xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทยจะกลับมาระบาดหนักอีกหรือไม่? มองผ่าน “ฤดูกาล”ทางการแพทย์แผนไทย กับ “ดวงดาว” ทางโหราศาสตร์ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


การพิเคราะห์โรคระบาด หรือ “โรคห่า” ผ่านการแพทย์แผนไทยนั้นไม่ได้วิเคราะห์แต่เพียงพระคัมภีร์ตักกะศิลาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ซึ่งว่าด้วยเรื่องของการรับมือกับโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังต้องวิเคราะห์ “การดำเนินไป”ของโรค โดยอาศัยพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย โดยกล่าวถึงทฤษฎีการแพทย์แผนไทยว่าการเจ็บป่วยเกิดจากสาเหตุ ๖ ประการ คือมูลเหตุธาตุทั้งสี่ (ธาตุสมุฏฐาน), อิทธิพลของฤดูกาล(ฤดูสมุฏฐาน), อายุที่เปลี่ยนไปตามวัย (อายุสมุฏฐาน), ถิ่นที่อยู่อาศัย, อิทธิพลของกาลเวลาและสุริยจักรวาล, พฤติกรรมเป็นมูลเหตุที่ก่อโรค

โดยในภาพรวมของสาเหตุแห่งการเกิดโรค การแพทย์แผนไทยเชื่อว่าธรรมชาติเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติหากมนุษย์ละเมิดกฎธรรมชาติ ก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อันมีพื้นฐานมาจากความไม่ปกติของธาตุทั้งสี่ คือ ปถวีธาตุ (ดิน) อาโปธาตุ (น้ำ) เตโชธาตุ (ไฟ) และวาโยธาตุ (ลม) [๑]

และด้วยเพราะการแพทย์แผนไทยได้สืบทอดองค์ความรู้และอิทธิพลจากพุทธศาสนา โดยพุทธธรรมมองเห็นสิ่งทั้งหลายในรูปของกระแสที่ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆอันสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน หรือมาประชุมกันเข้าตัวตนแท้ๆ ของสิ่งทั้งหลายไม่มี แต่อยู่ในรูปของเบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ ๕(รูป , เวทนา, สัญญา, สังขาร และวิญญาณ)

โดยขันธ์ ๕ นี้ ย่อลงมาเป็น ๒ คือ นามและรูป โดยรูปขันธ์จัดเป็นฝ่ายรูป ส่วนอีก ๔ ขันธ์ที่เหลือเป็นฝ่ายนาม ในพระไตรปิฎกในส่วนของ“มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก” มีคำอธิบายถึงรูปขันธ์และลักษณะของธาตุหลักทั้ง ๔ ไว้ดังนี้
“ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปทานขันธ์ คือ รูปเป็นไฉน คือ มหาภูตรูป๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มหาภูติรูป ๔เป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ”[๒]

แต่ความผูกพันกับการดำเนินของโรคทั้งหลายดังที่กล่าวแล้ว ยังต้องพิจารณาบูรณาการวิธีพิเศษกับการเคลื่อนตัวของโลกกับดวงอาทิตย์ ที่โลกมองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนไปในแต่ละองศาในแต่ละเดือนทั้ง ๑๒ราศี ตามจักราศีอีกด้วย ความตอนหนึ่งในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยความว่า :

“พระอาจารย์เจ้าท่านยกออกมา สาธกลงไว้ในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยนี้โดยสังเขปแต่ละน้อย เพื่อจะสงเคราะห์แก่แพทย์ให้แจ้ง จะได้ตรึกตรองสอบสวนตามอนุมาณปัญญาอันปรีชา ให้เห็นในห้องจักราษีแลห้องสมุฏฐานทั้งหลายโดยแท้ แล้วจึงจะเห็นในกองโรคพิบัติที่จะแปรปรวนนั้นแม่นยำ จะได้ประกอบซึ่งโอสถที่จะบำบัดพยาธิโรคให้ต้องในมหาพิกัดสมุฏฐานทั้งปวง แลอันสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ ธาตุ, ฤดู, อายุ, กาล, สมุฏฐานซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น จะยกเอาแต่สมุฏฐานใดสมุฏฐานหนึ่ง ซึ่งเปนประมาณยังบมิได้ ด้วยเปนที่อาไศรยซึ่งกันแลกัน”[๓]

