“A Wise man Changes his Way as Circumstances Change a Knowledgeable Person alters his means as Times Evolve” จากหนังสือ Xi Jinping the Governance of China ซึ่งแปลโดยใจความว่า คนฉลาดเปลี่ยนเส้นทาง เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน บัณฑิตเปลี่ยนวิธีการทำงาน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป
โดยนัยแห่งคำพูดข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้นำจีนนับตั้งแต่เติ้ง เสี่ยวผิง มาจนถึงปัจจุบันภายใต้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ (Reform and Opening Up) โดยเฉพาะ Xi Jinping ได้นำเอาความคิดของประชาชนจีนโบราณมาปรับใช้กับการบริหารประเทศในยุคปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน และด้วยการทำเช่นนี้เอง ทำให้ประเทศจีนมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมควบคู่ไปกับวัฒนธรรมและจริยธรรม ซึ่งสืบทอดมาจากอดีต ภายใต้การปกครองระบอบสังคมนิยม อัตลักษณ์พิเศษแบบจีน (Socialism With Chinese Characteristics)
ประเทศไทยถึงแม้จะเป็นประเทศเล็ก มีเนื้อที่และประชากรน้อยกว่าจีน แต่ถ้าย้อนไปดูความเป็นมาของชนชาติไทย ก็จะพบว่า ชนชาติไทยเป็นชาติที่เก่าแก่ และมีอัตลักษณ์พิเศษของตนเอง จะเห็นได้จากการมีวัฒนธรรมและประเพณีของตนเองเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยมีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ทั้งนี้จะเห็นได้จากความเหมือน และความต่างดังต่อไปนี้
1. พุทธศาสนาในประเทศไทย
ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 70 กว่าล้านคน และส่วนใหญ่นับถือพุทธ ส่วนว่าจะเป็นพุทธเพียงในทะเบียนราษฎร์หรือพุทธแบบเคร่งครัดมากน้อยเพียงใดนั้น ไม่มีตัวเลขแน่ชัด แต่ถ้าอนุมานจากคนเข้าวัดทำบุญ โดยเฉพาะจากวัดป่าซึ่งพระภิกษุฝ่ายปฏิบัติหรือที่เรียกว่า อรัญวาสี ก็มีจำนวนไม่น้อย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
พุทธศาสนาในประเทศไทย เป็นนิกายเถรวาทหรือหินยาน มีแนวทางปฏิบัติโดยยึดพระวินัยอย่างเคร่งครัด
ดังนั้น สังฆมณฑลในประเทศไทย จึงมีระเบียบแบบแผนในการปกครองโดยยึดพระวินัยเป็นหลัก และมี พ.ร.บ.ปกครองสงฆ์เป็นมาตรการเสริมพระวินัย เพื่อให้สังฆมณฑลเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
แต่ถึงกระนั้น ในปัจจุบันก็ยังมีพระภิกษุสามเณรประพฤติตนนอกลู่นอกทางให้เห็นบ่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในภาพรวม ก็ยังถือได้อยู่ในเกณฑ์ที่พุทธบริษัทยอมรับได้นี้ ก็มีพระภิกษุสามเณรส่วนหนึ่งประพฤติตนนอกลู่นอกทาง ล่วงละเมิดพระวินัย ทำให้ผู้พบเห็นที่เคร่งครัดในศาสนาเสื่อมศรัทธา และปล่อยไว้โดยไม่แก้ไข สักวันหนึ่งข้างหน้าประเทศไทยจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้
2. สถาบันพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ผูกพันกับพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากการที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นพุทธมามกะ และตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 10 ประการ
3. วัฒนธรรมและประเพณีสำคัญๆ ของชาติ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย ก็จะต้องยึดโยงกับหลักคำสอนของพุทธศาสนา และพระจริยวัตรของพระมหากษัตริย์ โดยการนำแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกมาประยุกต์กับประเพณี วัฒนธรรมของไทย ซึ่งมีรากเหง้ามาจากพุทธศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นรูปแบบการปกครองของไทย ในทำนองเดียวกับที่ประเทศจีนนำหลักการปกครองของมาร์กซิสต์มาประยุกต์กับวัฒนธรรม ประเพณี และแนวทางการปกครองของจีนโบราณ ภายใต้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ (Reform and Opening Up) จนกลายเป็นรูปแบบการปกครองสังคมนิยม อัตลักษณ์พิเศษแบบจีน (Socialism With Chinese Characteristics) และที่ผู้นำจีนทำได้เช่นนี้ ก็ด้วยยึดหลักคนฉลาดต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนนั่นเอง