“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! พราหมณ์ คฤหบดีที่อุปัฏฐากท่านทั้งหลาย ด้วยจีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย และยากับเครื่องใช้ในการรักษาโรค นับเป็นผู้มีอุปการะมาก แม้ท่านทั้งหลายที่แสดงธรรมอันดีงามในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด พร้อมอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์แก่พราหมณ์ คฤหบดีเหล่านั้น ก็นับว่ามีอุปการะมาก นี้แหละภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์ที่ประพฤติโดยอาศัยกันและกัน เพื่อถอนกิเลสอันเปรียบเหมือนห้วงน้ำ เพื่อทำให้ทุกข์สิ้นไปโดยชอบ” นี่คือพุทธพจน์ ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ 25 อิติวุตตกะ
โดยนัยแห่งพุทธข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับแนวทางในการปฏิบัติต่อกันระหว่างภิกษุกับคฤหัสถ์ในลักษณะต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน ด้วยคำสอนซึ่งอาจสรุปด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า ชาวบ้านคฤหัสถ์ถวายปัจจัยไทยทานแด่พระสงฆ์ และพระสงฆ์ตอบแทนด้วยการแสดงธรรมเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติไปสู่การหลุดพ้น โดยการลด ละ กิเลส ถ้ายึดตามนัยแห่งพุทธพจน์ข้อนี้ พระภิกษุที่ตอบแทนคฤหัสถ์ด้วยวิธีอื่นเช่น การช่วยทำกิจการงานอื่นเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลหรือเอาใจคฤหัสถ์ จึงถือได้ว่าทำตัวและประพฤติตนนอกเหนือไปจากคำสอน และสุ่มเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดพระวินัยคือ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ 13 ที่ว่าด้วยข้อห้ามประทุษร้ายสกุล คือ ประจบคฤหัสถ์ ซึ่งมีเนื้อความโดยย่อดังนี้
“พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวัน ใกล้กรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุเลวๆ ที่ชื่อว่าเป็นพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ เป็นภิกษุเจ้าถิ่นอยู่ในชนบท ชื่อว่า กิฏาคีรี เป็นพระอลัชชี ภิกษุเหล่านั้นประพฤติอนาจาร มีประการต่างๆ ทำสิ่งต่างๆ ให้เขาเล่นซนต่างๆ เป็นต้น
มีพระภิกษุรูปหนึ่ง จำพรรษาในแคว้นกาสี ผ่านมาพัก ณ ชนบทนั้น เพื่อจะเดินทางไปกรุงสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุนั้นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ด้วยอาการสำรวม แต่มนุษย์ (ชาวบ้าน) ทั้งหลายไม่ชอบ เพราะไม่แสดงอาการประจบประแจงเหมือนภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะ จึงไม่ถวายอาหาร แต่อุบาสกผู้หนึ่ง (เป็นผู้เข้าใจพระธรรมวินัยถูกต้อง) เห็นเข้า จึงนิมนต์พระภิกษุรูปนั้นไปฉันที่บ้านของตน สั่งความให้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ภิกษุพวกพระอัสสชิ และพระปุนัพพสุกะประพฤติตนไม่สมควรต่างๆ
ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงติเตียนแล้วทรงบัญญัติสิกขาบท มีใจความว่า ภิกษุประทุษร้ายสกุล (ประจบคฤหัสถ์ ทอดตนลงให้เขาใช้) มีความประพฤติเลวทราม เป็นที่รู้เห็นทั่วไป ภิกษุทั้งหลาย พึงว่ากล่าวและขับออกไปจากที่นั่น ถ้าเธอกลับว่าติเตียน ภิกษุทั้งหลาย พึงสวดประกาศ (เป็นการสงฆ์) ให้เธอละ เลิก ถ้าสวดครบ 3 ครั้งยังดื้อดึง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
จากความย่อสิกขาบทที่ 13 แห่งสังฆาทิเสส จะเห็นได้ว่า พระภิกษุทำตัวเหลวแหลก ผิดธรรม ผิดวินัย แต่ชาวบ้านยังนับถือศรัทธา บำรุงด้วยปัจจัย 4 หรือแม้กระทั่งสิ่งฟุ่มเฟือยที่ไม่เหมาะกับเพศภาวะ มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ แม้ในอดีตก็เคยมีมาแล้ว แต่ในยุคนั้นสงฆ์ส่วนใหญ่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงทำให้พระเลวไม่มีที่ยืนในสังคม
แต่ในปัจจุบัน มีพระภิกษุจำนวนไม่น้อยที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดพระวินัยสิกขาบทนี้ แต่ยังมีที่ยืนในสังคมชาวพุทธได้ และบางรายยังได้รับการยอมรับจากผู้คนในสังคมด้วย เฉกเช่น พส. 2 รูปแห่งวัดสร้อยทอง เป็นต้น และที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1. พระภิกษุสามเณรในประเทศมีจำนวนมาก องค์กรปกครองสงฆ์ไม่มีศักยภาพพอที่จะดูแลได้ทั่วถึง
2. ชาวพุทธฝ่ายคฤหัสถ์ในปัจจุบัน มีความรู้ มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยน้อยลง เนื่องจากความเจริญทางวัตถุครอบงำ ทำให้ทุกคนต้องดิ้นเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีเวลาหรือมีเวลาจะศึกษา ค้นคว้าคำสอนของศาสนา และนำมาปฏิบัติ จึงกลายเป็นชาวพุทธตามทะเบียนราษฎร จึงตกเป็นเหยื่อของศรัทธาอาศัยคือ ศรัทธาเพียงเพราะเห็นว่าพระทำประโยชน์ให้แก่สังคม และตนมีส่วนได้ประโยชน์ด้วย โดยไม่ดูว่าสิ่งที่พระทำนั้นเป็นกิจของสงฆ์หรือไม่ และเข้าข่ายละเมิดสิกขาบทที่ว่าด้วยการประจบคฤหัสถ์หรือไม่
3. การรับคนเข้ามาบวช มิได้ยึดถือพระวินัยอย่างเคร่งครัด จึงกลายเป็นช่องว่างช่องโหว่ให้คนเลวเข้ามาอาศัยเพศภาวะของนักบวช แล้วทำมาหากินเยี่ยงคฤหัสถ์