หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
จากกรณีศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ประกันตัว น.ส.เบนจา อะปัญ ผู้ต้องหาคดี 112 แกนนำม็อบ และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ล่าสุด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ ระบุว่า
“ผ่าน 6 ตุลามาไม่กี่วัน ผู้มีอำนาจก็ซ้ำเดิมทำลายอนาคต เพียงเพราะเธอเรียกร้องถึงสังคมที่ดีกว่า เบนจาเป็นวิศวกรอวกาศที่กำลังสร้างชื่อเสียงให้กับไทยในอีกไม่กี่ปี แต่กลับต้องถูกจับเข้าคุก รบ.ต้องหยุดทำลายอนาคตของชาติ ก่อนที่สังคมไทยจะถูกผลักออกไปไกลเกินจุดที่จะเจรจาประนีประนอมกันได้”
น่าสนใจว่า ทำไมธนาธรเป็นมาห่วงใยอนาคตของหนุ่มสาวเหล่านี้ ซึ่งขัดแย้งกับความจริงที่เขาผลักดันให้หนุ่มสาวเดินหน้าทะลุทลวงไปข้างหน้า เพื่อท้าทายข้อห้ามทางกฎหมาย
ถ้าใครฟังเบนจาพูดบนถนนหน้าสำนักงานของชิโนไทยก็จะสดับได้ทันทีว่า คำพูดดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดี ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วตำรวจก็จะมีความผิดเสียเอง
แล้วธนาธรเองไม่ใช่หรือที่ปลูกฝังและบ่มเพาะให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
ความจริงแล้วถ้าธนาธรและคนหนุ่มสาวจะไม่เคารพเทิดทูนศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกันคนไทยส่วนใหญ่ ก็คงไม่มีใครไปกล่าวว่าหรือทำอะไร แต่ไม่ควรที่จะหมิ่นพระเกียรติในสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เขาเคารพและศรัทธา
และตรรกะของธนาธรที่กล่าวอ้างก็ไม่สามารถใช้ได้ ในการอ้างความฝันของเบนจาที่อยากเป็นนักวิศวกรอวกาศมาเป็นข้ออ้างในการทำผิดกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ ไม่เช่นนั้นใครต่อใครก็อ้างความฝันของตัวเอง และกระทำความผิดก็ได้เช่นนั้นหรือ
ธนาธรนั้นมีจุดมุ่งหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ลึกเร้นอยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ธนาธรเป็นนายทุนและให้เงินสนับสนุนนั้น เต็มไปด้วยฝ่ายที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการผลิตสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ลบทั้งแบบตรงไปตรงมาโจ่งแจ้ง และแอบแฝงนัยที่ทิ่มแทงเพื่อบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง
พรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลของธนาธรก็มีความพยายามที่จะบ่อนเซาะสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา แม้สิ่งที่ทำจะมีความชอบธรรมเพราะกระทำอย่างเปิดเผยผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติก็ตาม แต่มันก็สะท้อนว่า ธนาธรและพรรคนั้นมีจุดมุ่งหมายเช่นไรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
แม้การเคลื่อนไหวบนท้องถนนจะมีข้ออ้างว่าเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถตั้งมั่นอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่เราเห็นแล้วว่า การกล่าวถึงและการแสดงออกของคนหนุ่มสาวบนท้องถนนนั้นไม่ใช่ท่าทีและการแสดงออกของคนที่ต้องการปฏิรูป แต่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายล้างและโค่นล้มระบอบเสียมากกว่า ซึ่งแน่นอนไม่มีรัฐไหนที่จะปล่อยให้กระทำได้โดยเสรี
