xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อมโยงระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวคิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: รศ.ดร.ชูเกียรติ ชัยบุญศรี, ปพณสรร เอกพันธ์, ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์

รศ. ดร. ชูเกียรติ ชัยบุญศรี
หัวหน้าศูนย์ วิจัยเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณร่วมสมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Website: https://mqerc.econ.cmu.ac.th/index.php,
ปพณสรร เอกพันธ์
นักวิจัย ประจำศูนย์ วิจัยเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณร่วมสมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และ
ศ. ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หัวหน้าโครงการสร้างพลเมืองสร้างสรรค์ (Active Citizen) และผู้นำเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง (Prime Mover) ในบริบทการจัดการคุณภาพอากาศสำหรับประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Email: pongpiajun@gmail.com


จากบทความเดิมในตอนที่แล้ว [1] ซึ่งได้ทราบเกี่ยวกับปัญหาหลายอย่างล้วนอาจเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ซึ่งปัญหาหลายอย่างนี้เอง ก็กลับมาส่งผลเสียต่อโลก และต่อความเป็นอยู่ต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์อาจเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม อาจสนใจในเรื่องของเศรษฐกิจ กำไร ค้าขาย ทรัพย์สินต่าง ๆ ปากท้อง หรือความสะดวกสบาย ความเป็นอยู่ โดยไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียด ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ทำ จะส่งผลตามมาอย่างไรและจะมีผลรุนแรงมากน้อยเพียงใดต่อสังคมโดยรวม หรือต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งจากประวัติลัทธิเศรษฐกิจ [2] ช่วงปี คริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 18 มีลัทธิหนึ่งเกิดขึ้นคือ ลัทธิพาณิชนิยม ซึ่งลัทธิพาณิชนิยมเป็นลัทธิ ที่ มุ่งเน้นในเรื่องของการค้าขายนำหน้าการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นแต่เงินทองและทรัพย์สินของประเทศอย่างเดียว และยังไม่สนใจในเรื่องของความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งลัทธิดังกล่าวนี้ล่มสลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 และต่อมาเกิดลัทธิหนึ่งขึ้นคือ ลัทธิธรรมชาตินิยมซึ่ง เกิดขึ้นหลังจากยุคพาณิชนิยมล่มสลาย ลัทธินี้ เป็นลัทธิที่มุ่งเน้นในเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม ที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักการของลัทธิธรรมชาตินิยมคือ Natural Order หรือ กฎธรรมชาติ ซึ่งเป็นกฎที่กำหนดว่ามนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม หรือชุมชนอย่างมีระบบ เหมือนกับระบบธรรมชาติ ที่ต้องประกอบไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นระบบ ลัทธิธรรมชาตินิยมนี้ไม่ยอมให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างตามอำเภอใจ แต่ต้องอยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ และเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบจึงจะสามารถทำให้สังคมและเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ถ้าเมื่อไหร่ก็ตาม สังคมเศรษฐกิจไม่สามารถเคลื่อนไปตามที่ธรรมชาติกำหนด ก็จะเกิดปัญหาสังคมและเศรษฐกิจตามมาในที่สุด เช่น เหตุการณ์เกิดน้ำท่วมใหญ่ [3] ในปี ค.ศ.1931 หรือในปี พ.ศ.2474 ทางตอนกลางของประเทศจีน เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งย้อนกลับไปกว่า 90 ปี ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรง และใหญ่ที่สุด

รูปที่ 1 :  โรคระบาดทุก 100 ปี (อ้างอิงรูปภาพ: https://mgronline.com/infographic/detail/9630000008721)
ในประวัติศาสตร์โลก เท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ น้ำท่วมทางตอนกลางของประเทศจีน น้ำท่วมตลิ่งแม่น้ำสามสายหลัก ทั้งแม่น้ำหวงเหอ แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำหลานชาง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมีระยะนานกว่า 5 เดือน มีคนเสียชีวิตประมาณ 2.5 – 3.7 ล้านคน ได้รับการบันทึกว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 อีกด้วย และยังมีการเกิดการระบาดของโรคระบาดหนักในรอบ ทุก 100 ปี ในช่วงปีค.ศ. 1720 ได้เกิดโรคระบาดกาฬโรค สร้างความเสียหายโดยมีผู้คนที่เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้ถึง 100,000 คน และในปีค.ศ 1820 เกิดโรคระบาดอหิวาตกโรค สร้างความเสียหายโดยมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจำนวน 100,000 คน และในปีค.ศ 1920 มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจำนวน 50,000,000 คน และในปัจจุบันปลายปี ค.ศ.2019 – 2021 โลกของเราได้เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าขึ้น ปัจจุบันมีผู้คนที่เสียชีวิตจากโรคระบาดนี้ประมาณ 4.55 ล้านคนโดยประมาณ และมีผู้ติดเชื้อรวมทั้งโลกอยู่ 219 ล้านคน โรคระบาดนี้เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากมนุษย์ไม่สนใจด้วยสิ่งแวดล้อม ด้านความสะอาด ด้านความเป็นอยู่กันระหว่างสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์ มนุษย์พยายามทำลายสิ่งแวดล้อมจากแนวคิดที่จะทำการค้าขายเอากำไรเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกทำลายลงไปทุกวัน ดังนั้นลัทธิธรรมชาตินิยม จึงส่งเสริมให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปตามธรรมชาติ ตามที่ ๆ ควรจะเป็น ซึ่งจะแตกแตกต่างกับ ลัทธิพาณิชนิยมที่มุ่งเน้นแต่การค้าขายแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่สนใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประชาชนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งจากข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางสังคมในประเทศไทย ในปี ค.ศ.2021 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จะปรับตัวดีขึ้นบ้างแต่ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง หรือ สินทรัพย์ที่คนแต่ละกลุ่มถือครอง (เช่น เงินฝากธนาคาร หุ้น ที่ดิน) เป็นปัญหาที่รุนแรงมากในไทย Credit Suisse global book data ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ และคนรวยที่สุดของประเทศถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท ต่างกันถึง 2500 เท่ากับค่าเฉลี่ยของคนกลุ่มที่จนสุด 20% แรกของประเทศ [4]

รูปที่: 2 ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่นคั่งและความมั่งคั่งเฉลี่ยคนจนและคนรวย (อ้างอิงรูปภาพ: Credit Suisse global wealth data book)


ซึ่งจากความเหลื่อมล้ำนี้ ชี้ให้เห็นได้ชัดถึงเรื่องของเน้นการค้าขายนำหน้าการพัฒนา นำหน้าการบริหารจัดการประเทศ พบว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของการเข้าถึงหรือการใช้ทรัพยากรของผู้คนในสังคม คนที่มีฐานะดีหรือคนที่มีตำแหน่งชนชั้นในสังคมในระดับสูง มีความสามารถเข้าถึงการใช้ทรัพยากรจำนวนมากได้ ส่วนคนที่มีโอกาสน้อยหรือคนที่อาจจะไม่มีฐานะในสังคม ก็ต้องใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด หรืออาจจะไม่สามารถใช้ทรัพยากรใด ๆ ได้เลย ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันนั้น อาจจะขึ้นอยู่กับ ต้นทุน ของแต่ละคนที่มีแตกต่างกันออกไป เช่นรายได้ หรือวุฒิการศึกษา หรือฐานะต่างๆ ฉะนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกันนโยบายต่าง ๆ ควรจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ผู้คนในสังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ฉะนั้นถึงเวลาแล้ว ที่ประเทศไทยจะต้องกลับมาให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเน้นประเด็น ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากร อย่างยั่งยืนโดยไม่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำอย่างไรที่จะพัฒนาอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้สามารถมีเพียงพอสำหรับคนรุ่นหลังของประเทศต่อไป

ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ก็คือ การใช้หลักการ BCG [5] หรือ ย่อมาจาก ‘Bio-Circular-Green’ Economy หรือการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ซึ่งจะต้องมุ่งหน้าสู่โจทย์ใหม่ของการสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ซึ่งทำได้ด้วยการนำความรู้ หรือการนำองค์ความรู้จากท้องถิ่น มาเสริมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ของการผลิตนี้ พร้อมกับที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตรที่มีแต่เดิมเช่นพืชผล (ที่ไม่มีการเพิ่มมูลค่า) มีราคาผันผวนอยู่เสมอและสร้างรายได้น้อย และ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ซึ่งจะเข้ามาช่วยแก้ไขวงจรปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร หรือการผลิตแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งก่อขยะมหาศาล โดยเศรษฐกิจหมุนเวียนจะให้ความสำคัญกับ ‘การจัดการขยะ’ ภายหลังจากการบริโภคแล้วและ มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์’ (Zero Waste) ให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากที่สุดและคุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่การผลิต การออกแบบที่ให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การใช้วัสดุทางเลือก ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) หรือก็คือรูปแบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในการยกระดับในเรื่องของสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความเท่าเทียมในสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่สูญเปล่า เช่น การใช้พลังงานสะอาดเพื่อควบคุมระบบก่อมลพิษซึ่งเป็นการดำเนินเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น การดำเนินเศรษฐกิจอย่างไรให้มีการลดคาร์บอนฟรุตปริ้น หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ที่ทำลายชั้นบรรยากาศ ซึ่งหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือกำลังพัฒนากำลังให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งหลักการ BCG หรือ Bio-Circular-Green’ Economy ควรยกระดับในทุกเรื่องไม่ว่าจะภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมการผลิต และในทุก ๆ ภาคส่วน

