บ้านเมืองได้อะไรหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557สภาพโดยทั่วไปด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นหรือเลวลงโดยภาพรวม แนวโน้มจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร?
ข้ออ้างการรัฐประหารคือนักการเมืองเลวร้าย ใช้อำนาจในทางมิชอบ มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชัน แทรกแซงการทำงานของข้าราชการ เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เป็นข้อกล่าวหาที่ใช้เป็นมาตรฐานทุกครั้งที่ใช้กองทัพยึดอำนาจ ทำมาแล้วเกือบ 20 ครั้ง
จึงเป็นความจริงที่ว่า ถ้าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ดีต่อบ้านเมือง ทำครั้งเดียวก็น่าจะเพียงพอ ทุกครั้งตามมาด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจเผด็จการ ทั้งเปิดเผยและแฝงเร้น ประชาชนเดือดร้อนถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์
มีปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบ ไม่ต่างจากนักการเมืองที่ถูกอ้างทำรัฐประหาร
การรัฐประหารทั้งสองครั้งล่าสุด กระทำโดยนายทหารเครือข่ายกลุ่มเดียวกัน สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2549 แม้การเมืองจะอยู่ในอำนาจของนักการเมือง แต่คนในกองทัพยังคุมเชิง ตั้งหลักรอหาจังหวะช่วงชิงอำนาจ เหมือนคนรอตกปลาในบ่อน้ำขุ่น
ที่น่าขบขันหรือน่าสมเพชเวทนาก็สุดแล้วแต่ เหยื่อของการรัฐประหารทั้งสองครั้งเป็นพี่น้องกัน ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดนคดีทุจริต คอร์รัปชันด้วยกัน ถูกสอบสวนดำเนินในศาล ถูกพิพากษาจำคุกทั้งคู่ และสามารถหลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศด้วยกัน
และยังเป็นปัญหาทุกวันนี้ ทหารกุมอำนาจไร้ความสามารถจัดการให้เสร็จสิ้น
พรรคการเมืองที่สองพี่น้องเป็นผู้นำโดยพฤตินัยหรือเพียงในนามถูกศาลสั่งยุบ และตั้งขึ้นมาใหม่ มีนักการเมืองกลุ่มเดียวกัน ภายหลักแตกเหล่าไปกระจายอยู่ในพรรคอื่นซึ่งเป็นทั้งเครือข่ายเดียวกัน ทั้งในรูปแบบดังแล้วแยกวง หรือเลี่ยงจากความเสื่อมไปเริ่มใหม่
นายทหารผู้กระทำรัฐประหารสืบทอดอำนาจต่อเนื่องในรูปแบบของรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นทายาทวงจรอำนาจ สร้างเครือข่ายแน่นหนานับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ใช้อำนาจรัฐประหารนาน 5 ปี จากนั้นสืบต่อด้วยการเมืองแบบเลือกตั้ง
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีรัฐบาลขิงแก่เข้ามาขัดตาทัพเพียง 1 ปี โดยไม่มีการปฏิรูป จากนั้นจัดการเลือกตั้งใหม่ พรรคที่ชนะคือกลุ่มการเมืองของ 2 พี่น้อง อยู่ในอำนาจจนเกิดวิกฤตทางการเมือง มีชุมนุมประท้วง สุดท้ายโดนศาลสั่งให้พ้นอำนาจ
การเมือง เศรษฐกิจ สังคมอยู่ในสภาวะตกต่ำ นับตั้งแต่ปี 2551-2557 จนเกิดการรัฐประหาร และคณะทหารเครือข่ายเดียวกันกุมอำนาจอย่างมั่นคง มีนักการเมืองเป็นฐานเสียงในสภาฯ อยู่มาจนทุกวันนี้ ท่ามกลางวิกฤตสารพัด บ้านเมืองอยู่ในสภาวะล้าหลัง
ผ่านมา 15 ปี มีอะไรดีขึ้น มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า เครือข่ายคมนาคม ถนนตัดใหม่บ้าง แต่เทียบกับเวลาที่ผ่านไป งบประมาณที่ใช้ไป ถือว่าไม่คุ้มค่า ซ้ำร้าย การทุจริตคอร์รัปชันยังเฟื่องฟูเหมือนเดิม อัตราเงินใต้โต๊ะ สินบน อยู่ระดับ 40 เปอร์เซ็นต์หรือกว่า
