xs
xsm
sm
md
lg

ชาวยุโรปกับการตามหา...ขนแกะทองคำ!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทับทิม พญาไท


Amin Nasser ผู้บริหารบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
ช่วงจังหวะหนาวๆ ช่วงนี้...สำหรับประเทศซีกโลกใต้ อย่างไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮา น่าจะเบาๆ สบายๆ ชนิดสามารถฮึมๆ ฮัมๆ บทเพลงของ “ครูล้วน ควันธรรม” ประมาณว่า “พอย่างเข้าเขตหน้าหนาว...ลมหนาวก็โชยพัดกระหน่ำ หึ่มฮึมฮึ๊มฮึมฮึมหึ่ม” อะไรทำนองนั้น ได้อย่างคล่องเนื้อ คล่องตัว แต่สำหรับบรรดาประเทศซีกโลกเหนือ อย่างพวกฝรั่งแถวๆ ยุโรปนี่สิ!!! นอกจากหนาวว์ว์ว์ระดับ “ปัสสาวะต้องเด็ดทิ้ง” หรือไม่ อย่างไร ก็แล้วแต่ ยังต้องเจอกับราคาแก๊ส ราคาพลังงานที่เอามาใช้ปั่นไฟ พุ่งทะลุเพดาน ทะลุหลังคา อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้...

เห็นว่า...ราคาแก๊สในยุโรปช่วงนี้ น่าจะอยู่ราวๆ ประมาณ 1,150 ดอลลาร์ต่อ 1,000 คิวบิกเมตร หรือคิดเป็นราคาค่าไฟฟ้าประมาณ 99 ยูโรต่อหนึ่งชั่วโมงเมกะวัตต์ สำหรับบรรดาครัวเรือนทั้งหลาย และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นๆ ต่อไปอีก อาจหวนกลับไปถึงระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อ 1,000 คิวบิกเมตร เหมือนช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเอาเลยก็ไม่แน่!!! โดยเฉพาะเมื่อมีแนวโน้มว่า บรรดาประเทศคุณพ่ออเมริกาและยุโรป กำลังตั้งที ตั้งท่า คิดจะ “แซงชั่น” รัสเซีย กันแบบจริงๆ จังๆ อีกครั้ง ถึงขั้นอาจห้ามการทำธุรกรรม โอนถ่ายหรือปิดชำระบัญชีด้วยระบบ “SWIFT” เอาเลยถึงขั้นนั้น อันเนื่องมาจากความตึงเครียดในแนวรบยุโรปตะวันออก หรือในกรณียูเครน ที่ยังหาทางออก ทางไป กันไม่เจอ แม้จะมีการพบปะเจรจาเจ๊าๆ แจ๊ะๆ ระหว่าง 2 ผู้นำโลก อย่างประธานาธิบดี “ปูติน” และ “ผู้เฒ่าโจ ซึมเซา” ไปเมื่อช่วงวัน-สองวันที่ผ่านมา...

ภายใต้ภาวะราคาแก๊ส ราคาพลังงาน ที่กำลังแพงแสนแพง แถมยังเจอกับ “ภาวะขาดแคลน” ซะอีกด้วยต่างหาก ปิดท้ายสัปดาห์นี้...เลยคงต้องขออนุญาตไปหยิบเอาคำพูด คำจาของหัวหน้าคณะผู้บริหารบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท “Aramco” “นายAmin Nasser” ที่ได้ไปกล่าวไว้ในขณะการประชุมสัมมนาของ “The World Petroleum Congress” ที่มลรัฐเท็กซัสเมื่อไม่กี่วันมานี้ มาลองใคร่ครวญพิจารณา เผื่อว่าอาจพอได้ข้อคิด อุทาหรณ์สอนใจ อย่างหนึ่ง อย่างใด ติดปลายนวมเอาไว้มั่ง โดยเฉพาะต่อความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่เรียกๆ กันว่า “ช่วงระยะผ่าน” (The Transition) หรือช่วงที่โลกทั้งโลก กำลังคิดจะหันไปใช้ “พลังงานสะอาด” กันอย่างเป็นระบบและเป็นกิจการ เพื่อช่วยให้โลกทั้งโลกดีขึ้นๆ หรือพอ “อยู่ๆ กันไปได้” ไม่ถึงกับต้องเกิด “ภาวะโลกร้อน” ที่น่าเกลียด น่ากลัวกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ไม่รู้กี่สิบ กี่ร้อยเท่า หรือพยายามลดการใช้ “พลังงานฟอสซิล” ไม่ว่าน้ำมัน แก๊ส หรือถ่านหิน ฯลฯ ที่เชื่อกันว่าเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยมลพิษอย่างก๊าซคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จนเกิดภาวะเรือนกระจก หรือ “Greenhous Effect” อะไรต่อมิอะไรก็แล้วแต่จะว่ากันไป...