น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า ถ้าธนาธรห่วงใยอนาคตของเด็ก ธนาธรซึ่งอยู่เบื้องหลัง ทำไมไม่แนะนำให้เด็กเหล่านั้นได้รู้จักไตร่ตรองว่าการกระทำดังกล่าวนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นการเสี่ยงที่จะเอาอนาคตเข้ามาแลก ถ้าพวกเขาจะต่อสู้ก็เข้ามาต่อสู้ในระบบ ถ้าวันหนึ่งได้เสียงข้างมากในรัฐสภาแล้วก็ย่อมที่จะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปตามที่ปรารถนา
แต่ไม่ได้บอกนะว่า แม้จะเข้าไปในระบบแล้ว จะสามารถใช้เสียงข้างมากทำอะไรได้ตามอำเภอใจ เพราะมีบทเรียนมาแล้วว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้นอำนาจของประชาชนเป็นใหญ่ แม้จะเข้าไปใช้อำนาจแทนประชาชนก็ต้องใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมและไม่มุ่งหวังที่จะทำลายล้างสัญลักษณ์ของประเทศและความเชื่อถือศรัทธาของคนไทยส่วนใหญ่ด้วย
ไม่ใช่ธนาธรไม่รู้หรอกว่า การกระทำของคนหนุ่มสาวบนท้องถนนที่ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนน้อยลงเรื่อยๆ เหลือเพียงคนไม่กี่ร้อยคนออกมาเคลื่อนไหวนั้น ไม่มีทางชนะอำนาจรัฐได้เลย เพราะการเปลี่ยนแปลงแบบประชาชนปฏิวัตินั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ หรือไม่ก็ต้องยึดอำนาจด้วยปืนแบบที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยพยายามกระทำ จึงจะได้อำนาจรัฐมา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มุ่งหวังได้
น่าคิดเหมือนกันว่าในขณะที่ธนาธรห่วงใยชีวิตของเบนจาที่ใฝ่ฝันว่าจะเป็นวิศวกรอวกาศ ธนาธรห่วงใยคนหนุ่มสาวที่ใช้ความรุนแรงสารพัดทั้งเผาทำลายเพื่อต่อสู้กับอำนาจรัฐที่สมรภูมิดินแดงหรือไม่ เพราะ ปิยบุตร แสงกนกกุล คู่ขาของธนาธรพยายามยุยงให้พวกเขาภูมิใจในสิ่งที่กระทำว่านี่เป็นมวลชนปฏิวัติ
ปิยบุตรยอมรับว่า การชุมนุมของคนหนุ่มสาวบนท้องถนนนั้นเป็นช่วงขาลงแล้ว ก็เลยหันมาเชิดชูมวลชนที่ต่อสู้แบบบ้าบิ่นกับอำนาจรัฐที่แยกดินแดน ที่สายตาของคนทั่วไปเรียกว่าพวกอันธพาลป่วนเมือง
ปิยบุตรบอกว่า นี่คือปรากฏการณ์ในลักษณะ มีแนวโน้มไปสู่การลุกขึ้นสู้แบบปฏิวัติ - soulèvement révolutionnaire
เรามักมองเหตุการณ์ที่ดินแดงว่า เป็นการก่อจลาจลของวัยรุ่นเด็กแว้นคึกคะนอง หรือ riot แต่นั่นคือการมองจากภาพการกระทำภายนอก มองจาก action การปาพลุ ดอกไม้ไฟ การขว้างปาสิ่งของ การขี่มอเตอร์ไซค์เข้าปฏิบัติการ
การก่อจลาจล แบบนี้ อาจมีลักษณะเป็น “การลุกขึ้นสู้” ด้วย
ปิยบุตรบอกว่า กลุ่มคนที่เกิดจิตสำนึกของการต่อสู้กับระบอบอันอยุติธรรม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยใด และไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร แต่จิตสำนึกนี้ได้กระตุ้นให้พวกเขาพร้อมเข้าเสี่ยงสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจกฎหมาย เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่บางครั้งอาจเสี่ยงตาย บาดเจ็บ ยินยอมเข้าเสี่ยง เพราะไม่ต้องการปล่อยให้ความอยุติธรรมนี้ดำรงต่อไป