การเมืองย่ำเท้าอยู่กับที่ นั่นเท่ากับว่าเป็นการไม่พัฒนา นักการเมืองส่วนใหญ่ยังหน้าเดิมหลังจากปี 2549 ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน รับใช้ทหารนอกราชการที่กุมอำนาจการเมืองแบบไม่ยอมปล่อย ไม่มีสัญญาณของการปฏิรูป
มีแต่คำมั่นสัญญาลมๆ แล้งๆ ไร้ท่าทีว่าจะเร่งปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ระบบนิติรัฐ นิติธรรม กระบวนการยุติธรรมถูกมองว่ามี 2 มาตรฐาน ไม่น่าเชื่อถือ คดีอาญาต่างๆ มีเงื่อนงำน่าสงสัย ระบบเส้นสายในเครือข่ายกระบวนการทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ศรัทธา ผู้กุมอำนาจรัฐไม่ตั้งใจแก้ไขปัญหาในคดีฉาวโฉ่
ความทุกข์ยากของประชาชน อยู่ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีการประเมินว่าสถานการณ์เลวร้ายเป็นวงกว้าง ลงระดับลึกกว่าวิกฤตเศรษฐกิจหลังการลดค่าเงินบาทในปี 2540 ซึ่งนำไปสู่การปิดตัวของสถาบันการเงิน ภาคชนบทไม่มีผลกระทบมากนัก
ปัจจุบันถือว่าเป็นความตกต่ำด้านเศรษฐกิจ ที่อยู่ในสภาพซบเซา ตายซากเรื้อรัง หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ประชาชนขาดอำนาจการซื้อ ขาดรายได้เพราะตกงาน มีหนี้สินเรื้อรัง มองไม่เห็นอนาคต เศรษฐกิจอยู่ในติดลบ
หนี้สาธารณะแตะเพดานการก่อหนี้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จำเป็นต้องก่อหนี้ใหม่โดยการยกระดับเพดานหนี้ งบประมาณขาดดุลต่อเนื่องหลายปี ต้องกู้หนี้ระหว่าง 4-5 แสนล้านบาท ไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลจะสามารถบริหารงบประมาณให้สมดุลได้
การลงทุนถดถอย มีผลกระทบอย่างแรงในภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งต่อเนื่องมาจากสถานการณ์ทั่วโลก การไร้ความสามารถของผู้กุมอำนาจ การขาดหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส การทุจริต ส่งผลกระทบด้านแรงจูงใจในภาคการลงทุน
การศึกษาขาดการปฏิรูป ประเทศเริ่มมีปัญหาศักยภาพด้านการแข่งขัน แรงงานและทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาที่จะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ นโยบายพึ่งพาตนเอง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเพียงแต่ลมปาก การสร้างภาพของผู้กุมอำนาจรัฐ
ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมระบอบเศรษฐกิจที่ซบเซาให้เลวร้ายลง ธุรกิจต่างๆ ประสบวิกฤต มีจำนวนมากต้องปิดตัวเพราะไม่สามารถหาเงินมาให้อยู่รอดได้ สถาบันการเงินไม่กล้าเสี่ยงปล่อยกู้เพราะเกรงหนี้เสียจะเพิ่มขึ้น ต้องตั้งกองทุนสำรอง
สภาวะด้านศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม มีปัญหา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี จิตสำนึกในสังคมเมือง และการเมืองตกต่ำ นักการเมืองไม่สำนึกในหน้าที่ ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน มุ่งแต่รับใช้กลุ่มกุมอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
โดยรวม ตราบใดที่ผู้กุมอำนาจคณะปัจจุบันยังอยู่ ประเทศไทยเสี่ยงต่อสภาวะตกต่ำล้าหลัง ตามไม่ทันโลก ประชาชนยาลำบาก เป็นรัฐล้มเหลว มองไม่เห็นอนาคต