หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
ผมเขียนถึงพรรคประชาธิปัตย์มาแล้วหลายครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผมเป็นคนหนึ่งที่ลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์ เพราะหัวหน้าพรรคประกาศว่าจะไม่ร่วมกับรัฐบาลสืบทอดอำนาจ แต่สุดท้ายประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่ตกไปเป็นอันดับ 4 เกือบแทบทุกเขต
หลายคนชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสองฝั่งที่มีความแตกแยกในสังคมไทยก็คือฝั่งที่อุปโลกน์ตัวเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝั่งเสื้อแดงกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝั่งเสื้อเหลือง ความพ่ายแพ้อย่างยับย่อยของพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนั้นเพราะคนกรุงเทพฯฝ่ายอนุรักษ์นิยมพากันไปเทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจคสช.เพราะต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี
พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้อย่างยับเยินจนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศลาออก ตอนนั้นผมก็ยังคิดว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรจะเป็นพรรคฝ่ายค้านมากกว่าร่วมเป็นรัฐบาล เพราะการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็จะตกเป็นเบี้ยล่างของพรรคพลังประชารัฐที่มีฐานการเมืองเดียวกัน แต่พรรคประชาธิปัตย์ถูกกดดันมากทั้งจากประชาชนในฝั่งอนุรักษ์นิยมและคนในพรรคให้เข้าร่วมรัฐบาล แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็เลือกนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรคและเข้าร่วมรัฐบาลในที่สุด
พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ เป็นสถาบันการเมืองที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ดูเหมือนว่า พรรคประชาธิปัตย์กำลังอยู่ในขาลงที่มีคนเก่าๆ ลาออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่ หรือไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองอื่น
แม้ภาวะแบบนี้จะเกิดเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทุกครั้งเมื่อตกต่ำลงไป แล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมาได้ในเวลาต่อมา แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้จะหนักหนาที่สุด และดูเหมือนว่าหนทางที่จะฟื้นกลับมานั้นไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกแล้ว
ท่ามกลางกระแสตกต่ำแต่กลับมีโพลอย่างน้อย 3 โพลที่บอกว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กำลังมีความนิยมอย่างสูงที่คนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลายคนเห็นโพลแล้วตั้งคำถามว่าใช่เหรอ หรือไม่ก็ถามว่าเขาไปสำรวจกันที่ไหน
เริ่มแรกจากสวนสุนันทาโพล ที่บอกว่าความนิยมของนายจุรินทร์มาแรงจนหายใจลดต้นคอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยสวนสุนันทาโพลระบุว่า อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ 16.68 เปอร์เซ็นต์, อันดับ 2 นายจุรินทร์ 16.26 เปอร์เซ็นต์, อันดับ 3 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 16.19 เปอร์เซ็นต์, อันดับ 4 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 12.10 เปอร์เซ็นต์, อันดับ 5 อนุทิน ชาญวีรกูล 9.85 เปอร์เซ็นต์
ต่อมาศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผย ผลสํารวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับ “ประชาชนในกรุงเทพมหานครต้องการผู้นําที่มีคุณลักษณะแบบใดเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปและคุณลักษณะพรรคการเมืองแบบใดที่ผู้นําสังกัดหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป”มีการสำรวจคุณสมบัติด้านต่างๆ รวม 5 ด้าน ปรากฏว่า นายจุรินทร์มีคะแนนนำทุกด้าน
โดยผลสรุปภาพรวมคุณลักษณะความเป็นผู้นําของผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จะเห็นได้ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มีคะแนนโดยภาพรวมสูงสุด 54.24% และรองลงมา คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 52.99%, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 38.12% ตามลําดับ ส่วนนางสาวแพทองธาร ชินวัตร มีคะแนนน้อยที่สุด 8.87%
จนกระทั่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นักวิชาการประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประกาศลาออก โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรที่ผมเคยอยู่มานานถึง 36 ปี คือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และจุดยืนของความสุจริตและความเที่ยงตรงทางวิชาการที่ยึดมั่นมาโดยตลอดครับ
และโพลล่าสุดอินไซท์เอเชีย รีเสิร์ช กรุ๊ป (ประเทศไทย) ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย จำนวน 444 ราย ต่อคำถามว่าถ้าสามารถเลือกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ คิดว่าหัวหน้าพรรคใดควรเป็นนายกฯ ซึ่งนักธุรกิจชั้นนำ 45.05 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ตัดสินใจหรือไม่เลือกใคร แต่ 27.48 เปอร์เซ็นต์ เลือกนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วย 15.32 เปอร์เซ็นต์ เลือกนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และเมื่อสอบถามเพิ่มเติมถึงสาเหตุ พบว่านักธุรกิจชั้นนำ 22.17 เปอร์เซ็นต์ เลือกเพราะเล็งเห็นถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน
อย่างไรก็ตามต่อมาทางนิด้าได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้ร่วมกับกลุ่มดังกล่าวในการทำโพลแต่อย่างใด ขณะที่โพลที่นิด้าสำรวจความนิยมนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอดนั้น ไม่เคยมีชื่อของนายจุรินทร์แพลมขึ้นมาเลย
แต่คำถามของโพลที่สามนั้นก็พอเป็นไปได้นะครับ เพราะเขาบีบคำถามให้แคบลงว่า “ถ้าสามารถเลือกหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเป็นนายกรัฐมนตรีได้ คิดว่าหัวหน้าพรรคใดควรเป็นนายกฯ” ในบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันนายจุรินทร์ก็อาจจะมีภาษีดีที่สุดในบรรดาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนอื่นๆ
โพลทั้งสามจะเป็นความจริงหรือไม่ก็น่าจะต้องพิสูจน์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่าความนิยมต่อตัวนายจุรินทร์จะมีมากขนาดนั้นจริงไหม แต่มาตรวัดล่าสุดต่อพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังจะมาถึงก็คือ การเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ครอบครองพื้นที่มาตลอดหลายสมัย และการเลือกตั้งซ่อมใน 2 จังหวัดภาคใต้คือ ชุมพร และสงขลาว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้เก้าอี้กลับมาเหมือนเดิมไหม
ต้องยอมรับนะครับว่าวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กับภาคใต้ที่ไม่นับ 3 จังหวัดใต้สุดไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยสามารถเขาไปยึดที่นั่งส.ส.ได้ในหลายจังหวัด และเป็นการพ่ายแพ้ที่ย่อยยับที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้
อย่าลืมว่าในการเลือกตั้งซ่อมก่อนหน้านี้ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยพ่ายแพ้พรรคพลังประชารัฐมาแล้ว
ภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยบอกว่าส่งเสาไฟฟ้าลงคนก็เลือกอีกแล้ว เพราะคนใต้ปัจจุบันไม่มีความผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์เหมือนในอดีต และคนใต้จำนวนไม่น้อยมีความเชื่อว่า การเป็นส.ส.ผูกขาดของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ไม่ได้ส่งผลดีอะไรต่อภาคใต้เลย เมื่อเทียบกับภาคอื่นที่ได้รับการพัฒนาไปมาก
แม้พื้นที่ภาคใต้พรรคที่อ้างว่าตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยังไม่อาจเอื้อมถึง แต่พรรคการเมืองที่เป็นฝั่งเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พื้นที่ภาคใต้ไม่ได้เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป
ชะตากรรมของพรรคประชาธิปัตย์จริงๆ นั้นจึงน่าจะอยู่ที่การเลือกตั้งซ่อมส.ส.ที่จังหวัดชุมพรและสงขลาว่าจะสามารถรักษาเก้าอี้ไว้ได้หรือไม่ หากไม่สามารถรักษาได้ก็ต้องนับว่าประชาธิปัตย์ได้ลงมาถึงจุดตกต่ำอย่างสุดขีดแล้ว แต่ถ้ารักษาไว้ได้ก็ไม่สามารถทำให้พรรคประชาธิปัตย์ลำพองได้ เพราะเป็นการรักษาเก้าอี้เดิมของตัวเองเอาไว้ได้เท่านั้น
ในวันสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2564 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีวาระสำคัญเพื่อเลือกรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบภาคใต้ แทนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่น้อยใจลาออกจากตำแหน่งและลาจากพรรคไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการเลือกรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แทนนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่มักจะสวนทางกับจุดยืนของพรรคในระยะหลังและลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านี้เช่นเดียวกัน
ว่ากันไว้มีการขับเคี่ยวเพื่อแย่งชิงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ระหว่างนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช หลายสมัยและนายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลาสมัยแรก ซึ่งหลายคนคาดว่าจะเป็นไปตามประเพณีของพรรคประชาธิปัตย์คือให้คนเก่าแก่กว่าได้นั่งรองหัวหน้าพรรคไป ส่วนนายเดชอิสม์ว่ากันว่าจะได้เก้าอี้รองเลขาธิการพรรคเป็นรางวัลปลอบใจ
แต่ผมคิดว่าสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำขณะนี้คือปรับปรุงพรรคไปสู่อนาคต ทำให้พรรคมีความทันสมัยไม่ใช่พรรคที่ตกอยู่ในอาณัติของคนไม่กี่คนที่มีบารมีในพรรค ทำให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคเจ้าขุนมูลนายที่ใครจะเข้าไปในพรรคต้องฝ่าด่าน 18 อรหันต์ไปต่อแถวกันยึดหลักอาวุโสแบบเคร่งครัดถึงจะประสบความสำเร็จได้ ในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะกลับมาได้ เพราะเป็นพรรคเดียวที่ไม่มีเจ้าของและน่าจะยั่งยืนกว่าทุกพรรคที่มีอยู่ในตอนนี้
ที่คิดว่าในอนาคตพรรคประชาธิปัตย์อาจจะกลับมาได้ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พรรคคู่แข่งบนฐานคะแนนเดียวกันของพรรคประชาธิปัตย์อย่างพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจ มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นจุดขาย และอำนาจของ 250 ส.ว.ถ้าหมดจากพล.อ.ประยุทธ์และอำนาจ 250ส.ว.แล้วก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าพรรคนี้จะไปต่ออย่างไร ถึงเวลานั้นน่าจะแตกกระสานซ่านเซ็นกันไป
แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์กลับมายิ่งใหญ่ได้ในยุคของคนบริพรรคในเจนเนเรชั่นนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ปาฏิหาริย์มาก
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan