xs
xsm
sm
md
lg

หรือกรุงศรีอยุธยาจะสิ้นคนดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



คำพังเพย “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” นั้นหมายถึงเมื่อบ้านเมืองถึงคราวยากลำบากก็จะมีคนดีมากอบกู้ให้รอดพ้นไปได้ แล้วตอนนี้ประเทศไทยสิ้นคนดีแล้วเช่นนั้นหรือ เพราะนิด้าโพลสำรวจมาแล้วหลายครั้งก็พบว่า คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นคนที่เหมาะสมจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

การสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า อันดับ 1 มีคนถึงร้อยละ 32.61 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 2 ร้อยละ 17.54 ระบุว่า เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 3 ร้อยละ 11.15 ระบุว่า เป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อันดับ 4 ร้อยละ 11.05 ระบุว่า เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับ 5 ร้อยละ 9.07 ระบุว่า เป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส

แม้เรารับรู้กันว่าขณะนี้คนไทยแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย ซึ่งแน่นอนต้องเลือกฝ่ายที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่กลุ่มที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันก็ต้องเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ปรากฏว่ายังมีคนถึง 32.61 คนที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกใครดี ไม่เลือกทั้งสองฝ่าย ไม่เอาบุคคลที่ปรากฏอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน เมื่อดูตัวเลขแล้วแสดงว่าคนกลุ่มนี้ต่างหากที่จะตัดสินว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

จะเห็นว่าอันดับ 3-5 อยู่ในขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกัน แต่เมื่อรวมกันแล้วก็ยังน้อยกว่าฝ่ายที่ยังไม่เลือกใครอยู่

การที่คนส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 32.61 ยังไม่รู้จะเลือกใครมากถึงขนาดนี้นั่นแสดงว่า ตัวละครในการเมืองไทยที่เล่นกันอยู่ในขณะนี้ คนในสังคมยังไม่เห็นเลยว่าใครจะเหมาะที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และตัวละครในทางการเมืองนอกเหนือจากที่กล่าวมาคนอื่นที่มีรายชื่อในการสำรวจก็ยังต่ำมาก

จะบอกว่าคนร้อยละ 32.61 กลุ่มนี้ไม่สนใจการเมืองก็ไม่ใช่ เพราะคนที่ไม่สนใจมีอยู่แล้วในผลสำรวจของนิด้าคือ คนที่ไม่ตอบและไม่สนใจเลยมีร้อยละ 7.48 นั่นเป็นการสะท้อนหรือไม่ว่ากรุงศรีอยุธยากำลังจะสิ้นคนดีแล้ว

และการที่พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ขณะนี้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ แต่มีคนพอใจเพียงร้อยละ 17.54 เท่านั้นซึ่งถือว่าต่ำมาก และหมายความว่าเสียงในสภาฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนนั้นไม่ใช่เสียงสะท้อนที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่

ถ้าผมเป็นพล.อ.ประยุทธ์คงต้องเก็บไปขบคิดนะว่า บริหารบ้านเมืองอย่างไรที่ทำให้คนพอใจตัวเองได้เพียงเท่านี้

นี่พอจะเป็นสัญญาณได้ใช่ไหมว่าคนจำนวนมากเริ่มที่จะเบื่อพล.อ.ประยุทธ์แล้ว และเป็นสัญญาณว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อก็ไม่ง่ายเสียแล้ว แม้คนที่ยังคลั่งไคล้พล.อ.ประยุทธ์อยู่อาจจะเถียง แต่ก็ลองหันกลับไปดูความจริงไปสดับเสียงในสังคมไปดูคนรอบข้างเถอะว่า ทำไมเสียงขานรับจึงลดน้อยลงทุกวัน นอกจากคนเบื่อแล้วก็ยังมีกับดักที่คนเขาถามถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี

ซึ่งแน่นอนว่ากำลังเป็นข้อถกเถียงและนำไปสู่การตีความแน่ๆ ว่า 8 ปีของพล.อ.ประยุทธ์นับจากตรงไหน จากวันที่เป็นนายกฯ ครั้งแรก หรือจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ หรือจากที่เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งในปี 2562

แล้วถ้าบอกว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นอีกสมัยได้แถมยังมี 250 ส.ว.อยู่ในมือที่พร้อมจะโหวตให้ แปลว่าจะอยู่ยาวไปอีกรวมเป็น 13 ปี ถามว่าจะเป็นไปได้ไหม ขนาดตอนนี้คนก็เริ่มเบื่อแล้ว บ้านเมืองก็ลุกเป็นไฟจากความขัดแย้งรุนแรงขึ้นทุกวัน สงครามระหว่างคนต่างรุ่นไม่ได้อยู่ที่ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่กำลังลุกลามไปถึงตัวระบอบ

