน่านฟ้าประเทศตัวเองหรือไม่ อย่างไร อันนี้นี่แหละ...ที่ทำให้โอกาสที่จะตีท้ายครัวคุณปู่อิหร่าน ให้ฉิบหายวายป่วง เหมือนอย่างที่เคยโจมตีอิรักในปฏิบัติการ “Opera” เมื่อปี ค.ศ. 1981 หรือโจมตีซีเรียในปี ค.ศ. 2007 ได้แบบสบายๆ มันชักเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเหมือนเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว...
ยิ่งถ้าหากไม่มีระเบิดทำลายล้าง ระดับ “GBU-27” หรือ “GBU-28” ที่สามารถเจาะทะลวงกำแพงป้อมปราการต่างๆ ด้วยน้ำหนักระเบิดระดับ 1,000-3,000 ปอนด์ มีแต่ต้อง “สั่งซื้อ” จากคุณพ่ออเมริกาเท่านั้นเอง ไม่งั้นก็ต้องเสียเวลาพัฒนาด้วยตัวเองกันเป็นปีๆ สิ่งที่สามารถเล่นงานอิหร่านได้ตามความมุ่งมาดปรารถนา ก็คงเหลือแต่จรวด “Jericho” ที่มีรัศมีทำการได้ถึง 1,200-3,000 ไมล์ สามารถบรรทุกน้ำหนักระเบิดได้ถึง 1 ตัน โดยเผลอๆ...อาจถึงขั้นต้องใช้ “Jericho-3” ไม่ใช่แค่ “Jericho” ระดับรองๆ ไปกว่านั้น หรือต้อง “Jericho” ระดับ “ICBM” ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ควบคู่ไปด้วยเอาเลยก็ไม่แน่!!! แต่แม้กระนั้น...ก็ยังไม่อาจสร้างหลักประกันได้แน่ชัด ว่าจะสามารถทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างให้ราพณาสูร หรือยังเพียงแค่ส่งผลให้การยกระดับนิวเคลียร์ของอิหร่าน เกิดอาการชะงักงันไปชั่วครู่-ชั่วยาม...
อย่างไรก็ตาม...ไม่ว่าโดยความเป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้ มันจะมาก-จะน้อยไปถึงขั้นไหนก็ตาม วัน-สองวันที่ผ่านมา หรือในช่วงวันฉลอง “Great Prophet” ครั้งที่ 17 ของอิหร่านเขา ไม่ว่าจะสำนักข่าว “Fars News” หรือ “Tasnim” ของทางการอิหร่าน ได้ออกข่าวเผยแพร่ให้เห็นถึงภาพจำลองแห่งการโจมตี “ศูนย์ปฏิบัตินิวเคลียร์” ของอิสราเอล ที่เมือง “Dimona” ในแถบทะเลทราย “Negev” เอาไว้ก่อนล่วงหน้า ตามแผนทดสอบที่เรียกว่า “War Game” โดยมี “พลตรีMohammad Hossein Baqeri” แห่งกองทัพอากาศอิหร่าน ออกมาป่าวประกาศแบบเสียงดัง-ฟังชัด ว่าจากการทดสอบขีปนาวุธระดับ “Ballistic Missiles” จำนวน 16 ลูก และอาศัยเครื่องบินโดรน “Shahed-136” ที่มีรัศมีการบิน 1,240-2,000 ไมล์ แค่ประมาณ 5 เครื่องเท่านั้นเอง ก็สามารถ “ลบศูนย์ปฏิบัตินิวเคลียร์อิสราเอล” ออกจากแผนที่ได้ชนิดราพณาสูร ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ “เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ของขีดความสามารถทางทหารของอิหร่านทุกวันนี้” เท่านั้น...
จริง-ไม่จริง โม้-ไม่โม้ สมรักษ์-ไม่สมรักษ์ คงต้องไปนอนคิดกันเอาเองก็แล้วกัน แต่ภายใต้ความฉิบหาย-วายวอดในลักษณะทำนองนี้ ไม่ว่าต่อฝ่ายใดหรือฝ่ายใดก็แล้วแต่ มันจึงน่าที่จะทำให้ “โต๊ะเจรจา” ระหว่างอิหร่านกับอเมริกาและบรรดาประเทศที่ร่วมอยู่ในข้อตกลง “JCPOA” ที่ได้เริ่มต้นขึ้นมาอีกครั้ง ณ กรุงเวียนนาเมื่อช่วงวันจันทร์ (27 ธ.ค.) ที่ผ่านมา น่าจะสำคัญยิ่งกว่า การคุยโม้-คุยโตถึงขีดความสามารถทางทหารของแต่ละฝ่าย ไม่รู้กี่เท่า-ต่อกี่เท่า...