แต่สิ่งที่จะช่วยยืนยันว่าการแพทย์แผนไทยนั้นได้มีการพิจารณาอิทธิพลของดวงอาทิตย์ที่มีต่อธาตุประจำในแต่ละราศีในทางโหราศาสตร์ซึ่งเป็น สมุฏฐานวิธีโดยพิเศษ ความว่า

“อนึ่งท่านกล่าวไว้ในสมุฏฐานทั้ง ๔ ประการ แต่หนหลัง ซึ่ง กำเริบหย่อน พิการ นั้นยังไป่บมิได้แจ้ง พระอาจารีย์เจ้าจึงสำแดงในสมุฏฐานวิธีโดยพิเศษ ตามสุริยคติดำเนินในห้องจักราษีเปนกำหนดดังนี้

๑ อันว่าพระอาทิตย์สถิตย์ในราษี เมษ, สิงห์, ธนู, เปนราษีเตโช (ไฟ)

๒ พระอาทิตย์สถิตย์ในราษี พฤศภ, กันย์, มังกร, เปนราษีปถวี (ดิน)

๓ พระอาทิตย์สถิตย์ในราษีเมถุน, ตุล, กุมภ์, เปนราษีวาโย (ลม)

๔ พระอาทิตย์สถิตย์ในราษ์ กรกฎ, พิจิกร, มิน เปนราษีอาโป (น้ำ)”[๓]

สำหรับโรคโควิด-19 นั้น เป็นที่ชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อนั้นสามารถหายป่วยเองได้ แม้ก่อนที่จะมีวัคซีนหรือยารักษาโรคนี้ ก็จะปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประมาณร้อยละ ๘๐ เป็นผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ส่วนอีกประมาณร้อยละ ๑๕ จะมีอาการน้อยถึงปานกลาง และอีกประมาณร้อยละ ๕ จะมีอาการหนัก โดยสำหรับประเทศไทยจะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณเพียงร้อยละ ๑ ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก

และเมื่อจำแนกของผู้ที่เสียชีวิตร้อยละ ๑ ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดสามารถแบ่งเป็นผู้สูงวัยร้อยละ ๐.๗ ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด และผู้ป่วยใน ๗โรคอีกร้อยละ ๐.๑ ( ๗ โรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง,โรคเบาหวาน)

โดยในการแพทย์แผนไทยและอายุรเวทอินเดีย ได้แบ่ง “ระบบ”ของร่างกายที่ทำงานด้วยธาตุออกเป็นสามระบบตรงกัน กล่าวคือ

๑ วาตะ คือ ระบบการเคลื่อนไหว อันมีธาตุลมเป็นหลัก

๒ ปิตตะ คือระบบความร้อน อันมีธาตุไฟเป็นหลัก

๓ เสมหะ คือระบบของเหลว อันมีธาตุดินและธาตุน้ำเป็นหลัก

ดังนั้นหากพิจารณาจากผู้สูงวัยก็ดี รวมถึงกลุ่ม ๗ โรคเรื้อรังทั้งหลายที่เกี่ยวกับภาวะการอักเสบของ “หลอดเลือด” ก็ดี สัญญาณภาวะกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ผ่านการแพทย์แผนไทยว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 มักมีปัญหากับ “ระบบการเคลื่อนไหว” ทั้งหมดในร่างกาย โดยการแพทย์แผนไทยที่เรียกพิกัดนี้ว่า “วาตะ” (ลม) ซึ่งย่อมหมายถึงความผิดปกติของ “ธาตุลม” ร่วมอยู่ด้วย ดังปรากฎในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย ความตอนหนึ่งว่า

