ในขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อย่างเป็นทางการ แต่ถึงกระนั้นก็มีผู้ประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งแล้วหลายคน มีทั้งลงอิสระ และลงในนามพรรค แต่ละคนได้พูดถึงแนวทางการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารเมืองหลวงแห่งนี้ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะแนวทางแก้ปัญหาเรื้อรังของเมืองใหญ่แห่งนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ให้คนกรุงเทพมหานครได้นำไปพิจารณาในการเลือกใครและไม่เลือกใคร
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นที่คนกรุงเทพฯ ควรจะได้รู้และเข้าใจปัญหาของกรุงเทพฯ ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะต้องนำเสนอแนวทางแก้ไขให้ชาว กทม.ได้นำไปพิจารณาในการเลือกใครและไม่เลือกใคร
ปัญหาที่ว่านี้ได้แก่
1. ปัญหาความสะอาดบนท้องถนนหนทาง โดยเฉพาะตรอกซอกซอย รวมไปถึงคูคลองย่อยซึ่งแยกจากคลองใหญ่ และแม่น้ำเจ้าพระยา
2. การจัดหาสถานที่ค้าขายให้กับคนยากคนจน โดยที่ไม่ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อผู้พบเห็น
3. ปัญหาสุขอนามัย โดยเฉพาะของคนในระดับล่าง ซึ่งไม่มีเงินมากพอจะไปใช้บริการเอกชน และไม่มีเวลาเหลือเฟือที่จะต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาลรัฐ
4. ปัญหาการศึกษาภาคบังคับ หรือระดับประถมของคนระดับล่าง ซึ่งสถานที่เรียนไม่เพียงพอ และไม่มีเงินมากพอที่จะเข้าเรียนในสถานศึกษาของเอกชน
5. ปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง และสิ้นเปลืองพลังงาน โดยไม่ได้ระยะทางในการเดินทาง
6. ปัญหาน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ และอยู่ใกล้แม่น้ำคูคลอง
ปัญหา 6 ประการข้างต้น เป็นปัญหาเรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตคนกรุงเทพฯ ตลอดมาและไม่เคยมีผู้ว่าฯ กทม.คนใดแก้ไขและวางแนวทางป้องกันได้อย่างถาวร จะมีก็แค่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น
ดังนั้น ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ชาว กทม.จะต้องเลือกผู้ว่าฯ กทม. โดยดูผลงานในอดีตประกอบกับฟังวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาของผู้สมัครแต่ละคนมาเป็นเครื่องพิจารณาตัดสินใจในการเลือกใคร และไม่เลือกใคร โดยยึดหลักความเป็นได้ และเป็นไปไม่ได้ของนโยบายที่แต่ละคนนำเสนอ อย่าเลือกตามที่คนอื่นบอก และชี้นำรวมไปถึงแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ที่เขาเสนอให้ และจะต้องไม่เลือกคนที่ไม่เคยมีผลงานในอดีตที่ผ่านมา แต่พูดถึงอนาคต
อีกประการหนึ่งในการฟัง จะต้องยึดหลักวาจาที่เป็นสุภาษิต 5 ประการคือ
1. เป็นความจริงคือ สามารถนำสิ่งที่พูดไปวางแผน และดำเนินการจนบรรลุเป้าหมายตามที่พูดไว้
2. มีประโยชน์คือ มีเนื้อหาสาระฟังแล้วทำให้เกิดปัญญา และนำไปสู่การปฏิบัติได้
3. ถูกกาลเทศะคือ สอดคล้องกับยุคสมัยไม่เลื่อนลอย ไม่เพ้อเจ้อ
4. ไม่หยาบคายไร้วัฒนธรรมเข้าข่ายด่าทอ และเสียดสีผู้อื่น
5. มีเมตตาจิตคือ พูดด้วยความเมตตา หวังจะให้ผู้ฟังได้ประโยชน์
สุดท้ายจะต้องเลือกคนเก่ง และคนดีในคนเดียวกัน จึงจะเป็นหลักประกันได้ว่า ท่านได้ผู้นำที่พูดและทำตรงกัน