การแสดงออกของ “ทะลุแก๊ซ” จะเป็นการก่อจลาจลดาดๆ หรือกลายเป็นการลุกขึ้นสู้แบบปฏิวัติ ประเด็นชี้ขาดอยู่ตรงนี้
แน่นอนปิยบุตรจมจ่อมอยู่กับการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติในโซเวียตที่โค่นล้มระบอบกษัตริย์ และมักจะใช้เหตุการณ์ในสองประเทศนั้นมากระทบเทียบระบอบกษัตริย์ของไทย ในทางเปิดเหมือนต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกลายเป็นเพียงสัญลักษณ์และอยู่ใต้อำนาจนักการเมือง แต่ไม่สามารถปิดบังเป้าหมายที่มุ่งหวังมากกว่านั้นได้
เมื่อไม่กี่วันก่อนปิยบุตรโพสต์ด้วยการตั้งคำถามว่า [เริ่มจากคำถาม “…มีไว้ทำไม?] แน่นอนความหมายที่ซ่อนเร้นของปิยบุตร...สิ่งนั้นก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์
เนื้อหาที่ปิยบุตรโพสต์มีดังนี้
“การกระทำที่มีลักษณะ “ปฏิวัติ” ประกอบไปด้วยสองสิ่งในตัวเดียวกัน
ด้านหนึ่ง คือ การรื้อถอนทำลายสิ่งที่เป็นอยู่
อีกด้านหนึ่ง คือ การสร้างสิ่งใหม่แทนที่
“รื้อ” และ “สร้าง” เสมือนเป็นเหรียญสองด้านของการปฏิวัติ
จุดเริ่มต้นที่ยากในการจินตนาการไปถึง คือ จะรื้อถอนหรือไม่? จะรื้อถอนอย่างไร?
เมื่อเริ่มต้น เราจะพบกับข้อจำกัดในการจินตนาการของมนุษย์ มันจะเป็นไปได้จริงหรือ? เราอยู่กับสิ่งนี้มาตลอด แล้ววันหนึ่งเราไม่มีสิ่งนี้ จะเป็นไปได้หรือ?
ในระบบคิดของมนุษย์ที่ปลูกฝังกันมาผ่านระบบการศึกษา อุดมการณ์ โฆษณา วัฒนธรรม ตลาด ค่านิยม ประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ฯลฯ ทำให้มนุษย์ไม่เคยคิด ไม่คิด ไม่อยากที่จะคิด ไม่คิดว่าเป็นไปได้ ว่า สิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่นั้น จะไม่ดำรงอยู่อีกต่อไปได้อย่างไร?
Le comité invisible เน้นย้ำเรื่องการเมืองของการรื้อถอนไว้ในหนังสือ Maintenant (2017) ว่า การรื้อถอน ไม่ใช่การเริ่มโจมตี ทำลายล้าง สิ่งนั้น สถาบันนั้น ให้สิ้นซากไป แต่มันคือการโจมตีเหตุผลความจำเป็นของการมีสิ่งนั้น สถาบันนั้น
การศึกษา กองทัพ ตำรวจ ศาล ระบบกฎหมาย รัฐสภา ระบอบการปกครอง รัฐ ทุน กรรมสิทธิ์ ศาสนา การเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบผู้แทน รัฐธรรมนูญ ทุกสถาบัน ทุกสิ่ง
หากเราต้องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ ต้องเริ่มจากจินตนาการ ไปให้พ้นจากข้อจำกัดทางจินตนาการที่ครอบงำเราไว้
ตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้ในแบบที่เป็นอยู่นี้ มีไว้ทำไม รับใช้อะไร มีรูปแบบอื่นหรือไม่ ยังจำเป็นต้องมีอีกต่อไปหรือไม่
ในนัยนี้ คำถามว่า “… มีไว้ทำไม?” ต่อทุกสิ่ง คือ คำถามแห่งการเปิดประตูปฏิวัติ”
การแสดงออกของปิยบุตรนั้นชัดเจนว่า เขาต้องการ”ปฏิวัติ”ไม่ใช่”ปฏิรูป”ซึ่งสอดคล้องกับการแสดงออกคนหนุ่มสาวบนท้องถนนที่พวกเขาสนับสนุนราวกับพวกกาเหว่าในนิยายของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
วันนี้ทั้งธนาธรและปิยบุตรเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่า แรงปรารถนาภายในของพวกเขามีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยแบบถอนรากถอนโคน