xs
xsm
sm
md
lg

การประชุม COP26 กับการยกกระดับวิถีชีวิตใหม่ที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน : การลงมือปฎิบัติที่เป็นจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: รศ.ดร ชูเกียรติ ชัยบุญศรี, ปพณสรร เอกพันธ์ และ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

รศ. ดร. ชูเกียรติ ชัยบุญศรี
หัวหน้าศูนย์ วิจัยเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณร่วมสมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
Website: https://mqerc.econ.cmu.ac.th/index.php
ปพณสรร เอกพันธ์
นักวิจัย ประจำศูนย์ วิจัยเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณร่วมสมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Website: https://mqerc.econ.cmu.ac.th/index.php
และ
ศ. ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Email: pongpiajun@gmail.com


จากการประชุม COP26 หรือ “การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26” ซึ่งมีการจัดขึ้นในทุก ๆ ปี ชี้ให้เห็นถึงการหาข้อตกลงในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งในแต่ละประเทศก็มีเป้าหมายของตัวเองในการจะช่วยไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปจากเดิม ซึ่งจากข้อสรุปการประชุม COP 26 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ามีหลายประเด็นที่บ่งชี้ถึงวิธีการดำเนินชีวิตของประชากรโลก และสังคม ที่ต้องมีการยกระดับขึ้น การประชุม COP 26 ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงข้อตกลงสัญญาต่างๆที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change มีข้อสรุปหลายอย่าง ยกตัวอย่าง เช่น การประกาศเป้าหมาย NetZero ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศทั่วโลก ให้คำมั่นในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อที่จะสร้างความสมดุลของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาและต้องมีการกำจัดก๊าซเหล่านี้ออกจากชั้นบรรยากาศ

จากการประชุมดังกล่าวมีหลายประเทศที่ให้คำมั่นจะบรรลุในปี 2050 โดยหนึ่งในนั้นคือ ประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นอันดับสามของโลก โดยประเทศอินเดีย ได้ประกาศปีที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2070 และยังมีการพูดถึงข้อตกลงเกี่ยวกับการยุติการตัดไม้ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศ ร่วมลงนามเห็นชอบที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 โดยเมื่อรวมจำนวนผืนป่าของทั้ง 141 ประเทศแล้วคิดเป็นราว 85 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าทั่วโลก ข้อตกลงดังกล่าวนี้จะเป็นประโยชน์ที่จะรักษาและฟื้นฟูป่า เพราะพื้นที่ป่าเมื่อมีมากขึ้นแล้ว จะนำไปสู่ผลดีที่จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แต่ประเทศไทยไม่ได้มีการลงนามในข้อตกลงนี้ มากกว่านั้นมากกว่า 105 ประเทศเข้าร่วมความตกลง “Global Methane Pledge” โดยมีประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นแกนนำหลักที่สำคัญ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือลดการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลกอย่างน้อยร้อยละ 30 จากปริมาณที่ถูกปล่อยในปี 2020 ให้ได้ภายในปี 2030 โดยประเทศที่ปล่อยก๊าซมีเทนเป็นอันดับต้น ๆ อย่างประเทศจีน รัสเซีย อินเดีย รวมถึงประเทศไทยไม่ได้ร่วมลงนามในครั้งนี้ด้วย และสัญญาที่สำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือสัญญาข้อตกลงยุติการใช้พลังงานถ่านหิน โดยมีผู้นำมากกว่า 40 ประเทศได้ร่วมตกลงยุติการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งมีหลายธนาคารของประเทศรายใหญ่จะหยุดการจัดหาเงินทุนสาธารณะระหว่างประเทศสำหรับสนับสนุนพลังงานถ่านหินใหม่ภายในสิ้นปี 2564 โดยที่ยังมีหลายประเทศหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานยังไม่ได้เข้าร่วมสัญญาข้อตกลงนี้ รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่างจีนที่มีปริมาณการใช้ถ่านหินกว่า 54% ในปีที่แล้ว และรวมไปถึงประเทศไทย ที่ยังไม่ร่วมในข้อตกลงของการยุติการใช้พลังงานถ่านหิน

รูปภาพที่ 1:  สรุปข้อตกลงจากการประชุม COP26 ในแต่ละประเทศ
ข้อตกลงสัญญาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องมีการพึ่งพาการใช้พลังงานเป็นหลัก ซึ่งหลายประเทศยังไม่ได้ตระหนักและเห็นด้วยกับหลายข้อตกลงและคำมั่นสัญญาต่างๆ ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่จะไม่อยากเสียผลประโยชน์ต่าง ๆ หากตกลงในคำมั่นสัญญา แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ในหลายประเทศมีการให้คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องมาดูที่แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ของแต่ละประเทศว่าจะมีแผนอย่างไรที่จะบรรลุความสำเร็จตามคำมั่นสัญญาของตน

จากการประชุม COP26 ทำให้เราได้ตระหนักมากขึ้นถึงเรื่องการยกระดับวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยต้องมีทัศนคติใหม่ในการดำเนินชีวิตถึงการตระหนักมากขึ้นในเรื่องสิ่งแวดล้อม การที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขาดไม่ได้เลยคือประชาชนทุกคน ในประเทศต้องมีส่วนร่วม และภาครัฐต้องเข้ามาส่งเสริมพร้อมสนับสนุน ร่วมถึงภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องเข้ามาขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมาย จากการประชุมดังกล่าว สะท้อนและบ่งชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่จะต้องยกระดับในชีวิตของเรา ขาดไม่ได้เลยคือ การเปลี่ยนไปใช้พลังงานสีเขียว จากข้อตกลงคำมั่นสัญญามีหลายประเทศที่มีการยกเลิกการใช้ถ่านหิน และการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของพลังงานสะอาด ที่เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรม
สำหรับการประยุกต์ใช้กับชีวิตของเราอย่างง่ายคือ Back to Basic ซึ่งอาจจะทำโดย การปลูกต้นไม้ภายในบ้าน หรืออาจจะปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด แทนที่จะใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อชั้นบรรยากาศ และการเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้นจะช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการฟื้นฟูธรรมชาติมากขึ้น โดยมีแนวทางปฏิบัติที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตของเราอย่างง่าย ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เช่น

1. ช่วยกันปลูกต้นไม้ อย่างน้อยปีละ 1 ต้น สำหรับทุกบ้าน โดยต้นไม้ 1 ต้น จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ 1 ตันตลอดอายุของต้นไม้ ซึ่งเป็นสิ่งดีที่ทุกบ้านควรช่วยกัน แถมยังเป็นร่มเงาให้บ้าน ซึ่งช่วยลดความร้อนในตัวบ้าน ทำให้สามารถลดความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. มีการแยกขยะภายในบ้าน เพื่อง่ายในการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน โดยการแยกขยะสำคัญมาก เช่นเศษอาหารต่างๆ หรือขยะอินทรีย์ ไม่ควรจะนำมารวมใส่ถุงรวม เนื่องจากถ้าเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ต่างๆ เข้าไปรวมในขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ จะส่งผลให้ขยะชิ้นนั้นไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ เนื่องจากมีการปนเปื้อน
3. ใช้จักรยาน แทน มอเตอร์ไซด์ เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ใกล้ๆ เป็นพื้นฐานที่เราต้องยกระดับขึ้น ซึ่งมีผลดีหลายอย่างเช่น ประหยัดค่าน้ำมัน และช่วยลดปัญหาของการปล่อยก๊าชเรือนกระจก และยังส่งผลดีต่อสุขภาพ
4. ใช้ถุงผ้า ไปซื้อของตามตลาด หรือร้านสะดวกซื้อ โดยเป็นการลดการใช้พลาสติกที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากพลาสติกใช้พลังงานผลิตสูงและย่อยสลายนาน
5. ปิดไฟทุกครั้ง และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกอย่าง เมื่อไม่ได้ใช้ จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ถึง 1 พันปอนด์ต่อปี
6. ลดการใช้ครั้งเดียว แล้วทิ้ง เช่นวัสดุที่เป็นพลาสติก ถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก สามารถนำกลับมา Reuse ได้ ก่อนจะทิ้งควรคิดอยู่เสมอว่า สามารถใช้ซ้ำได้ไหม ถ้าใช้ได้ไม่ควรทิ้ง
7. ปิดน้ำ เมื่อไม่ได้ใช้ เช่นเมื่อล้างจาน ไม่ควรเปิดน้ำทิ้งไว้ในตอนที่ทำความสะอาด เมื่อทำความสะอาดเสร็จค่อยเปิดน้ำล้างฟองสบู่ออก
8. พยายามรับประทานอาหารให้หมด กินแต่พอตัว เนื่องจากเศษอาหารก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็น Green house gas (GHG) ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
9. ใช้กระดาษให้ครบ 2 หน้า เนื่องจากกระบวนการผลิตกระดาษแทบทุกขั้นตอนใช้พลังงานสูง
10. ตั้งเป้าหมายในการผลิตขยะของตัวเอง เพื่อช่วยประหยัดทรัพยากรและลดก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งถ้าขยะมีปริมาณที่น้อยลงจะส่งผลให้กระบวนการกำจัดทำงานไม่หนัก และเป็นการลดพลังงานในการกำจัดลงได้อีกมาก