“บุคคลใดมีอายุล่วงพ้น ๓๐ ปีขึ้นไป ตราบเท่าอายุไขยเป็นกำหนด ถ้าจะเปนโทษสมุฏฐานอันใดก็ดี วาตะเป็นเจ้าสมุฏฐานย่อมเจือไปในกองสมุฏฐานทั้งปวง ถ้าจะให้โทษก็มีกำลังกว่าสมุฏฐานทั้งหลาย”[๔]

สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนี้ นอกจากจะมีโรคเกี่ยวกับธาตุลมพิการ (สมุฏฐานวาโย) นั้นยังมีอาโป (ธาตุน้ำ)แทรกด้วย จึงใช้ยารสขม รสร้อน รสเค็มรสฝาด และรสหอมเย็น[๕]

ทั้งนี้ “เลือดและลม” ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยมีความสำคัญมากและถือว่าเกี่ยวเนื่องกัน ทฤษฎีนี้เชื่อว่าชีวิตจะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยเลือดและลมเป็นประการสำคัญ ความหมายของเลือดและลมจึงกว้างขวางและมีบทบาทในการวินิจฉัยโรคตามทฤษฎีของการแพทย์แผนไทยโดยมีพระคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่งที่เกี่ยวกับเลือดลมโดยเฉพาะคือพระคัมภีร์ชวดาร ส่วนโรคเรื้อรังอันเนื่องมาจากธาตุลมด้วยเพราะป่วยมานานหรือโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมของผู้สูงวัยก็มีพระคัมภีร์สำคัญชื่อพระคัมภีร์ไกษยเช่นกัน

นั่นหมายความว่าหากประยุกต์โดยอาศัยตำรับยาไทยทั้งหลายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงความรุนแรงของผู้สูงวัยและกลุ่มผู้ป่วย ๗ โรคเรื้อรังตั้งแต่ “ก่อนติดเชื้อโควิด-19” และทำการวิจัยติดตามผลอย่างต่อเนื่องย่อมจะเกิดคุณอนันต์ต่อประเทศ หากประสบความสำเร็จย่อมจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้มากขึ้น พร้อมๆไปกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในเรื่องสมุนไพรได้เช่นกัน

สำหรับโรคโควิด-19 นั้น ได้ถูกวิเคราะห์ผ่านโหราศาสตร์ไทยว่าเป็นอิทธิพลของดาวมฤตยูที่โคจรมากุมดวงโลกและประเทศไทยในรอบ ๘๔ปี ณ ราศีเมษ ตั้งแต่วัน ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ มีกำหนดระยะเวลานานถึง ๗ ปีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญระดับโลกและในระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งเรื่องการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมแล้ว ยังได้รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ไปทั้งโลกด้วย

ดาวราหู (8) นั้นเป็น “ธาตุลม” เมื่อโคจรจรมาอยู่ที่ราศีพฤษภ (ธาตุดิน)ในเรือนกดุมภะตั้งแต่วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๓ โดยความหมายของราศีพฤษภในภพที่สองจากดวงเมืองนี้ยังมีความหมายถึงอวัยวะ“คอ”ของมนุษย์ได้ด้วย

ส่วนดาวอังคาร (๓) ซึ่งเป็นดาวเจ้าเรือนของราศีเมษซึ่งเป็นดาวประจำที่อาศัยของลัคนาดวงเมืองและดวงโลก และยังเป็นดาวเจ้าเรือนของราศีพิจิกในภพมรณะแก่ดวงเมืองอันย่อมหมายถึงความเจ็บป่วยด้วย

ซึ่งตามพื้นดวงเมืองเดิมนั้นดาวอังคาร (๓) อยู่ในราศีพฤษภ โดยดาวอังคาร (๓) นี้เองก็เป็นธาตุลมเช่นเดียวกันกับราหู เมื่อดาวราหูจรมาบรรจบกับดาวอังคารเดิมของพื้นเมืองเดิม จึงย่อมเป็นคู่ธาตุลมที่ถูกกำหนดให้ไม่สามารถจะหลบเลี่ยงในเรื่องความเจ็บป่วยได้

