ตอนนี้มีข้อถกเถียงว่า สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดเมื่อใด
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 บัญญัติว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง
ข้อถกเถียงกันคือ 8 ปีที่ว่านับจากตอนไหน
บางคนบอกว่า ต้องนับจากการเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถ้าอย่างนั้นจะครบ 8 ปีในสิงหาคมปีหน้า 2565
เหตุผลเพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
นั่นคือ การเป็นนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์ตั้งแต่ปี 2557 ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงต้องนับ 1 ตั้งแต่ปี 2557
บางคนบอกว่า ให้นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้คือเมษายน 2560 นับแบบนี้ หากครั้งหน้าได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกจะเป็นนายกฯ ได้ถึงปี 2568
บางคนบอกว่า ให้เริ่มนับตั้งแต่วันเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 คือมิถุนายน 2562 ถ้าสมัยนี้อยู่จนครบวาระในปี 2566 จะเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้าได้อีก 1 สมัยคืออีก 4 ปี คือถึงปี 2570 หรืออาจเลยจากนั้นเล็กน้อยเพราะไม่นับช่วงรักษาการต่อจากนั้นในระหว่างรอการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่
สรุปก็คือ 1. นับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อสิงหาคม 2557 2. นับตามรัฐธรรมนูญ 2560 เดือนเมษายน 2560 3. นับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ครั้งแรก คือ มิถุนายน 2562
แต่ถ้าถามผมแม้ว่าผมจะไม่ใช่นักกฎหมาย แต่อ่านกฎหมายและทำความเข้าใจแล้ว ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้แค่เดือนสิงหาคม ปี 2565 และถูกต้องแล้วที่พรรคพลังประชารัฐจะต้องหาตัวนายกรัฐมนตรีสำรองไว้
ทำไมผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงเดือนสิงหาคม 2565 อันดับแรกคือ ต้องไปดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ทำไมผู้ร่างจึงกำหนดให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 8 ปี
คุณคำนูณ สิทธิสมาน ไปค้นคว้ามาระบุว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บันทึกไว้ในหนังสือ “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หน้า 275 อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ตอนหนึ่งว่า...
“การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”
ดังนั้นชัดเจนว่า เป้าหมายคือ ไม่ต้องการให้มีการผูกขาดทางการเมือง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่สามารถอยู่เกิน 8 ปีได้ จะบอกว่า 5 ปีก่อนนั้นของพล.อ.ประยุทธ์บวกกับอีก 3 ปีจากการเลือกตั้ง ไม่เข้านิยามของ “การผูกอำนาจทางการเมือง” หาได้ไม่
ดังนั้นแม้แต่นายชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัยรวมกันแล้วเกือบ 6 ปี ก็ต้องนับต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือทักษิณ ชินวัตร ถ้าสามารถล้างมลทินหรือยกเลิกข้อห้ามทางกฎหมายกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ต้องนับต่อเนื่องจากที่เคยเป็นมา
ส่วนที่มีการอ้างหลักกฎหมายว่า จะย้อนหลังเป็นโทษต่อพล.อ.ประยุทธ์มาใช้ไม่ได้ ผมคิดว่า ถ้าจะย้อนหลังเป็นโทษควรจะเป็นลักษณะความผิดทางอาญา แต่การเขียนกำหนดวาระของนายกรัฐมนตรีไว้ไม่เกิน 8 ปี เป็นกฎหมายมหาชน เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของมหาชนซึ่งน่าจะใหญ่กว่าการตีความว่า กฎหมายนี้เป็นโทษโดยเฉพาะกับบุคคลใด แต่บทบัญญัติดังกล่าวถือเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกับ “มหาชน”