นี่คือแนวทางปฏิบัติอย่างง่าย ที่วิถีการดำเนินชีวิตของเราต้องมีการยกระดับมากขึ้นในทุกอิริยาบถในชีวิตของเรา ซึ่งทุกการกระทำส่งผลถึงอนาคต จะดีขึ้นหรือจะแย่ลง ขึ้นอยู่กับตัวเรา ถ้าเราทุกคนปฏิบัติและมีส่วนร่วมในการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมก็จะสามารถเป็นหนึ่งแรงที่ช่วยในการขับเคลื่อนในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยจากข้อตกลงมีหลายประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องของยุติการตัดไม้ และหันมาฟื้นฟูธรรมชาติมากขึ้นและ เพิ่มพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีแน่นอนถ้าธรรมชาติดีขึ้น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจะมีมากขึ้นตามมา ซึ่งส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมที่จะได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วย จากวิถีชีวิตที่ต้องมีการยกระดับ จะขาดไม่ได้เลยคือทัศนคติ มุมมอง การที่จะพัฒนาไปอย่างยั่งยืนได้ต้องมีทัศนคติที่ถูกต้องก่อน ดังนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การผลิต หรือทุกการกระทำต่าง ๆ ล้วนมีผลกระทบต่อโลก สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ในเชิงบวกและลบ ซึ่งเราสามารถเลือกได้ ว่าเมื่อเรามีการบริโภคโดยไม่สนใจ และไม่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะเกิดผลกระทบเชิงลบตามมาอีกมากมาย และสุดท้ายก็กลับเข้ามาส่งผลกระทบต่อมนุษย์ หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรโดยไม่ใส่ใจ หวังเพียงกำไร หรือรายได้ต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรเริ่มหมดไป เช่นป่าไม้ ไม่เพียงส่งผลต่อแค่โรงงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ส่งผลกระทบต่อคนทั้งโลก ดังนั้นขอให้เราที่จะมีทัศนคติอย่างถูกต้อง ตระหนักรู้ถึงผลกระทบเมื่อเราใช้ทรัพยากรอย่างไม่เกิดประโยชน์สูงสุด จะเกิดปัญหาอีกมากมายตามมา การเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน คงไว้ถึงประโยชน์แก่คนรุ่นหลังที่กำลังเติบโตขึ้นมา วันนี้นโยบายต่างๆ หรือข้อตกลงสัญญาต่างๆ จะสามารถขับเคลื่อนและก้าวไปได้ ขึ้นอยู่กับตัวเราและประชากรทุกคน ที่จะมีส่วนร่วมในการที่จะช่วยกันรักษาไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงไปมากกว่า 1.5 องศา ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เพื่อทุกชีวิตจะสามารถดำรงอยู่ได้

รูปภาพที่ 2 : การประชุม COP26
Reference :
- COP26: How might decisions at the climate summit change our lives? - BBC News
- COP26 แก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ส่งผล 6 นัยยะทางเศรษฐกิจ (mgronline.com)
- COP26 Goals - UN Climate Change Conference (COP26) at the SEC – Glasgow 2021 (ukcop26.org)
- Infographic: What has your country pledged at COP26? | Infographic News | Al Jazeera
- https://www.facebook.com/environman.th/?ref=page_internal



กำลังโหลดความคิดเห็น