ในดวงเมือง ยังมีดาวพระเกตุ (๙) ซึ่งอยู่ในราศีพฤษภคู่กับดาวอังคาร(๓) เช่นกัน เมื่อดาวราหู (8)โคจรมาถึงราศีพฤษภ จึงเหมือนประกอบร่างความสมบูรณ์กันอีกครั้งระหว่างดาวพระเกตุกับราหู (พระราหูเป็นส่วนหัวและพระเกตุเป็นลำตัว)ตามคติฮินดู แต่ดาวพระเกตุยังหมายถึงยาแผนโบราณหรือชาวต่างชาติได้ด้วย หากหลงทางฐานะการคลังจะถูกปล้นเป็นทาสเศรษฐกิจของชาติ หากแก้ไขถูกทางจะเปลี่ยนวิกฤติกลายเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ

ครั้นเมื่อดาวราหู (8) โคจรมาถึงราศีพฤษภจึงส่งสัญญาณว่าการระบาดในปี ๒๕๖๔ จึงย่อมรุนแรงกว่าการระบาดระลอกปี ๒๕๖๓ เมื่อองค์ประกอบสุขงอมจากปัจจัยเสริมจากดาวอื่นๆ มาครบองค์ประกอบ

ต่อมาดาวเสาร์ (7) ซึ่งเป็นดาวบาปพระเคราะห์ได้โคจรย้ายมาถึงราศีมังกรตรีโกณถึงราศีพฤศภที่ราหู (8) โดยได้โคจรมาที่ราศีพฤษภ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2563 อีกทั้งดาวเสาร์นี้ยังเป็นมิตรกับดาวราหูเสริมทัพกันด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ถึงสถานการณ์เลวร้ายด้วยเพราะยังมีดาวพฤหัสบดีจร (5) ซึ่งย้ายมาดักล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน๒๕๖๓ ที่ราศีมังกรเช่นกัน ทำให้ดาวพฤหัส (5) ได้ควบคุมดาวเสาร์(7)เอาไว้ และตรีโกณตรึงดาวพระราหู (8)ซึ่งโคจรในราศีพฤศภ ทำให้โรคระบาดยังทำงานได้ไม่สะดวกเต็มที่

ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2564 ดาวพฤหัสบดี(5) ได้โคจรย้ายออกจากราศีมังกรไปสู่ราศีกุมภ์ ทำให้ดาวเสาร์ (7) ในราศีมังกรปราศจากดาวพฤหัสบดี (5) มาคุมแล้ว จึงได้ทำตรีโกณองศาเป็นมิตรกับราหู (8) ที่ยังจรอยู่ที่ราศีพฤษภ ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงเวลาหลังจากนั้นทำให้สถานการณ์โรคโควิด-19 เริ่มเลวร้ายลง ทั้งการตัดสินใจของผู้นำประเทศและการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ทั้งนี้การดำเนินไปของโรคที่ทวีความรุนแรงๆ ขึ้นเรื่อยๆ ตามปัจจัยเสริมของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวอังคารและฤดูฝน ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๖๔

หลังจากนั้นดาวพฤหัสบดี (5) ได้โคจรเดินถอยหลังกลับมายังราศีมังกรอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ จนถึงวันที่ ๘ พฤศจิกายน๒๕๖๔ ทำให้สถานการณ์การระบาดของโรคคลี่คลายลง ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทยอยลดลง ผู้เสียชีวิตน้อยลง