ที่สำคัญก็คือ การที่รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 กำหนดไว้นั่นแหละว่า รัฐบาลที่เป็นมาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้นั้นให้เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย นั่นก็คือ การเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2557 ก็เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นกัน
แต่หากรัฐธรรมนูญ 2560 จะยกเว้นไม่บังคับใช้มาตราไหนก็จะเขียนไว้อย่างใน มาตรา 264 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ สําหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดําเนินการตามมาตรา 184 (1)
จะเห็นว่า จะยกเว้นลักษณะต้องห้ามด้านไหนในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 จะเขียนไว้ชัด และถ้าจะไม่บังคับใช้มาตรา 158 วรรค 4 คือ ห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเขียนยกเว้นไว้ในวรรค 2 ของมาตรา 264 เช่นเดียวกับลักษณะต้องห้ามด้านอื่น
นอกจากนั้นเคยมีกรณีคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ยกเว้นคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ต้องเขียนยกเว้นเอาไว้ในกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามทุจริต จำได้ว่า ตอนนั้นยังถกเถียงกันว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายลูกจะไปเขียนให้ยกเว้นคุณสมบัติในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ได้อย่างไร แต่ศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นก็บอกว่าทำได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนฉงนอย่างมาก
หลักที่ผมยกมาก็เพื่อจะอธิบายว่า ถ้าจะยกเว้นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีบทบัญญัติที่เขียนไว้ยกเว้นโดยเฉพาะ
ดังนั้นเมื่อพยายามใช้เหตุและผลในการตีความกฎหมายเห็นว่าเมื่อครบ 8 ปีแล้วก็ต้องพ้นตำแหน่ง แต่ที่ฟังแล้วรู้สึกไม่ดีก็คือ มีการพูดกันว่า เรื่องนี้จะตีความออกมาทางไหนก็ได้ นี่ต่างหากที่เป็นปัญหา แน่นอนถ้าผลลัพธ์เป็น 4 เราอาจจะบอกว่า 3 บวก 1 หรือ 2 บวก 2 ก็ได้ แต่อันนี้ไม่ใช่ การบอกว่าจะตีความทางไหนก็ได้ก็เหมือนกับบอกว่า 2 บวก 2 จะเท่ากับ 4 หรือเท่ากับ 5 หรือเท่ากับ 6 ก็ได้ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกแน่ เพราะคำตอบที่ถูกต้อง ต้องมีคำตอบเดียว
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงนี้ ในเดือนสิงหาคม ปี 2565 เมื่อครบ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกัน จะต้องมีคนร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่ๆ
แน่นอนศาลรัฐธรรมนูญคือ องค์กรเดียวที่จะชี้ขาดเรื่องนี้ได้ และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร ขัดหรือค้านสายตาของสาธารณชนหรือไม่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยนั้นก็เป็นอันสิ้นสุดและผูกพันทุกองค์กร
มีคนพูดเหมือนกันว่า ทำไมคนร่างรัฐธรรมนูญถึงไม่เขียนออกมาให้ชัด ทำให้มีปัญหาทีหลัง ผมว่าเขาเขียนไว้ชัดแล้ว และอะไรที่ยกเว้นไม่นำมาบังคับใช้เขาก็เขียนเอาไว้แล้ว และโดยสามัญสำนึกแล้วเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็ต้องป้องกัน“ประโยชน์ของมหาชน” ในการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี จะยกเว้นว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีที่เกิดก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีก็คงจะพิลึกดี และมาตรา 264 ก็เขียนไว้ชัดแล้วรัฐบาลก่อนหน้านี้เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ดังนั้น ในความเห็นผม บรรดากองเชียร์ที่เอาการเมืองไปผูกไว้กับพล.อ.ประยุทธ์เพียงคนเดียวก็ให้ทำใจได้เลย
ผมคิดของผมอย่างนี้ เป็นอีกหนึ่งความคิดที่มีความเห็นหลากหลายออกเป็น 3 ทางอย่างที่ว่ามา แต่ไม่มีใครกล้าบอกหรอกว่า ความเห็นของตัวเองถูกก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยลงมา เช่นเดียวกัน ความเห็นของผมอาจจะไม่ถูกก็คงต้องรอดูต่อไป
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan