สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังดูไม่สดใสหลังจากการคลายตัวในการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โอกาสที่เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วยังเป็นไปได้ยาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งมีความเสี่ยงจากหลายปัญหา
นั่นเป็นคำเตือนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ หลังจากประเมินสถานการณ์โดยรวม และมองว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่น่าเป็นที่พอใจ โดยปัจจัยหลักคือปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่ยังรุนแรง
ไอเอ็มเอฟได้ลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จำนวน 1 เปอร์เซ็นต์เหลือเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นการลดอย่างมากในกลุ่มประเทศจี 7 อันเป็นผลจากการประเมินความเป็นไปได้ในศักยภาพของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก
การลดอัตราการขยายตัวเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตในระบบห่วงโซ่อุปทาน Supply Chain ทั่วโลก รวมทั้งการบริโภคยังไม่มีพลังแข็งแกร่งในไตรมาส 3 อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกนานกว่า 1 ปี
การปรับตัวเลขสืบเนื่องจากการที่โกลด์แมน แซคส์ ได้ลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีนี้และปีหน้า โดยชี้ให้เห็นถึงอำนาจการซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ รวมทั้งการลดลงของโครงการความช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล
ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนัก รัฐบาลทั่วโลกได้ออกมาตรการช่วยเหลือองค์กรภาคธุรกิจและประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวเพราะไม่สามารถอยู่รอดได้เพราะขาดสภาพคล่องและสภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้น
โกลด์แมน แซคส์ยังปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกให้อยู่ในระดับ 5.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2021 นั่นหมายถึงการปรับลด 0.1 เปอร์เซ็นต์จากการประเมินช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนภาพที่คาดไว้สำหรับปี 2022 ยังไม่เปลี่ยนแปลง
ไอเอ็มเอฟยังมองว่าความเสี่ยงต่างด้านเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
“การระบาดอย่างรวดเร็วสำหรับเชื้อเดลตาและสายพันธุ์ใหม่ ได้สร้างความไม่แน่นอนว่าเราจะสามารถเอาชนะการระบาดของโรคนี้อย่างรวดเร็วได้หรือไม่” ไอเอ็มเอฟชี้แจง “รัฐบาลต่างๆ ประสบความลำบากในการกำหนดทิศทางนโยบาย”
นอกจากนั้นยังมีความท้าทายของวิกฤตในมิติซึ่งมีความหลากหลาย การจ้างงานที่ยังเติบโตในอัตราไม่รวดเร็วเพียงพอ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ความไม่มั่นคงในด้านอาหาร ความอ่อนล้าในการสะสมทุนทั้งเงินและทรัพยากรมนุษย์
ปัญหาเรื่องสภาวะแปรปรวนของอากาศ ปัญหาโลกร้อนก็เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งวิกฤตที่ว่ามาข้างต้นทำให้มีขอบเขตจำกัดในการจัดการแก้ไขปัญหาให้บรรลุผลได้เร็ว
ไอเอ็มเอฟยังได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ญี่ปุ่น และเยอรมนีสำหรับปี 2021 ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก โดยปัญหาของเยอรมนีคือการขาดแคลนวัตถุดิบต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม
ส่วนญี่ปุ่นนั้นประสบปัญหาเกี่ยวโยงกับการจัดการและควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการเร่งด่วนต่างๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายนยังไม่ได้ผลเพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจของจีนจะขยายตัว 8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2021 ซึ่งต่ำกว่าการประเมินเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคม อันเป็นผลมาจากการลดการใช้จ่ายในภาครัฐ และที่สำคัญยังคาดการณ์วิกฤตภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ปัจจัยหลักที่สร้างความกังวลอย่างมากคือการผิดนัดชำระหนี้ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางอย่างน้อย 4 แห่งได้ผิดนัดการชำระ ทั้งหนี้ดอกเบี้ยและการไถ่ถอนคืนพันธบัตร หุ้นกู้มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์
ไอเอ็มเอฟมองว่าวิกฤตภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีน จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดการเงิน และธุรกิจโดยรวม รวมทั้งสถาบันการเงินเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งก็ถูกมองว่ารัฐบาลจีนจะดำเนินการอย่างไรเพื่อลดทอนความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
ปัญหาของบริษัท Evergrande ซึ่งผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นกำลังส่งผลต่อเนื่อง อีก 3 บริษัทกำลังประสบสภาวะอย่างเดียวกัน ความพยายามที่จะขายทรัพย์สินเพื่อระดมเงินทุนเพื่อกอบกู้ฟื้นฟูสภาพคล่อง ยังไม่ประสบผลสำเร็จ
ไอเอ็มเอฟมองว่าโดยภาพรวม ดุลของความเสี่ยงในสภาวะเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในด้านที่ต่ำลง อันเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าอุปโภคที่เพิ่มขึ้น และความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน หลังจากการระบาดของโควิด-19
การกระจุกตัวในระบบห่วงโซ่อุปทาน Supply Chain ได้สร้างปัญหาความขาดแคลนของสินค้าประเภทต่างๆ อัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภคสูงขึ้น และสภาวะสินค้าราคาแพงจะยังคงอยู่จนถึงปีหน้า
นั่นเป็นผลที่จะทำให้ธนาคารกลางในแต่ละประเทศต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นในเวลาเร็วกว่าเดิม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงจนยากต่อการควบคุม
ธุรกิจภาคบริการต่างๆ และการค้าปลีกอาจยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้ในยุโรปซึ่งมีปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกหลายแสนคน การกระจุกตัวของท่าเรือและคอนเทนเนอร์ราคาสูง
ประเทศกำลังพัฒนามีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การฉีดวัคซีนล่าช้า ทำให้กำลังการซื้อในตลาดไม่เพียงพอ ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพเพราะความยืดเยื้อในการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องทุกภาคเศรษฐกิจ
สรุปโดยรวม ภาพรวมเศรษฐกิจสำหรับปีนี้และปีหน้ายังดูไม่สดใสนัก