แต่ในที่สุดช่วงเวลาของดาวพฤหัสบดี (5) ที่มาคุมที่ราศีมังกรได้ยุติลงอีกครั้ง เพราะดาวพฤหัสบดี (5) ได้เดินหน้าไปที่ราศีกุมภ์อีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่ความเสี่ยงต่อการกลับมาระบาดอีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไปเพราะสถานภาพคล้ายคลึงกับช่วงเวลาการระบาดตั้งแต่วันที่ ๓เมษายน ๒๕๖๔-๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ อีกครั้งหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตามโรคโควิด-19 นี้แม้จะเป็น “โรคห่า” ตามพระคัมภีร์ตักกะศิลาที่ทำร้ายทำลายผู้สูงวัยที่มีความผิดปกติของธาตุลมแล้ว แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อโรคที่มีพิกัดธาตุน้ำด้วย (อาโปธาตุ) ดังปรากฏในพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย ว่าด้วยเรื่องโรคในพิกัดธาตุน้ำทั้ง ๑๒ ประการ(ทวาทะศะอาโป) นั้น ก็ย่อมต้องอาศัยสอเสมหะ (เสมหะที่คอ), อุระเสมหะ (เสมหะที่ปอด) และคูธเสมหะ (เสมหะในอุจจาระ)ด้วยความว่า

“อันว่าสมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดนั้น เปนที่ตั้งแห่งทวาทะศะอาโป ซึ่งจะวิปริตเปนชาติจะละนะภินนะ ก็อาไศรยแห่ง สอเสมหะ, แลอุระเสมหะ, คูธเสมหะ, ทั้ง ๓ เปนอาทิ ให้เปนเหตุในกองอาโปธาตุพิกัดสมุฏฐานกองหนึ่ง”[๖]
เพื่อความสะดวกผู้เขียนจึงระบุวันที่ในปฏิทินปัจจุบันในวงเล็บเข้าไปด้วยเพื่อความสะดวกในการพิจารณาตามพระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัยความว่า

อนึ่ง ตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเดือน ๑๒ (วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๔) ไปจนถึงเพ็ญเดือนยี่ (วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๕) ฤดูหนึ่งเปนพิกัดเหมันตสมุฏฐาน ด้วยว่าน้ำค้างตกลงเปนพิกัดแห่งเสมหะสมุฏฐาน [๗]

อย่างไรก็ตามฤดูสมุฏฐานนั้น ในการแพทย์แผนไทยได้ยึดตามจันทรคติคือนับฤดูกาลจากพระจันทร์ ดังกำหนดฤดูหนาว โดยแบ่งเป็น ๓ ช่วงช่วงต้น ช่วงกลาง แลช่วงปลาย ซึ่งมีผลต่อสุขภาพไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่จะเกิดโรคเสมหะนั้น จะไม่สามารถมองข้ามปัจจัยในเรื่องฤดูกาลได้ โดยเฉพาะโรคเสมหะที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจนั้นปัจจัยฤดูหนาวถือได้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางเสมหะกำเริบได้อีกครั้ง ดังเช่นปรากฏในพระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ เมื่อมีการการแบ่งฤดูกาลอย่างละเอียดออกเป็น ๖ ฤดู ความว่า


“เดือนอ้ายแลเดือนยี่ สองเดือนนี้เหมันต์ขาน อาโปย่อมมันหวาน ปถวีแซกทำเข็ญ ผิไข้เพื่อเสมหะ กำเดาเลือดเจือปนเปน โทษมากหากให้เห็น ยิ่งกว่าสิ่งสิ้นทั้งปวง ให้เจ็บซึ่งสันหลัง แลบั้นเอวเปนใหญ่หลวง ดังจะลุ่ยจะหลุดร่วง ทั้งต้นคอสลักขึง ประดุจตรีโทษ ในเนื้อมือมัจจุรึง ผู้แพทย์เร่งคำนึง แต่งยาให้ได้โดยควร บอระเพ็ดทั้งแห้วหมู นมตำเรียเร่งประมวน หญ้าตีนนกรีบโดยด่วน มะกรูดขิงเร่งปรุงหา ผึ่งแดดกระทำผง บดด้วยน้ำเปลือกเพกา มะแว้งเครือกระสายยา กินดับโรคในเหมันต์”[๘]

สำหรับเดือนอ้ายและเดือนยี่ตามข้อความที่ปรากฏข้างต้นนั้นตรงกับช่วงเวลาแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑ ถึง ๑๕ ค่ำเดือน ๓ ซึ่งก็ตรงกับช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕


อย่างไรก็ตามอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือการเคลื่อนตัวของดาวอื่นๆ ที่กำลังเคลื่อนตัวไปสู่ภพมรณะ (ความเจ็บป่วย) นับตั้งแต่ดาวพฤหัสย้ายออกจากราศีมังกรแล้ว จำต้องจับตาช่วงเวลาที่ดาวอาทิตย์(1) และอังคาร (3) มาโคจรมาที่ราศีพิจิกภพมรณะของดวงเมืองตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ ซึ่งดาวอังคาร(3)นอกจากจะเล็งกับดาวราหู(8)ที่ราศีพฤษภ เป็นคู่ธาตุลมที่เสริมฤทธิ์กันจนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ซึ่งแปลว่าโรคระบาดยังไม่จบและมีความเสี่ยงจะกลับมาอีกครั้งสอดคล้องกับปัจจัยทั้งฤดูกาลและโหราศาสตร์ รวมถึงสัญญาณยุโรปที่ฤดูหนาวมาก่อนประเทศไทยกำลังเกิดการระบาดหนักในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ สถานการณ์กำลังเดินไปพร้อมกับการเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติ

ยังดีดาวราหู (8) ที่ซึ่งเป็นคู่มิตรกับดาวเสาร์ (7) ในช่วงของการระบาดหนักในประเทศไทยตลอดเวลาที่ผ่านมา กำลังจะต้องแยกย้ายจากกันอีกครั้งในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔ แต่คราวนี้ดาวราหู (8) และดาวพระเกตุ(9) กำลังเข้าสู่ราศีเมษกุมทั้งดวงโลก และลัคนาดวงเมืองประเทศไทยพร้อมกับดาวมฤตยู ซึ่งจะส่งผลต่อไปอย่างไรนั้น จะทำการวิเคราะห์ในโอกาสอันควรต่อไป

แต่สิ่งที่ส่งสัญญาณเตือนกันตอนนี้คือ แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น แต่ก็อย่าได้ประมาท และเตรียมความพร้อมในปลายปีนี้ ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารผักผลไม้ให้มาก ออกกำลังกายให้เพียงพอ งดหรือลดอาหารหวานทั้งหลาย พร้อมทั้งสะสมฟ้าทะลายโจรและตำรับยาไทยพร้อมรับมือกับโรคระบาดระลอกฤดูหนาวนี้ต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัยมหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[๑] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ, พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3 หน้า๔๒๐

[๒] วิชัย โชควิวัฒน์, สุรวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, ประพจน์ เภตรากาศ บรรณาธิการมสำนักวิชาการ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข รายงานการสาธารณสุขไทยด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก, พิมพ์ที่สำนักงานกิจกรรมโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก, พิมพ์ครั้งที่๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ จำนวน ๔๐๐ เล่ม, ISBN 978-616-11-0404-7, หน้า๗

[๓] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ, พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3, หน้า๔๔๓-๔๔๔

[๔] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๓๖

[๕] โรงเรียนอายุรเวท (ชีวกโกมารภัจจ์), ตำราเภสัชกรรมไทย, พิมพ์ครั้งที่ ๒, โดยมูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์แผนไทยเดิม, ๒๕๕๙ หน้า

[๖] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ, พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม ISBN 978-974-01-9742-3, หน้า๔๒๖

[๗] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ :ภูมิปัญญาการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, พระคัมภีร์สมุฏฐานวินิจฉัย, องค์การการค้าของสกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2554 จำนวน 3,000 เล่มISBN 978-947-01-9742-3, หน้า 433

[๘] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายากแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ :ภูมิปัญญาการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์, องค์การการค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ 4, พ.ศ. 2554 จำนวน 3,000 เล่ม ISBN 978-947-01-9742-3, หน้า 612


กำลังโหลดความคิดเห็น