- ซึ่งในภาคการเกษตรควรจะมีการจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่ดี จากเศษวัตถุดิบที่เหลือใช้จากการเกษตร หรือ Co-Product จากการเกษตรต่างๆสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างไรต่อได้บ้าง โดยไม่นำไปเผา ซึ่งส่งให้เกิดผลกระทบในเรื่องของปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
- และในภาคการท่องเที่ยว ควรจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่เน้นในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่จูงใจให้นักท่องเที่ยวอาจจะเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ มากกว่าที่จะเที่ยวในเมืองเพียงอย่างเดียว โดยปลูกฝั่งเยาวชนคนรุ่นหลังให้ตระหนักและอนุรักษ์ธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในอนาคตข้างหน้า
- และภาคอุตสาหกรรมการผลิต ควรจะส่งเสริมในเรื่องของพลังงานสะอาดที่จะเข้ามามีส่วนในเรื่องของฐานการผลิตมากขึ้น เพื่อลดการคาร์บอนฟรุตปริ้นจากกระบวนการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรม

ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปประกาศว่าจะดําเนินการตามนโยบาย "Fit for 55" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 55% ภายในปีค.ศ. 2030 และประเทศจีนได้เร่งระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจสีเขียวโดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2060 ในขณะที่ไต้หวันเกาหลีใต้และญี่ปุ่นกําลังวางแผนที่จะบรรลุเป้าหมายที่คล้ายกันภายในปีค.ศ. 2050 ในส่วนของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปีค.ศ. 2030 จากระดับ 2005 ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) [6]

ซึ่งเห็นได้ว่าในหลาย ๆ ประเทศก็เริ่มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว หรือตามแนวหลักการของ BCG

รูปที่ 3 Measures to Drive Thailand’s BCG Economy Zอ้างอิงรูปภาพ:สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  National Science and Technology Development Agency : NSTDA.)
จากบทความของ Carolina Alves ได้มีการกล่าวถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบความเสียหายต่อมนุษย์ที่เกิดจากธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรมากเกินไป การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความไม่สมดุลในสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นเหนือระดับธรรมชาติ ส่งผลให้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้มีการพูดถึงอย่างแพร่หลายในการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และมีการพูดถึงอย่างมากขึ้น เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้โลกร้อนขึ้นทั่วโลกซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยเชื่อมโยงกับโรคระบาดต่าง ๆ ในพื้นที่เขตร้อนที่สามารถแพร่ระบาดไปยังอีกพื้นที่หนึ่งได้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและทำให้โรคต่าง ๆ สามารถแพร่กระจายข้ามพรหมแดนได้เมื่อภูมิอากาศเขตร้อนขยายตัวขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคมาลาเลีย หรือไวรัสซิกา อาจจะกลายเป็นภัยคุกคามในสถานที่ใหม่ๆได้” และในปี 2021 รางวัลโนเบลในด้านสาขาฟิสิกส์ ยังเป็นหัวข้อเรื่องของ Climate Change ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาเรื่องของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงยังเป็นปัญหาที่สำคัญที่คนทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหาหรือช่วยกันบรรเทาไม่ให้ปัญหานี้ทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญในปัจจุบันคือเราจะดำเนินชีวิตอย่างไรที่จะสามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติโดยที่จะไม่ทำลาย หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่คิด ซึ่งมนุษย์กับธรรมชาติไม่สามารถที่จะแยกกันได้ ซึ่งวันนี้ คนรุ่นปัจจุบันนี้ ต้องกลับมามองที่ตัวเรา เริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา ในการเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นใหม่ ปลูกฝั่งในเรื่องของการใช้ทรัพยากร การดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งการที่จะปลูกฝังและพัฒนาคนรุ่นใหม่ได้ คนรุ่นปัจจุบันเองก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ถ้าวันนี้คนรุ่นปัจจุบัน ยังคิดถึงผลประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว โดยไม่คิดถึงลูกหลานในอนาคตข้างหน้าทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็จะมีปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างแน่นอน มากกว่านั้น ปัญหานี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อไปในอนาคต Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG คือคำตอบในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาสังคม และพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

โดยมีเป้าหมายสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ดังนั้นคนรุ่นปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดต้องเข้ามาผลักดันในเรื่องนี้มากขึ้น

อ้างอิง :
[1] ความเชื่อมโยงระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวคิดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน (ตอนที่ 1) (mgronline.com)
[2] ชูเกียรติ ชัยบุญศรี (2010), เอกสารประกอบการสอน วิชาประวัติลัทธิเศรษฐกิจ (History of Economic Thought) : ๗๕๑๒๐๒ , คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
[3] https://travel.mthai.com/world-travel/142493.html
[4] https://thaipublica.org/2021/04/kkp-research27/
[5] SDG Updates | เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564 - SDG Move
[6] https://www.bangkokpost.com/business/2175423/applying-a-bio-circular-green-economy-in-response-to-global-challenges
[7] Alves, C. (2021). Preventing new diseases by tackling Climate Change. Academia Letters, Article
2338. https://doi.org/10.20935/AL2338.


กำลังโหลดความคิดเห็น