“กรมประมง” พลิกโฉมสู่ยุค 4.0 แก้ระเบียบ-ประกาศ ลดขั้นตอนอำนวยความสะดวกให้ ปชช. “ถาวร” เผยปี 65 พร้อมขยายบริการ e-Service เดินหน้าพัฒนา Biz portal เต็มรูปแบบ 9 กระบวนงาน
วันนี้ (1 ธ.ค.64) ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในฐานะผู้นำการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Chief Change Officer : CCO) ได้ขับเคลื่อนกรมประมงเพื่อมุ่งสู่ระบบราชการ 4.0 ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ภาครัฐมีความน่าเชื่อถือเป็นที่ไว้งางใจ และเป็นที่พึ่งของประชาชน การปรับเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลเป็นเป้าหมายของระบบราชการ 4.0 กรมประมงจึงได้พัฒนาประสิทธิภาพการบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะงานการออกใบอนุญาต เพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในด้านบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐ ที่มุ่งเน้นให้มีความทันสมัย สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน
ในปี 2564 กรมประมงมีกระบวนงานบริการตามคู่มือประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 51 กระบวนงาน และขณะนี้ยังคงเดินหน้ายกระดับคุณภาพการบริการให้มีประสิทธิภาพด้วยการทบทวนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เพื่อภาระของผู้รับบริการ โดยมีประกาศ/ระเบียบที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขจำนวน 4 ฉบับ ตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้แก่ 1.ประกาศกรมประมง เรื่องหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติในการส่งออก หรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2561 2.ประกาศกรมประมง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาต และการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2560 3.ระเบียบกรมประมงว่าด้วยการขอรับใบรับรองสุขอนามัยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ พ.ศ. 2547 4.ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบอาหารสัตว์ พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ กรมประมงอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงระเบียบ ประกาศกรมประมงที่เป็นอุปสรรคการอนุญาต อีกจำนวน 7 ฉบับ
“ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กรมประมงได้มีมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยให้ขยายเวลาหรืออายุของทะเบียน หนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือหนังสือประกาศรับรอง อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิดฯ จำนวน 16 เรื่อง ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นต้องต่อใบอนุญาตได้มากกว่าครึ่ง เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับจำนวนที่ออกในปีที่ผ่านมา” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า กรมประมงยังมีนโยบายปรับรูปแบบการให้บริการสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคู่ไปกับการลดขั้นตอนการให้บริการ โดยได้พัฒนาระบบ e-Service มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 จะมีการเปิดเพิ่มระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต การออกใบรับรองเกี่ยวกับอาหารสัตว์น้ำ การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการประมง รวมทั้งสิ้น 10 กระบวนงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน
โดยในปี 2565 กรมประมงมีเป้าหมายจะยกระดับกระบวนงานบริการให้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ นับตั้งแต่การยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินผ่านช่องทาง e-payment และการออกใบอนุญาตโดยได้รับลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงาน ก.พ.ร ได้คัดเลือกกระบวนงานของกรมประมงจำนวน 9 กระบวนงานให้อยู่ในแผนดำเนินโครงการพัฒนาระบบการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) ได้แก่ 1.การออกใบอนุญาตให้ทำการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองที่เป็นสัตว์น้ำ (สป.9) 2.การออกใบอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ (สป.11) 3.ใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ (สป.15) 4.การขึ้นทะเบียนและต่ออายุเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) 5.การขึ้นทะเบียนและต่ออายุ ผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) 6.การออกใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ (อาหารสัตว์น้ำ) 7.การประกาศรับรองให้ออกหนังสือกำกับการจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ 8.การประกาศรับรองให้ออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ 9.มาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลาทะเล) ให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกกระบวนงานจะให้บริการยื่นคำขออนุญาตแบบบูรณาการ โดยใช้แบบฟอร์คำขออนุญาตแบบ Single Form และส่งหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เพียงชุดเดียวโดยไม่ต้องส่งเอกสารต้นฉบับ ระบบจะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลในการอนุญาตระหว่างหน่วยงานภาครัฐเป็นการบูรณาการใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร ได้คัดเลือกกระบวนงานของกรมประมงเพื่อเสนอของบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการจัดทำต้นแบบ (Prototype) การรับคำขอหรือให้บริการในรูปแบบดิจิทัลได้ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน (24/7) โดยกระบวนงานของกรมประมงที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนได้แก่ ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ประมง และงานขึ้นทะเบียนสถานประกอบการส่งออกสัตว์น้ำ
“กระบวนงานเหล่านี้จะขับเคลื่อนให้มีระบบที่เชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน เพื่อบูรณาการเพื่อบูรณาการข้อมูลร่วมกันข้อมูลร่วมกัน นับเป็นการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ช่วยให้ประชาชนและผู้รับบริการทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย หลากหลายช่องทาง สะดวก รวดเร็ว ทั้งยังสามารถตรวจสอบได้ สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ยกระดับการให้บริการไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้ในอนาคต” รองอธิบดีกรมประมง กล่าว.