แต่เอาไป-เอามาแล้ว...การหา “จุดสมดุล” หรือ “จุดลงตัว” ในระหว่างช่วงระยะที่ว่านี่แหละ มันออกจะเป็นอะไรที่ “ไม่ง่าย” หรือออกจะลำบากยากเย็น มิใช่น้อย แบบเดียวกับการหาจุดลงตัว ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของท่านเชื้อไวรัสโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ คือจะวางน้ำหนัก เน้นน้ำหนัก ไปที่ความกลัว “ป่วยตาย” หรือความกลัว “อดตาย” แบบไหน อย่างไร มันถึงพอจะก่อให้เกิดเหมาะสมสอดคล้อง หรือเกิด “ความสมดุล” ขึ้นมาในแต่ละประเทศแต่ละสังคม คือถ้าหากคิดปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อไม่ให้ท่านเชื้อไวรัสเล็ดรอดเข้ามาได้เลย โอกาสที่จะ “เจ๊ง” กันไปเป็นประเทศๆ ย่อมเป็นไปได้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น ระบบเศรษฐกิจที่ต้องคอยเยียวยาและหาทางฟื้นฟู ย่อมเต็มไปด้วยความลำบากยากเย็นแสนเข็ญ อย่างมิอาจปฏิเสธได้เลย แต่ครั้นคิดจะถ่างอ้าซ่า เปิดรับ แบรับ แต่ละสิ่งแต่ละอย่างที่อาจพอช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหวนกลับไปเป็นเช่นเดิม ก็อาจเป็นการฟื้นชีวิตให้กับเชื้อไวรัสไม่ว่าตัวเก่า-ตัวใหม่ ไม่ว่าเดลตา ไม่ว่าโอมิครอน ให้แพร่สะพัด แพร่กระจาย ชนิดต้องแย่งกันเป็น “แชมป์โรค” แย่งชิงตำแหน่งกับคุณพ่ออเมริกาเอาเลยก็ไม่แน่!!!

สภาพเช่นนี้...ก็เลยไม่ต่างไปจากการจุดลงตัวในเรื่อง “พลังงาน” นั่นเอง คือเอาไป-เอามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “พลังงานสะอาด” หรือ “พลังงานสกปรก” อาจเป็นสิ่งที่สามารถควบคุม สามารถเลือกเฟ้นเอามาใช้ในแบบไหน อย่างไร ก็ย่อมได้ แต่สิ่งที่มิอาจควบคุม หรือแทบไม่คิดหาทางเลือกเอาไว้มั่งเลย ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “Demand” หรือ “ปริมาณความต้องการ” ต่อตัวพลังงานในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง ที่มันไม่เคยมีแนวโน้มว่าจะลดลงๆ เอาเลยแม้แต่น้อย มีแต่เพิ่มกับเพิ่ม แถมเพิ่มกันแบบพรวดๆพราดๆ ชนิดรั้งไม่หยุด-ฉุดไม่อยู่มาโดยตลอด อันทำให้สิ่งที่เรียกว่า “พลังสะอาด” ประเภทสายลม แสงแดด หรือพลังงานหมุนเวียนใดๆ ก็แล้วแต่ ที่พอจะช่วยให้ “โลกสวย” ไปตามความคิด ความเห็น รวมทั้งความจริงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ มันเลยมีไม่พอ หรือ “ไม่พอเพียง” กับความกระหาย ใคร่อยาก หรือกับบรรดา “กิเลส” ต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม อย่างเป็นระบบเป็นกิจการและเป็นกระบวนการ...

พูดง่ายๆ ว่า...การที่แต่ละประเทศ แต่ละสังคม ไม่เพียงแต่ไม่อาจควบคุม “ปริมาณความต้องการ” สิ่งต่างๆ ภายในประเทศตัวเอง สังคมตัวเอง ได้อย่างจริงๆ จังๆ แถมยังมุ่งมั่นที่จะ “กระตุ้น” หรือ “อัดฉีด” ให้บรรดาปริมาณความต้องการทั้งหลายเพิ่มมากๆ เข้าไว้ สูงๆ เข้าไว้ เพื่อที่จะช่วยให้ตัวเลข “อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ” หรือ “จีดีพี” ของแต่ละประเทศ ไม่ต้องเกิดอาการหัวตกได้โดยเด็ดขาด สิ่งเหล่านี้นี่เอง...ที่มันเลยทำให้เกิด “ข้อเท็จจริงที่เอ็งมิอาจปฏิเสธได้” หรือทำให้บรรดาพลังงานสกปรก พลังงานฟอสซิล จึงเป็นสิ่งที่ยัง “จำเป็น” เอามากๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เรียกๆ กันว่า “ระยะผ่าน” ดังที่ “นายAmin Nasser” แกพยายามชี้ให้เห็นนั่นเอง ว่าถ้าคิดจะปฏิเสธ หรือคิดไม่ให้ความสำคัญกับพลังงานชนิดนี้ยิ่งขึ้นไปเท่าใด โอกาสที่จะเกิด “ภาวะขาดแคลนพลังงาน” หรือโอกาสที่ราคาน้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน ฯลฯ จะพุ่งพรวดๆ พราดๆ ระเบิดเถิดเทิง ทะลุเพดาน ทะลุหลังคา จนนำมาซึ่งฉากสถานการณ์น่าเกลียด น่ากลัว เช่นภาวะที่ข้าว-ของทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งต้องอาศัยพลังงานเป็นองค์ประกอบในกระบวนการผลิต ขนส่ง จำหน่ายจ่ายแจกไปด้วยกันทั้งสิ้น ย่อมมีแต่ “แพงกับแพง” จนสามารถนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะความไม่สงบ ความปั่นป่วนรวนเร ความวุ่นวาย ในแต่ละบ้านแต่ละเมือง หรือในระดับทั่วทั้งโลกเอาง่ายๆ...