แต่ถ้าถามว่ามีใครที่เหมาะสม มองทั้งไทยพิภพแล้วก็บอกว่า ยังมองไม่เห็นเลยว่า ใครที่มีความเหมาะสมถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาตัวเลือกที่มีอยู่ตอนนี้ เราจะเชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องมีใครสักคน เพราะกรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี แล้วคำถามว่าใครล่ะที่จะเข้ามาจุดประกายหวังให้กับสังคมไทยให้ประชาชนส่วนใหญ่มั่นใจว่าคนคนนั้นจะนำพาบ้านเมืองไปรอดกว่าคนที่มีชื่ออยู่ตอนนี้

จริงอยู่คนไทยอาจจะมีคนเก่งคนดีอยู่อีกมาก แต่หนทางไหนล่ะที่จะพาคนเก่งคนดีเข้าสู่การเมืองเพื่อให้เป็นตัวเลือกของประชาชนได้ ถ้าไม่พึ่งพากลุ่มก๊วน ส.ส.และพรรคการเมือง แล้ว ส.ส.และพรรคการเมืองเหล่านั้นไหนล่ะจะยอมเปิดทางให้คนดีคนเก่งเข้ามาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคที่ตัวเองสังกัด เพราะคนที่มีอยู่นี้ก็ล้วนแล้วแต่คิดว่าตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีได้ทั้งนั้น

แม้ว่าในอดีตเราอาจมีตัวอย่างมาแล้วว่า คนที่คร่ำหวอดอยู่ในการเมืองขณะนี้อาจจะจับพลัดจับผลูอาจจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีก็ได้ เหมือนอดีตที่ไม่มีใครเชื่อว่าบรรหาร ศิลปอาชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่เมื่อได้เป็นแล้วก็นับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีคนหนึ่งเหนือความคาดหมาย แต่นั่นก็เป็นเรื่องของโชคชะตามากกว่า

แต่มาคิดอีกทีการที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นว่าใครที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ คนเหล่านี้ไม่เลือกนักการเมืองฟากไหนที่เป็นตัวละครอยู่ตอนนี้เลย มันพอจะตอบได้ไหมล่ะว่า เขามองถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพราะไม่ว่าจะเลือกฝั่งไหนความขัดแย้งก็ไม่ยุติ พวกเขาเลยต้องการคนที่จะเข้ามาดับวิกฤตของบ้านเมืองได้

พอมองอย่างนี้โจทย์มันก็ยิ่งจะยากไปใหญ่เพราะนอกจากต้องเป็นคนดีคนเก่งแล้ว ต้องเป็นคนที่ขั้วการเมืองทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ถามว่าวันนี้มันมีไหมคนที่เชื่อว่าเป็นคนกลางๆ ที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ บางทีงมเข็มในมหาสมุทรก็อาจจะง่ายกว่าเสียอีก

หรือว่าเราต้องอยู่ในวังวนความขัดแย้งนี้ไปอีก เพราะเมื่อมีตัวให้เลือกแค่นี้สุดท้ายคนร้อยละ 32.61 ที่บอกว่ายังไม่รู้จะเลือกใครดีเมื่อเข้าไปคูหาก็ต้องเลือกตัวละครตัวหนึ่งที่มีให้เลือกอยู่ดี ไม่ว่าฝ่ายไหนชนะฝ่ายไหนแพ้ สุดท้ายฝ่ายที่แพ้ก็จะต้องลงถนนออกมาขับไล่วิกฤตและความขัดแย้งก็จะเวียนวนอยู่ไม่รู้จบ

อย่างที่ว่าไว้ว่าความขัดแย้งเริ่มมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตัวบุคคลแต่เป็นเรื่องที่ลงลึกไปถึงระบอบการเมือง สู้ระหว่างความศรัทธาและไม่ศรัทธาที่พร้อมจะบานปลายกลายเป็นโศกนาฏกรรมเลือดนองแผ่นดินอีกครั้ง

มีทางออกไหนหรือมีใครที่จะเป็นสะพานเชื่อมใจคนสองฝั่งความคิด มีทางออกไหนที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งที่เราแบ่งฝ่ายต่อสู้ฟาดฟันกันมายาวนานสองทศวรรษแล้ว

อาจมีคนเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาหรือประเทศไทยนี้คงไม่สิ้นคนดีแน่ ยังมีคนเก่งมีความสามารถอีกเยอะ แต่ในโลกความจริงทางการเมืองนั้นหนทางที่จะเปิดให้คนเหล่านี้เข้ามานั้นไม่ได้ง่าย

ไม่เชื่อลองเอ่ยชื่อมาสักคนสิครับ แล้วช่วยบอกด้วยว่าคนที่เอ่ยชื่อมานั้นจะเข้าสู่การเมืองอย่างไร นอกจากยากแล้วยังไม่มีทางที่จะได้คนในความหมายที่ทุกฝ่ายยอมรับได้เลย

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น