ด้วยเหตุนี้...เพียงแค่ความพยายามลด-ละ-เลิกการใช้พลังงานสกปรก พลังงานฟอสซิล จึงไม่ใช่หนทางเดียว หรือหนทางโดยตรง ที่จะทำให้ “โลกสวย” ได้อย่างที่คาด ที่หวัง เพราะมีแต่ต้องอาศัยการ “ลดปริมาณความต้องการ” ของบรรดาชาวโลกทั้งหลาย เป็นองค์ประกอบควบคู่ไปด้วยอย่างมิอาจปฏิเสธได้ ต้องหาทางลดการกินแหลก-ใช้แหลก ตามลักษณะอาการตามวาสนาและสันดานแบบ “วัตถุนิยม-บริโภคนิยม” อันเป็นแนวคิดพื้นฐานของชาวตะวันตก ที่แพร่สะพัดไปทั่วทั้งโลกนับร้อยๆ ปีที่แล้ว และส่งผลให้โลกทั้งโลกต้องหันเดินไปตามเส้นทาง “ทุนนิยม” ไปด้วยกันทั้งสิ้น หรือหนีไม่พ้นต้องหันมาหา “ความพอเพียง” ให้มากๆ เข้าไว้ ถึงจะเป็นสิ่งที่พอช่วยให้เกิด “จุดลงตัว” หรือ “จุดสมดุล” ขึ้นมาได้มั่ง ไม่ต่างอะไรไปจากการหันมาควบคุมตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง หรือการปรับวิถีชีวิตในแต่ละรูปแต่ละแบบ ในการรับมือกับเชื้อโควิดนั่นแล...

โดยอันที่จริง...นักคิดตะวันออกอย่างท่าน “มหาตมะ คานธี” ท่านก็เคยชี้แนะ ชี้นำ ถึงสิ่งเหล่านี้เอาไว้นานแล้ว เช่นคำพูดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่อง “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ที่ได้เน้นย้ำเอาไว้ว่า... “ความเจริญอย่างยุโรป ย่อมเหมาะสมสำหรับชาวยุโรปอย่างไม่เป็นปัญหา แต่มันอาจหมายถึงความหายนะต่อชาวตะวันออกอย่างอินเดีย ถ้าหากเราพยายามลอกเลียน โดยไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ยอมรับและดูดซึมสิ่งที่ดีที่เราสามารถดูดซึมได้ และมิได้หมายความว่าชาวยุโรปเองก็ไม่จำเป็นต้องขจัดความเลวร้ายต่างๆ ที่มีอยู่ในวิถีชีวิตของตน โดยเฉพาะความไม่หยุดยั้ง ไม่พอเพียงต่อการแสวงหาวัตถุมาตอบสนองความสะดวกสบายนั่นแหละ คือความเลวร้ายที่ว่า ข้าพเจ้ากล้าที่จะกล่าวว่าชาวยุโรปเองต้องเปลี่ยนท่าทีเสียใหม่ ถ้าไม่ต้องการที่จะย่อยยับด้วยบรรดาความสะดวกสบายที่ทำให้พวกเขาต้องตกเป็นทาสมัน การวิ่งตามหา...ขนแกะทองคำนั้น เป็นการวิ่งไปสู่ความหายนะอย่างแน่นอน เพราะแม้แต่นักปรัชญาตะวันตกบางราย ยังเคยกล่าวเป็นภาษิตไว้ว่า...ชีวิตควรเป็นไปด้วยความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายพร้อมกับจิตใจที่สูงส่งนั่นเอง” จริง-ไม่จริง เชื่อ-ไม่เชื่อ ก็ลองเก็บไปคิดเป็นการบ้าน เป็นอุทาหรณ์สอนใจ ในช่วงปิดท้ายสัปดาห์นี้ ก็แล้วกัน...


กำลังโหลดความคิดเห็น